‘องค์กรแห่งอนาคต’ จะเกิดได้ต้องเริ่มจากคนในที่ให้เกียรติและให้ค่า “ความคิดสร้างสรรค์” +”ความล้มเหลว”

“ยกมือขึ้น”

“ใครอยากจะทำอะไรใหม่ๆ บ้างครับ”

วิทยากรหนุ่มถามผู้เข้ามารับฟังการบรรยาย

ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่

ได้ข่าวว่า กำลังอยากจะทำอะไรใหม่ๆ ให้บริษัท

มือขวายกกันขึ้นมาให้พรึ่บพรั่บ

“ดีครับ ดีครับ” วิทยากรหนุ่มชื่นชม

และถามต่อ

“แล้วใครในที่นี้คิดว่าความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญกับการทำอะไรใหม่ๆ บ้างครับ”

พรึ่บ พรึ่บ เหมือนเดิม

พนักงานรุ่นใหม่ รุ่นเก่า ยกมือ หน้ายิ้ม

ฉันเห็นด้วย ความคิดสร้างสรรค์นี่แหละ

ทางรอดของเรา

วิทยากรหนุ่มเห็นดังนั้นจึงได้ที

ถามต่ออีกสักครั้ง

“แล้วในที่นี้ มีใครคิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์บ้างครับ ยกมือหน่อย”

มือที่เคยยกค้างกันไว้หลายร้อย

ตอนนี้กลับเหลือไม่ถึงสิบ

แถมแขนน้อยๆ ที่ยกขึ้นมานั้น

กำลังจะอ่อนแรง วางมือกลับเข้าข้างร่างกาย

พร้อมด้วยแววตาเลิ่กลั่ก ไม่มั่นใจในความคิดของตน

สายตาเพื่อนๆ ในห้องจ้องมองไปยังผู้คนเหล่านั้น

ชื่นชมน่ะหรือ

เปล่าเลย..

นัยน์ตา เป็นการส่งสัญญาณประหลาดใจให้แก่เพื่อนรัก ที่กล้าหาญ

บอกว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์

สัญญาณสายตา บอกเอาโดยนัย เป็นภาษามนุษย์ว่า

“แกเนี่ยนะ”

หลายองค์กรในประเทศไทยตอนนี้

ถ้าจะให้พูดถึงการสร้าง “นวัตกรรม” แล้วละก็

เรียกได้ว่าเป็นหัวข้อที่มีคนพูดถึงได้มาก เอาเรื่องอยู่

ตั้งแต่ประชุมระดับผู้บริหารระดับสูง

ตามไปจนถึงระดับกลาง และชั้นผู้น้อย

คำพูดเท่ๆ ที่มีไว้พูดให้ติดปาก ก็จะประมาณว่า

“เราต้องเคลื่อนที่รวดเร็วนะ”

“รู้มั้ย ยุคนี้ ปลาเร็วกินปลาช้านะ ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”

“กล้าทำ ล้มเหลวให้ไวสิ

Fail fast, fail cheap”

อะไรประมาณนี้ ที่มีไว้

เป็นยันต์คุ้มครอง ให้องค์กรของท่านๆ

สร้างสรรค์นวัตกรรม

หากแต่ว่า “ความล้มเหลว ที่อยากให้พนักงานเริ่มมีนั้น”

เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก

ทุกครั้งที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายด้าน “นวัตกรรมในองค์กร”

ผมก็มักจะเริ่มต้นการบรรยายด้วยกิจกรรมง่ายๆ

ให้คนที่ไม่รู้จักกัน มาจับคู่กัน

ในมือมีกระดาษหนึ่งใบ ดินสอหนึ่งแท่ง

มองหน้าเพื่อนสักนิด

ให้เวลาหนึ่งนาทีเท่านั้น

วาดหน้าเพื่อนของเราลงบนกระดาษที่จัดไว้ให้

วาดเสร็จวางปากกา

ยื่นให้เพื่อนด้วยความภาคภูมิใจในผลงานของเรา

รู้สึกยังงั้นรึเปล่าครับ ท่านๆ ทั้งหลาย

พอมาพูดคุยหลังกิจกรรมก็พบว่า

เวลาบอกให้วาดหน้าเพื่อน

ท่านๆ ก็จะรู้สึกเขินอายกันเหลือเกิน

หัวเราะกลบเกลื่อนความห่วยแตกด้านการวาดรูปของตัวเอง

ว่าแล้ว พอให้ลงมือวาด แทนที่จะวาดกันเงียบๆ

ก็จะมีเสียงลอยข้ามอากาศมาอยู่เสมอ

“ขอโทษนะ”

“ไม่ได้วาดมาเป็นสิบปีละนะ”

อ้าว..ขอโทษไว้ก่อน

อ้างไว้ก่อนเลย

“ฉันไม่ได้ทำมานานนะ..ห่วย อย่าว่าฉันนะ อะไรประมาณนี้”

พอบอกว่า หมดเวลาการวาดรูป

ก็จะได้ยินเสียงถอนหายใจยาวๆ

แสดงถึงความโล่งอก จบเสียที

ตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะดังลั่น เวลาให้ยื่นให้เพื่อน

เขินอายกันเป็นแถบ

ก็เพราะความกังวลในแบบผู้ใหญ่

“เราอยากดูดีในสายตาคนอื่นเสมอ”

ขนาดวาดรูปเรายังไม่กล้าภูมิใจในผลงานของเรา

ยังไม่รู้สึกอยากจะ “ล้มเหลว” ต่อหน้าเพื่อนของเรา

แล้วไอ้กิจกรรม “นวัตกรรม” ที่อาจจะมีความจำเป็นมาก

ที่จะต้องล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก

ล้มซ้ำซาก น่าอับอายไปทั้งองค์กร ให้คนเขาติฉินนินทา

ท่านๆ จะรับไหวหรือ

แตกต่างกับ “เด็กๆ” ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงสุด

วัย 5 ขวบ ถ้าลองให้ได้วาดหน้าเพื่อน

รับรอง สนุกสนานกันเป็นแถว

ไม่มีเขินอาย ฉันอยากวาดให้เธอ

วาดเสร็จ ยื่นให้ด้วยความภาคภูมิใจ

นี่ไงล่ะ หน้าของแก ฉันให้ เอาไปเลย ไม่ต้องเกรงใจ

นี่สิ คนมีความคิดสร้างสรรค์ เขาต้องไม่กังวลที่จะดูดีต่อหน้าคนอื่นเสมอ

ความล้มเหลวที่พูดกันมากๆ ในเชิงนวัตกรรม

ก็เริ่มต้นจาก..การทำอะไรที่เราไม่ถนัดต่อหน้าคนอื่นนี่แหละ

องค์กรแห่งอนาคต

องค์กรแห่งนวัตกรรม

จะเกิดได้

เริ่มจากคนข้างใน

ที่ให้เกียรติ และให้ค่า

กับ “ความคิดสร้างสรรค์”

บวกกับ “ความล้มเหลว” นั่นเอง