จรัญ มะลูลีม : ปฏิบัติการล้อมโลกด้วยความรุนแรงของ IS (จบ)

จรัญ มะลูลีม

ประเทศไทย

แม้ว่า IS ยังมาไม่ถึงประเทศไทย แต่เดือนเราะมะฎอนปีนี้มีเหตุการณ์ความรุนแรงแทรกมาเป็นระยะๆ คล้ายคลึงกับที่ IS กระทำการอยู่โดยเฉพาะ 10 วัน สุดท้ายซึ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายจุดของสามจังหวัดภาคใต้ อย่างไรก็ตาม พอถึงฮารีรายอ ความสงบก็มาเยือนอีกครั้ง

สำหรับผู้คนโดยทั่วไป ฮารี รายอ อีดิลฟิตรี่หรืออีดปอซอเป็นวันแห่งความสุขวันแห่งการให้อภัยกัน หลังจากพี่น้องมุสลิมได้ถือศีลอดตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณจนถึงพระอาทิตย์ตกมาตั้งแต่วันที่ 6 เดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม

ก่อนฮารีรอยอ จะมาถึงร้านรวงในสามจังหวัดภาคใต้มีความคึกคักคลาคล่ำไปด้วยผู้คนโดยเฉพาะในเวลาก่อนละศีลอดที่มีร้านหรือแผงขายของคาวหวานตั้งอยู่เรียงรายตามท้องถนน หลังละศีลอดตามมัสญิดก็เปิดไฟอะร้าอร่าม คนจำนวนมากเดินทางมาละหมาดร่วมกันและมีละหมาดเพิ่มเติมจากการละหมาดประจำเรียกว่าละหมาดตะรอวีห์

มัสญิดจึงเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมทุกคน 10 คืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนถือเป็นคืนที่มีความสำคัญด้วยคาดหมายกันว่าจะเป็นการมาถึงของค่ำคืนลัยละตุลกอดร์ อันเป็นค่ำคืนแห่งการอำนวยพรจากพระเจ้า ซึ่งค่ำคืนลัยละตุลกอดร์จะมาถึงในคืนใดคืนหนึ่งของเดือนเราะมะฎอน

การเดินทางไปมัสญิดก็เปี่ยมด้วยผลบุญ การถือศีลอดก็เป็นการทำตามบัญชาใช้ของพระเจ้า เป็นการงดพลังทางร่างกายเพื่อเพิ่มพลังทางจิตวิญญาณ

อย่างไรก็ตาม เราะมะฎอนปีนี้เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้น แม้ว่าบางเหตุการณ์จะเกิดอยู่เป็นประจำอยู่แล้วก็ตาม อันเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเสียชีวิตพร้อมๆ ไปกับประชาชนซึ่งถูกลูกหลงขณะเดินทางไปละหมาดในยามค่ำ สำหรับมุสลิมเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ประตูนรกปิด ประตูสวรรค์เปิด

ที่สำคัญก็คือเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถูกสอนให้เข้าใจผู้ที่ตกอยู่ในความสูญเสียและให้ทำความดีให้มากที่สุด แม้ว่าความดีเป็นสิ่งที่ควรจะทำตลอดเวลาอยู่แล้วก็ตาม

ปัญหาที่น่าสนใจในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือวิธีการตีความถึงความสำคัญของเดือนเราะมะฎอนของคู่ขัดแย้งที่ต่างกันในส่วนต่างๆ ของโลก สำหรับนักรบพลเรือนติดอาวุธ หรือนักต่อสู้ในสงครามจรยุทธ์ได้ถือเอาเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการต่อสู้เพื่อความชอบธรรม เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม

ผู้ที่ต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากแอกของความกดขี่จึงเลือกเอาเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการปลดปล่อย สงครามใหญ่ๆ ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในบางช่วงนั้นเริ่มต้นที่เดือนเราะมะฎอนและอิสราเอลก็ถือเอาวันสำคัญทางศาสนาทำสงครามกับชาวอาหรับเช่นกัน อย่างเช่น สงครามยมคิปปูร์ เป็นต้น

สำหรับสามจังหวัดภาคใต้ก่อนเดือนเราะมะฎอนจะสิ้นสุดความรุนแรงได้เกิดขึ้นครบทั้งสามจังหวัดหนักบ้างเบาบ้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม

ในบางกรณีรถไฟที่มาจากหลายทิศทางในภาคใต้เดินทางสู่เป้าหมายไม่ได้ เพราะรางรถไฟถูกระเบิด จำเป็นต้องเอารถยนต์ไปขนผู้คนที่หวังจะมาฉลองฮารีรอยอกลับบ้าน อย่างที่เกิดที่สถานีรถไฟบาลอ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ช่วงรอยต่อกับอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

แม้ว่าหลังฮารีรอยอแล้ว ผู้คนที่มุ่งหวังจะเดินทางกลับมาทำงานในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟก็ต้องไปเอาเงินค่าตั๋วคืนเพราะการซ่อมรางรถไฟยังไม่เสร็จ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความยากลำบากทางการเงิน จึงอาศัยเดินทางมาทางรถไฟที่มีราคาถูกกว่า

สำหรับพวกเขาฮารีรายอปีนี้เป็นฮารีรอยอที่แสนเศร้า การเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขกลายเป็นวันที่ทำให้พวกเขาต้องพบกับอุปสรรคทั้งไปและกลับ

