วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /’เพียงคำเดียวเท่านั้น…’

ธรรมนูญ เทียนเงิน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

‘เพียงคำเดียวเท่านั้น…’

 

ท่านที่เคยฟังเพลง “เพียงคำเดียวเท่านั้น…” คงมีความรู้สึก “โรแมนติก” หรือสมัยหนึ่งพวกเรามักว่า “โมแรนติก” ตามงานเขียนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ชอบใช้คำนี้เป็นประจำ

แต่กับตัวเอง “เพียงคำเดียวเท่านั้น…” คือคำที่ผู้พิพากษานำมาจากคำพาดหัวหน้าหนังสือพิมพ์วันนั้น ซึ่งโจทก์ สมัคร สุนทรเวช นำขึ้นฟ้องร้อง

แม้ตามข่าวจะไม่ได้บอกว่าใครเป็น “กุ๊ย” หากระบุมีคำว่า “สภา” ซึ่งหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มี “นายสมัคร สุนทรเวช” เป็นสมาชิกคนหนึ่ง ย่อมเป็นการหมิ่นประมาท “นายสมัคร สุนทรเวช” ด้วย แม้ว่าจำเลยจะแก้ตัวแก้ต่างว่า สภามีสมาชิกมากนับกว่าร้อยคน อาจหมายถึงใครก็ได้ ไม่ใช่นายสมัคร

การตีความเช่นนั้น หากสมาชิกมีจำนวนนับพันนับหมื่น เช่น ข้าราชการทั้งประเทศ หรือแม้ข้าราชการตำรวจที่มีมากเป็นแสนคน หรือ “ครู” มีจำนวนหลายแสนคนอาจแก้ตัวแก้ต่างว่าไม่ได้หมายถึงตำรวจหรือครูคนใดคนหนึ่ง ดังกรณีคดีหมิ่นประมาทว่าพระวัดนั้นวัดนี้ เป็นพระไม่ดี ประพฤติผิดศีล พระวัดนั้นรูปใดรูปหนึ่งอาจฟ้องร้องได้ หรือว่าทนายความจังหวัดนี้เป็นนกสองหัว ทนายความคนหนึ่งในจังหวัดนั้นย่อมฟ้องร้องได้

นั้นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง “เพียงคำเดียวเท่านั้น…” จริงๆ คือคำว่า “กุ๊ย” ผู้พิพากษามิได้แปลความ หรือเข้าใจเอาเอง หากนำคำแปลมาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำนาม แปลว่า “คนเลว”

ส่วนคำว่า “เลว” คงไม่ต้องอ้างคำแปลก็ได้กระมัง ด้วยมีความหมายอยู่ในตัวเองแล้ว

ดังนั้น การพาดหัวข่าวว่า “กุ๊ยสภาอาละวาด ด่า “…แม่ลั่น” ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทสมาชิกสภาอยู่ในตัวเอง แม้ไม่ได้เจาะจงเอ่ยชื่อใครคนใดคนหนึ่ง ย่อมหมายถึงสมาชิกสภาคนใดคนหนึ่งที่จะนำความขึ้นฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทได้

ยิ่งมีภาพถ่ายหน้าของนายสมัคร สุนทรเวชอยู่ในข่าวนั้น ย่อมส่อเจตนา

 

ระหว่างที่ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา แล้วตัวเองยิ่งฟังขายิ่งสั่น เหงื่อยิ่งตก ด้วยยิ่งฟังยิ่งชัดเจนว่ามีความผิดแน่นอน เพียงแต่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องโทษขนาดไหน เช่น จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ว่ากันเต็มพิกัด

หรือศาลจะกรุณาลดโทษให้ตามที่จำเลยแม้ไม่สารภาพว่าเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง แต่คำแถลงปิดคดียังขอความกรุณาไว้ว่า หากเป็นโทษตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก ประกอบกับจำเลยได้ทำคุณประโยชน์กับสังคม เช่น การบรรยายทางวิชาการกับนักศึกษา ขอความกรุณาจากศาลโปรดพิจารณาลดโทษเปลี่ยนโทษจากจำคุกเป็นการรอลงอาญา หรือโทษปรับ นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง เพื่อจำเลยจะได้หลาบจำและกระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป ประกอบกับอาชีพของจำเลยเป็นนำเสนอข่าวสารอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวม ทั้งจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิดด้วยตัวเอง

ช่วงท้ายของคำพิพากษาซึ่งเป็นการแจ้งว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง… แต่เนื่องจาก… ส่วนนี้แหละที่ทำให้จำเลยใจชื้นขึ้นมาบ้าง… ด้วยจำเลยมิเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับยังทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อให้จำเลยมีโอกาสทำความดีและ….ต่อไป

จึงเห็นสมควรลดโทษจากจำคุกเป็น “รอการลงอาญา 2 ปี กับโทษปรับลงกึ่งหนึ่งคือหนึ่งหมื่นบาท”

 

เป็นอันว่าเมื่อผู้พิพากษาอ่านจบ ลงจากบัลลังก์ ตัวเองจึงหันมายิ้มแห้งๆ กับทนายความได้ แล้วจัดการลงชื่อในคำพิพากษา จากนั้นเป็นหน้าที่ของทนายความที่ต้องนำเงินไปจ่ายเป็นค่าปรับและขอคัดคำพิพากษามาเป็นหลักฐาน

ส่วนโจทก์หรือครับ เจ้าตัวไม่ได้มาเอง ส่งทนายความมารับทราบคำพิพากษากับเสมียนทนาย 2 คน เป็นพอ และที่รู้สึกว่าดีอย่างหนึ่งคือ โจทก์ซึ่งเป็นนักการเมืองเห็นว่าศาลลงโทษจำเลยแล้ว แม้เป็นเพียงการรอลงอาญาและปรับ ก็มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ลงโทษโจทก์เพิ่มโทษมากไปกว่านั้น

เรื่องของโจทก์กับหนังสือพิมพ์ในคดีหมิ่นประมาทมีหลายรูปแบบ อาทิ โจทก์ที่เป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เท่าที่ทราบมา เมื่อก่อนหรือแม้ปัจจุบัน มีนักการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนไม่เคยฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เป็นคดีหมิ่นประมาท การไม่ฟ้องร้องกระทำในหลายรูปแบบ

นับแต่ อาธรรมนูญ เทียนเงิน (เขาเรียกกันอย่างนั้นจึงเรียกตาม) ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์เล่าให้ฟังว่า อานูญท่านบอกว่าไม่รู้จะไปฟ้องร้องทำไมให้มากเรื่องมากความ เราเป็นนักการเมือง มีอะไรก็ฟ้องประชาชนอยู่แล้ว เหมือนกับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เขาเสนอข่าวให้ประชาชนอ่าน เขาเห็นอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น จะล่วงเกินละเมิดเราบ้าง หากเราไม่ว่าตอบ ก็เฉยเสีย

เท่านี้หมดเรื่อง

 

อีกคนหนึ่ง ไม่ได้เป็นนักการเมืองเท่านั้น ยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเองอีกด้วย

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นทั้งศิลปิน เป็นทั้งนักเขียน เป็นทั้งนักปราชญ์ และเป็นอะไรอีกสารพัด เมื่อครั้งท่านมาเป็นนักการเมือง หนังสือพิมพ์ตั้งฉายาว่าท่านเป็น “เฒ่าสารพัดพิษ” ก็ไม่โกรธเคือง หรือต่อว่าต่อขานอย่างไร แถมเมื่อถูกว่ากล่าวอย่างไร วันหนึ่งท่านจึงว่า “เป็นภูเขาทองหมาเยี่ยวรดบ้างจะเป็นไร” ว่าเข้านั่น อีกคนหนึ่งคือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีบรรณาธิการคนไหนถูกท่านฟ้องบ้าง

หรือนักการเมืองบางคนถึงมีคดีฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ แต่มิได้เอาเป็นเอาตาย คดีจบแล้วจบกัน เช่น สมัคร สุนทรเวช เคยมีคดีต่อกันหลายคดี เมื่อถึงวันขึ้นศาล ผู้พิพากษาท่านว่า อย่างคุณสมัครฟ้องร้องกับเรื่องเล็กๆ ทำไม ฟ้องเรื่องใหญ่ๆ กับใครที่ใหญ่กว่าโน่นดีกว่า ค่อยสมน้ำสมเนื้อ

ว่าแล้ว ผู้พิพากษามาถามผมว่าจะเอายังไง ผมจะไปว่ายังไง ท่านว่ายังไงผมก็ว่าอย่างนั้น ว่าแล้วท่านก็ว่า ลงแก้ข่าวให้ก็น่าจะพอนะ คดีจะได้จบๆ กันไป

 

เท่านั้นแหละ โจทก์คือสมัคร สุนทรเวช พยักหน้าหงึกหงัก พลางว่า เอาข้อความไปลงสักสามวันก็พอ หน้าไหนก็ได้ ว่าแล้วหยิบกระดาษ ควักปากกามาเขียนข้อความขออภัยให้เสร็จ สองสามบรรทัดแล้วส่งให้จำเลย ศาลอ่านแล้วไม่ว่าอะไร เพียงถามว่า จำเลยว่ายังไง เท่านั้นเป็นอันจบ

อีกท่านหนึ่ง วันนี้เป็นประธานรัฐสภา เคยฟ้องคดีมีผมเป็นจำเลย ไม่เอาอะไรมาก ให้การจบ ก็บอกกับผู้พิพากษาว่า เท่านี้แหละครับ จำเลยไม่ต้องให้การ ขอให้ศาลมีบันทึกคำให้การของผมไว้ในคดีเท่านั้น

ส่วนอีกรายมาแปลก ฟ้องบรรณาธิการหลายฉบับ เจ้าตัวได้ชื่อว่าเจ้าพ่อเมืองเพชร มาถึงศาลยังไม่ทันให้การ แค่ทนายความให้เซ็นชื่อตรงนั้นตรงนี้ ถามว่าทำไมยุ่งยากหยั่งงี้ เท่านั้นแหละ ถอนฟ้อง