วิรัตน์ แสงทองคำ : โรงเรียนจากอังกฤษ (2) : ชนชั้นนำ และผู้ทรงอิทธิพลในสังคมไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ชนชั้นนำ และผู้ทรงอิทธิพลในสังคมไทย มีความสัมพันธ์กับระบบการศึกษาของอังกฤษ อย่างต่อเนื่องยาวนาน

เริ่มต้นเมื่อกว่าศวรรษที่แล้วในยุคอาณานิคม เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ถือเป็นเวลาใกล้เคียงกับพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรปครั้งแรก โดยเฉพาะการศึกษาในระดับต้น (มัธยมศึกษา) ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างเป็นระบบ ว่าด้วยสังคมไทยกับการศึกษาหาความรู้จากต่างประเทศ กลายเป็นวงจรที่น่าสนใจ จากราชวงศ์ ข้าราชบริพาร ต่อมาได้ขยายสู่ชนชั้นนำอื่นๆ รวมทั้งแวดวงธุรกิจ

การเรียนรู้วิทยาการของระบบอาณานิคม เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเค้าโครงความคิดทางยุทธศาสตร์ของชนชั้นนำไทย ในการเรียนรู้ฝรั่ง เพื่อต่อสู้และประนีประนอมกับฝรั่งในระดับใดระดับหนึ่ง

รัชกาลที่ 5 ส่งพระราชโอรส 4 พระองศ์แรก เรียนหนังสือในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ เพื่อเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา (ปี 2428) หลังจากริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (ปี 2425) ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับภัยคุกคามของระบบอาณานิคม โดยเฉพาะมาจากอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเริ่มขยายอิทธิพลเข้าครอบงำกิจการป่าไม้ของไทย ทั้งสัมปทานป่าไม้ โรงเลื่อย และการส่งออกไปต่างประเทศ

พระราชโอรสชุดแรก 4 พระองค์ เริ่มต้นไปศึกษาขั้นพื้นฐานที่ Harrow School (หนึ่งในโรงเรียนที่มาเปิดสาขานอกประเทศแห่งแรกที่เมืองไทย ดังที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว) ในปี 2428 ประกอบด้วย พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาท) พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ก่อนจะเข้าศึกษาขั้นสูง จนถึงในราวปี 2440 ได้กลับมารับราชการ

กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทั้งกิจการราชสำนัก และการทหาร ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีสำคัญ ควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ “รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ผ่านการศึกษาจากอังกฤษจาก Oxford University จากนั้นได้ศึกษาจนจบจาก Royal Military Academy, Sanhurst (ปี 2440) ในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ผ่าน Harrow School ด้วย เขียนไว้ว่า “พระองค์ทรงเสียพระทัยที่มิได้โดยมีโอกาสเข้าโรงเรียนกินนอนของอังกฤษที่เขาเรียกว่าปับลิกสคูล (Public School) เช่นเดียวกับพระอนุชาทั้งหลาย เพราะพระจุลจอมเกล้าทรงเห็นว่า พระองค์อยู่ใกล้พระราชบัลลังก์เกินไป”

ส่วนรัชกาลที่ 7 เป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านโรงเรียนมัธยม Eton College ซึ่งถือเป็นโรงเรียนประจำแบบฉบับของ “ผู้ดีอังกฤษ” ที่มีประวัติศาสตร์และชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในทำเนียบศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง ในกลุ่ม Royal ปรากฏใน Website ของโรงเรียน มีพระราชวงศ์ไทย 3 พระองค์อยู่ด้วย (อีกสองพระองค์ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภานุเดชและพระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกษัตริย์ของราชวงศ์เนปาลพระองค์ก่อน (Birendra of Nepal H.M .King) ที่ถูกปลงพระชนม์ไปเมื่อปี 2544″ จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” 2548 อ้างไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว ทว่า ขณะนี้ http://www.etoncollege.com/ ปรับเนื้อหาใหม่ รัชกาลที่ 7 เพียงพระองค์เดียวถูกกล่าวไว้ว่า “HM King Prajadhipok of Siam (1893-1941), King of Siam, 1925-1935” ในฐานะศิษย์เก่ามีชื่อเสียงซึ่งเกิดในศตวรรษที่ 19 (Old Etonians born in the 19th century)

นั่นคือภาพสอดคล้องกับการปรับตัวเพื่อความดำรงอยู่ของราชอาณาจักรไทย เข้ากับสถานการณ์ หรือกระบวนการเรียกกันว่า Westernization of Siam ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าการปรับโฉมหน้ากรุงเทพฯ โดยพระราชวังดุสิตสร้างขึ้น (ปี 2442) ในฐานะศูนย์กลางความทันสมัยของกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับถนนราชดำเนิน (2444) ต่อเนื่องถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม (ปี 2451)

เป็นยุคสร้างแลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอาณานิคม

ในเวลานั้นการก่อสร้างวังหรือที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำไทย ดำเนินไปในแนวเดียวกันอย่างครึกโครม

หรือการออกพันธบัตรครั้งสำคัญ (ปี 2448 และ 2450) มูลค่า 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง เพื่อนำมาใช้สร้างระบบสาธารณูปโภค

รวมไปจนถึงวางรากฐานการศึกษา จัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน (ปี 2442) ถือเป็นจุดกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

ภาพสำคัญอีกตอนหนึ่งมองข้ามชอร์ต สู่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จนล่วงเข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 9 (เริ่มต้นปี 2489)

บุคคลสำคัญ –หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถือกันว่ามีอิทธิพลว่าด้วยความสำนึกแห่งยุคสมัย ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสังคมไทยกับสถาบันหลักที่สำคัญ

เชื่อกันว่าอิทธิพลสำคัญประการหนึ่งมาจากนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” อันโด่งดังของเขา ซึ่งเริ่มต้นจากการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (ต่อมาได้ทำเป็นละครทีวีหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา) หนังสือพิมพ์ซึ่งก่อตั้งในปี 2493 หลังจากเริ่มต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่นาน ตัวละครสำคัญหนึ่ง ชื่ออ๊อด ผมเชื่อว่าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและตัวตนผู้เขียนมากที่สุด (แต่บางคนบอกว่า ผู้แต่งจงใจให้อ้างอิงกับพี่ชาย–หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช)

เรื่องราวตัวละครดังกล่าว นอกจากมีความความเชื่อ รวมทั้งความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากพี่ชายตนเอง (ตัวละครอีกคน ชื่ออ้น) ซึ่งเป็นนักเรียนฝรั่งเศส

ที่สำคัญในบางตอนทำให้ผู้อ่านซึ่งไม่เคยรู้จักโรงเรียนประจำอังกฤษมาก่อน ได้ติดตามกันอย่างตื่นเต้นเร้าใจ

พร้อมๆ กับได้รับความรู้ความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่และความคิดของนักเรียนนอก ในยุคนั้น เป็นที่เชื่อกันว่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตที่โรงเรียนประจำในนวนิยายสี่แผ่นดิน เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในฐานะนักเรียนประจำที่ Trent College ในเมือง Nottingham

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จบการศึกษาจาก Oxford University ในสาขา Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE ว่าไปแล้วอาจอ้างได้ว่าเป็นโมเดลนักการเมืองไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีผูกพันกับคนกรุงเทพฯ มากเป็นพิเศษ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในฐานะพวกเขาเป็นนักเรียนอังกฤษตั้งแต่ระดับมัธยมและจบการศึกษาจาก Oxford University ในสาขา Philosophy, Politics and Economics หรือ PPE เช่นกัน

นั่นคือ อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ (โรงเรียนมัธยม Eton College) กรณ์ จาติกวณิช (Winchester College) และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (Rugby School)

 

บทบาทเชิงความคิด ความเชื่อของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกี่ยวกับบริบทในช่วงเวลานั้น ควรอ้างอิงอีกกรณีหนึ่ง เขาเคยรับบทเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่อว่าประเทศสารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American คู่กับ Marlon Brando เมื่อปี 2506

The Ugly American เป็นนวนิยายเชิงการเมือง ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2501 ในยุคต้นสงครามเวียดนาม เขียนโดย William Lederer และ Eugene Burdick ถือเป็นนวนิยายขายดีในเวลานั้น นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกันกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จบลงด้วยความพ่ายแพ้ อันเนื่องมาจากความหยิ่งยโสและการปฏิเสธที่จะเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบทบาททางการเมืองต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหลายกรณีทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2518) ก่อนบทบาทค่อยๆ ลดลงเมื่อสู่ช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงรุ่งโรจน์ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะมาเยือน

 

ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นปรากฏอีกบุคคลหนึ่ง ที่มีบทบาทและมีอิทธิพลในสังคมวงกว้าง นั่นคือ อานันท์ ปันยารชุน

“อานันท์ ปันยารชุน หลังจากใช้เวลาศึกษาที่ Dulwich College 4 ปี สามารถเข้าเรียนกฎหมายที่ Cambridge University แล้วรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่จบการศึกษาจากอังกฤษ ปี 2498 จนเติบโตสูงสุดในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาเพียง 22 ปี เขามีบทบาทในภาคเอกชนอยู่พักหนึ่งก่อนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง 2 ครั้งในปี 2534-2535” ในตอนที่แล้วเคยกล่าวถึงมาบ้าง เฉพาะบางประเด็น จะขอขยายความในบริบททางสังคมในภาพกว้าง

อานันท์ ปันยารชุน เป็นบุคคลสำคัญเริ่มมีบทบาทโดดเด่น เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ในช่วงเวลาสังคมธุรกิจไทยมองโลกในแง่ดี มองโอกาสใหม่ๆ มีความเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาค

เมื่อเขาก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองเฉพาะกิจ จึงแสดงบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความยืดหยุ่น รองรับโอกาสใหม่ซึ่งเปิดขึ้นต่อจากนั้น อย่างมหัศจรรย์

ภาพที่ต่อเนื่องอย่างมากเป็นพิเศษ อานันท์ ปันยารชุน กับธนาคารแห่งแรกของไทย ธนาคารซึ่งสถาบันสำคัญถือหุ้นใหญ่ เขาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2527 เป็นช่วงพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ภาพชัดเจนมากขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อเขาพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้กลับมาเป็นกรรมการธนาคารอย่างต่อเนื่อง จนเป็นนายกกรรมการ (2550-ปัจจุบัน)

ภายใต้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์ปี 2540 เขายังมีบทบาททั้งทางตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะผ่านความเห็นที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ยอมรับและคล้อยตาม รวมทั้งผ่านบุคคลสำคัญๆ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์เชิงแนวคิดกับเขา หลายๆ คนยังมีบทบาทเชิงนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ก่อนจะมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งในปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนอลหม่านพอสมควรในระดับโลก ผู้คนสังคมไทย ผู้คนซึ่งเคยมีโอกาส มีบทบาท และเพิ่งมีประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ดูเหมือนว่ากำลังอยู่ในช่วงท้าทายครั้งสำคัญอีกช่วงหนึ่ง