Robert Rauschenberg ศิลปินนักทดลอง ผู้ลบกฎเกณฑ์เดิมๆของโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะมาก็หลายตอนแล้ว ในตอนนี้ขอเล่าเรื่องศิลปินอีกคนที่มีบทบาทต่อวงการศิลปะร่วมสมัยอย่างมากกันบ้าง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg)

หรือในชื่อเต็มว่า มิลตัน เออร์เนสต์ “โรเบิร์ต” เราเชนเบิร์ก (Milton Ernest “Robert” Rauschenberg) (22 ตุลาคม 1925 – 12 พฤษภาคม 2008)

หนึ่งในศิลปินอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลที่สุด เขาได้รับการยกให้เป็นศิลปินโพสต์โมเดิร์นคนแรกๆ จากการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ และหลอมรวมวัสดุและวิธีการทำงานศิลปะอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม, ภาพถ่าย, ประติมากรรม, สื่อผสม, ภาพพิมพ์ และศิลปะแสดงสด ฯลฯ

เราเชนเบิร์กเป็นศิลปินผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนวงการศิลปะอเมริกันที่ถูกครอบครองโดยกระแสเคลื่อนไหว แอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism) ในช่วงยุคต้นทศวรรษ 1950s ให้เปลี่ยนไปสู่กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะใหม่ๆ หลากหลายแนวทาง

เขาเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญของกระแสเคลื่อนไหว นีโอดาด้า*

ในฐานะศิลปินนักทดลองผู้มุ่งขยายขอบเขตของศิลปะให้กว้างไกลกว่าเดิม และเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้กับศิลปินรุ่นหลังอย่างมหาศาล

Automobile Tire Print (1953) ผลงานที่เราเชนเบิร์กทําร่วมกับจอห์นเคจ (John Cage) โดยเขาให้เคจรถขับลงไปบนสีทาบ้านให้ทับลงไปประทับรอยล้ําบนกระดาษพิมพ์ดีดที่ต่อกันยาว 23 ฟุต, ภาพจากhttps://bit.ly/2PnspkP

ถึงแม้เขาจะถูกตั้งฉายาว่าเป็นตัวแสบแห่งโลกศิลปะในยุค 1950s จากการทำงานที่ท้าทายขนบเดิมๆ ของศิลปะและศิลปินรุ่นเก่าๆ อย่างอาจหาญ

แต่เขาก็เป็นที่รักใคร่ชอบพอและได้รับการยอมรับนับถือจากศิลปินรุ่นก่อนหน้าอย่างมาก

ถึงแม้เขาจะให้ความเคารพศิลปินเหล่านั้นเช่นเดียวกัน

แต่เขาเองก็โต้แย้งความคิดและความเชื่อเดิมๆ ของศิลปินรุ่นเก่า และลบล้างแนวคิด รูปแบบการทำงาน หรือแม้แต่ผลงานของศิลปินเหล่านั้น เพื่อแสวงหาพรมแดนใหม่ๆ ทางสุนทรียะ และเสาะหานิยามใหม่ๆ ทางศิลปะ เช่นเดียวกับศิลปินในกลุ่มดาด้าในยุคก่อนหน้า

โดยในช่วงปี 1951-1953 เราเชนเบิร์กทำงานศิลปะจำนวนมากมายหลายชิ้นที่สำรวจข้อจำกัดและความหมายของศิลปะภายใต้แนวคิดที่พัฒนามาจากแนวทางแบบเรดี้เมด (readymades) หรือศิลปะสำเร็จรูปของมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ด้วยการทดลองทางศิลปะที่ลบกฎเกณฑ์เดิมๆ ของการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างของการ “ลบ” ที่แสบสันที่สุดของเราเชนเบิร์กก็คือผลงานที่มีชื่อว่า Erased de Kooning Drawing (1953)

Erased de Kooning Drawing (1953) ภาพจากhttps://bit.ly/2MT73dG

ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยการลบผลงานของศิลปินคนอื่นนั่นเอง

ที่บอกว่าลบ ก็คือการใช้ยางลบลบผลงานเอาดื้อๆ เลยนั่นแหละ

โดยในตอนแรก เราเชนเบิร์กเริ่มต้นการทดลองนี้ด้วยการลองลบผลงานวาดเส้นของตัวเองก่อน แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจว่า ถ้าต้องการให้การทดลองของตนเองประสบความสำเร็จ เขาจะต้องลบผลงานของศิลปินคนอื่น

เพราะถ้าเขาลบงานของตัวเอง ผลลัพธ์ก็จะไม่เป็นอะไรมากไปกว่าการลบงานตัวเองทิ้ง

ดังนั้น เขาจึงดั้นด้นไปเยี่ยมเยือนศิลปินรุ่นพี่ที่เขานับถือมากๆ อย่างวิลเลียม เดอ คูนนิง (Willem de Kooning) ศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ และออกปากของานวาดเส้นของเดอ คูนนิง เพื่อนำไปลบให้เหี้ยนเต้!

ถึงแม้เดอ คูนนิง จะไม่ยินยอมในทีแรก

แต่หลังจากถูกศิลปินรุ่นน้องเกลี้ยกล่อม เขาก็กัดฟันมอบผลงานให้เราเชนเบิร์กไปลบทิ้ง แต่ก็จงใจเลือกชิ้นที่ลบยากๆ ให้ เพื่อให้การลบของเขามีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ซึ่งกว่าที่เราเชนเบิร์กของเราจะลบภาพออกหมดก็กินเวลาไปกว่าเดือน

และใช้ยางลบไปราวสิบห้าก้อนเลยทีเดียว

(เมื่อดูจากร่องรอยที่หลงเหลือเลือนรางแล้ว ภาพวาดลายเส้นของเดอ คูนนิงที่ถูกลบนี้ น่าจะมาจากชุด “Woman” ที่เขาทำในช่วงปี 1950-1955)

เราเชนเบิร์กกล่าวถึงกระบวนการสร้างงานศิลปะของตัวเองด้วยการลบงานของผู้อื่นทิ้งของเขาว่า “มันไม่ใช่แค่การลบงานของศิลปินคนอื่น แต่มันเป็นการเฉลิมฉลองของความคิดต่างหาก”

แต่ก็แน่นอนละว่า การทำแบบนี้ของเขาก็น่าจะมีความหมายแฝงเร้นถึงการโบกมือลาศิลปะแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

และความคิดที่ว่า ผลงานศิลปะต้องเป็นอะไรที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของมันด้วยเช่นกัน และเป็นการประกาศศักดาแห่งการมาถึงของกระแสความเคลื่อนไหวและแนวคิดใหม่ๆ ทางศิลปะที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น

ผลงานครั้งนี้ของเราเชนเบิร์กตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตนอยู่ของศิลปะ

และท้าทายผู้ชมให้ครุ่นคิดว่า การที่ศิลปินคนหนึ่งลบผลงานของศิลปินอีกคนทิ้ง เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะตรงไหน

มันเป็นการแสดงคารวะ ล้อเลียน ยั่วยุ ท้าทาย ล้างครู หรือเป็นแค่การทำลายกันแน่

แต่อย่างไรก็ตาม ศิลปะของการลบทิ้งของเราเชนเบิร์กชิ้นนี้ก็เป็นผลงานที่ท้าทายขอบเขตแห่งการสร้างสรรค์ เปิดเส้นทางสู่พรมแดนใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะในแนวคอนเซ็ปชวล (Conceptual art) นั่นเอง

นอกจากจะตั้งคำถามกับตัวตนความหมายของศิลปะแล้ว เขายังตั้งคำถามกับบทบาทของศิลปิน และยกระดับแนวคิดในการทำงานศิลปะ จากการใช้สีสันและฝีแปรงเพื่อการแสดงออกถึงตัวตนภายในของศิลปิน ไปสู่การทำงานที่สะท้อนสังคมและโลกร่วมสมัย ด้วยการใช้สื่อสมัยนิยม สินค้าอุตสาหกรรม และข้าวของรอบตัวทั่วไปที่พบได้เกลื่อนกลาด มาเป็นวัตถุดิบในการทำงานศิลปะ

ด้วยการหยิบจับผสมผสานวัสดุเก็บตกเหลือใช้ ของโหลดาษดื่น ไปจนถึงซากสัตว์ที่ถูกสตัฟฟ์ มาทำงานร่วมกับสื่อแบบดั้งเดิมอย่างสีน้ำมัน ผสานกับสำเนาจากภาพถ่ายในสื่อต่างๆ กับสีทาบ้านทั่วๆ ไป มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะลูกผสมที่หลอมรวมงานจิตรกรรมสองมิติเข้ากับงานประติมากรรมสามมิติ

ที่มีชื่อเรียกว่า “Combine painting”

Monogram (1955–59) ผลงาน Combine painting, ภาพจากhttps://bit.ly/2NiLim

เราเชนเบิร์กเชื่อว่างานจิตรกรรมนั้นเชื่อมโยงกับทั้งศิลปะและชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ เขาสร้างสรรค์ผลงานที่เชื่อมโยงระหว่างชีวิตและศิลปะ ที่สร้างบทสนทนาอย่างต่อเนื่องกับผู้ชมและโลกรอบตัว รวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ศิลปะ เขามักปล่อยให้ผู้ชมตีความผลงานของเขาได้อย่างอิสระ โดยไม่จำกัด ควบคุม หรือชี้นำความคิดของพวกเขา

Canyon (1959) ผลงาน Combine painting, ภาพจากhttps://mo.ma/2NeeT0k

ในช่วงบั้นปลายชีวิต เราเชนเบิร์กอาศัยและทำงานในนิวยอร์กและฟลอริดา

เขาเสียชีวิตในวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 ในวัย 82 ปี

เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันนับไม่ถ้วนแก่ศิลปินรุ่นหลัง

*นีโอดาด้า (Neo-Dada) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s ที่มีการแสดงออกผ่านสื่ออันหลากหลาย ทั้งภาพ เสียง และงานวรรณกรรม และทำงานด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่ ภาพในวัฒนธรรมป๊อป ที่เน้นความเหลวไหลลักลั่น อันเป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้การใช้อารมณ์ความรู้สึกในการทำงานของศิลปิน แอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ รวมถึงปฏิเสธขนบธรรมเนียม แนวคิดทางศิลปะและสุนทรียะแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง Neo-Dada ได้รับอิทธิพลจากดาด้า (Dada หรือ Dadaism) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหัวก้าวหน้า ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในกรุงซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะแพร่ขยายไปยังนิวยอร์ก โดยมีสมาชิกคนสำคัญอย่างมาร์เซล ดูชองป์ กระแสเคลื่อนไหว Neo-Dada ส่งแรงบันดาลใจและกลายเป็นรากฐานอันสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวป๊อปอาร์ต (Pop art) ในเวลาต่อมา

ข้อมูล https://bit.ly/36dgtID