สําหรับฝ่ายบริหาร สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือวิธีการในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

การทำงานร่วมกันกับผู้นำศาสนา การใช้แนวคิดกัมปงตักวาหรือหมู่บ้านแห่งความศรัทธานั้น แม้ว่าจะได้ผลอยู่บ้าง แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่รัฐยังเข้าไปไม่ถึง คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่สร้างผลสะเทือนอย่างมาก

แม้ว่าการสนับสนุนให้การเจรจาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลอย่างน้อยสองรัฐบาลก็ทำให้การเจรจาต้องพบกับความชะงักงัน

กระนั้นการเจรจาจะได้รับความสำเร็จถ้านักการศาสนาสามารถดึงเปอร์ญูอัน หรือจูแว ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านรัฐมาคุยด้วยโดยอาศัยคนในพื้นที่ที่มีความสามารถในการดึงเอาคนเหล่านี้มาอยู่ในกระบวนการเจรจา

รวมทั้งนำเสนอการตีความหลักการศาสนาอย่างถูกต้องเพราะอย่างน้อยนักการศาสนาก็ได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักการศาสนาที่เป็นคนพื้นที่และเป็นชาวมลายูมุสลิม

แม้ว่าพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้จะเต็มไปด้วยสารพัดความรุนแรง กระนั้นก็ตามพอถึงฮารีรายอ ความรุนแรงก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น หลายมัสญิดเชิญชวนผู้คนให้มาละหมาดกันกลางแจ้ง เช่น ที่สนามกีฬาหน้าที่ว่าการอำเภอ หรือท้องทุ่งที่มีขนาดใหญ่

คอฏีบ ซึ่งกล่าวคุฏบะฮ์ (เทศนา) จะได้รับการคัดเลือกมาจากผู้ที่สามารถเทศนาจนผู้คนต้องหลั่งน้ำตาให้ ในบางมัสญิดผู้เทศนาได้กล่าวถึงการทำความดีต่อบิดา มารดา ครู อาจารย์และสังคม

ขณะฟังคุฏบะฮ์ ซึ่งสั่นสะเทือนอารมณ์และความรู้สึกนั้นมีเสียงสะอื้นดังอยู่เป็นพักๆ หลายคนระลึกถึงลูกหลานที่จากไปอันเนื่องมาจากความไม่สงบในพื้นที่

หลายคนระลึกถึงหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วกว่าทศวรรษที่ทำให้ลูกสาวของพวกเขากลายเป็นหม้าย

โดยบางส่วนต้องไปอาศัยอยู่ในลอตันบาตู จังหวัดนราธิวาส อันเป็นบ้านของผู้ที่สูญเสียสามีไปกับความรุนแรง

ขณะฟังเทศนาหลายคนย้อนรำลึกไปถึงวันเวลาดีๆ ที่หมู่บ้านมีความสงบ ไม่ต้องกลายเป็นจำเลยของการตรวจค้นยานพาหนะที่ตั้งอยู่ดารดาษ และต้องคอยเปิดกระจก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูหน้าตาและสภาพรถ

ด่านที่ตั้งอยู่เรียงรายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะมีขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่อิสรภาพของผู้คนที่ต้องถูกตรวจตราทุกครั้งเป็นภาพที่ผู้คนคุ้นชินและรอให้สภาพแบบนี้จบลง หากว่าภาคใต้มีความสงบขึ้น ซึ่งอาจมาจากการเจรจาก็ได้ถ้าการเจรจามีความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับคนภาคใต้ด่านตรวจทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ แม้จะมีคำขออภัยถึงความไม่สะดวกของประชาชนอยู่เกือบทุกด่านก็ตาม แต่มันก็ไม่ต่างไปจากด่านที่สะพานอัลลันบี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอล ซึ่งกว่าชาวปาเลสไตน์เจ้าของประเทศจะผ่านด่านตรวจอิสราเอลเข้าไปดื่มกาแฟสักแก้วก็ต้องรอเป็นชั่วโมงผ่านการค้นตัวจากเจ้าหน้าที่หนุ่มสาวอิสราเอลผู้เข้ายึดครองดินแดนของพวกเขาอย่างไม่รู้จักจบสิ้นทำให้ขาดความสำราญในชีวิต

สำหรับคนในสามจังหวัดภาคใต้การตรวจค้นอาจใช้เวลาไม่น่านเท่าด่านตรวจของอิสราเอล แต่อิสรภาพของการเดินทางที่พวกเขาควรจะมีเสียทีก็ยังอยู่อีกห่างไกล

รายอปีนี้ชาวบ้านที่มีอาชีพตัดยางไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่เหมือนเดิมเพราะยางยังมีราคาตกต่ำ คนไปประกอบพิธีฮัจญ์น้อยลงเพราะรายได้น้อย

หลายคนรอคอยสามจังหวัดภาคใต้ที่อุดมสมบูรณ์ ภาคใต้ที่มีความสงบและปลอดภัยได้คืนกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าการรอคอยนี้จะเป็นความฝันที่แสนจะยาวไกลก็ตาม

แต่ก็ยังเป็นความหวังที่ยังอยู่ในความคิดคำนึงของผู้คนที่นี่อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย