E-DUANG : บทบาท”สื่อออนไลน์”ในการวิเคราะห์ เปิดโปง

ถามว่า ข่าวและรายละเอียดการขาดประชุมอย่างซ้ำซากและต่อเนื่องของ 7 สนช.ที่มี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นตัวชูโรง มา จากไหน
สำหรับแฟนานุแฟน”สื่อกระดาษ” อาจตอบว่า อ่านจาก”หนัง สือพิมพ์”
แต่ในความเป็นจริง “ต้นตอ”แท้จริงมาจาก “ออนไลน์”
แม้แต่ละสำนักหนังสือพิมพ์จะมี “ผู้สื่อข่าว”ประจำรัฐสภาอยู่อย่างน้อย 1 คนทุกสำนักงาน
แต่ข่าวนี้ไม่ได้มาจาก “ผู้สื่อข่าว”ประจำรัฐสภา
หากแต่เป็นรายงานและการวิเคราะห์ขององค์กรภาคประชาชนที่ชื่อว่า
โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ILaw
โครงการนี้มี นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นที่ปรึกษาร่วมกับนักกฎหมายรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง
ILaw นี่แหละที่ “ทำหน้าที่”ในเรื่องนี้

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เริ่มต้นจากสมมติฐานและข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ.2557 ที่ว่า
สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน
จากนั้นเขาก็ลงมือสำรวจโดยเลือกรอบระยะเวลา 2 รอบ(180 วัน)ของปี 2559
ค้นหาจำนวนการแสดงตนเพื่อลงมติของสนช. 8 คน
ว่ามารายงานตัวเพื่อลงมติเกินกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดหรือไม่
พบว่าอย่างน้อย 7 คนมาลงมติไม่เกินกว่า 1 ใน 3
ทั้ง 7 คนนั้นประกอบด้วย 1 พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 2 นาย สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 3 นายดิสทัต โหตระกิตย์ 4 นายสุพันธ์ มงคลสุธี
5 พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 6 พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง 7 พล.ร.อ.ณะ อารีกิจ
จาก”เว็บไซต์”ของ ILaw จึงได้มาเป็น”ข่าว”

นี่จึงเป็นอีกตัวอย่าง 1 ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นบทบาทของออนไลน์หรือ”สื่อกระจก”
หากเห็นถึงกระบวนการทำงานของ “สื่อ”
ทั้งๆที่สื่อหนังสือพิมพ์มี “นักข่าว”ประจำรัฐสภาอยู่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาอย่างยาว ถามว่าเหตุใดข่าวในลักษณะนี้จึงมิได้เป็นการเริ่มต้นของสื่ออย่างที่เรียกว่า
เป็น “กระแสหลัก”
ตรงกันข้าม การเจาะลึกกลับมาจาก”โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” หรือ ILaw
ทั้งๆที่มิได้เป็น “สื่อหลัก” หรือ “มืออาชีพ”
จึงเท่ากับเป็นเงาสะท้อนให้เห็นว่า สื่ออันเป็นกระแส”หลัก”ได้ตกอยู่ในสภาพถูกตีกรอบและสร้างความมีนชาอย่างต่อเนื่องจนแทบมิได้ให้ความสนใจต่อบทบาทของ “สมาชิกรัฐสภา”
อาจเพราะเห็นว่าเป็นพวก”ลากตั้ง” มิได้มาจากกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”