ธงทอง จันทรางศุ | นิทรรศการระดับโลก ที่ระดับไทยไม่ (เคย) ได้ดู

ธงทอง จันทรางศุ

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าใครมีโอกาสผ่านไปบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในวันที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเปิดทำการ ท่านจะได้เห็นมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น

นั่นคือคนเข้าแถวยาวเป็นงูกินหางรอเข้าชมนิทรรศการที่จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน นิทรรศการนี้เป็นที่รู้จักกันในนามอย่างไม่เป็นทางการว่า นิทรรศการจิ๋นซี

ซึ่งเป็นการเรียกอย่างย่อเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเนื้อหานิทรรศการเน้นพระราชประวัติและผลงานของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ และมีสิ่งดึงดูดน่าสนใจอย่างสำคัญคือ ตุ๊กตาทหารจีนขนาดเท่าตัวคนจริง ทำด้วยกระเบื้องดินเผา

เพราะใครหลายคนคงคุ้นเคยกันกับภาพตุ๊กตาทหารจีนทำนองนี้ เข้าแถวกันเป็นร้อยเป็นพันตัวอยู่ในสุสานของจักรพรรดิจิ๋นซีที่เมืองจีนมาแล้ว

เมื่อไม่มีปัญญาหรือไม่มีโอกาสจะไปดูที่เมืองจีน แล้วรัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทยร่วมมือกันจัดนิทรรศการพิเศษ โดยนำทหารตุ๊กตาเหล่านี้มาให้ชมถึงบ้าน

แม้จะมีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวก็ตามทีเถิด แล้วเราจะพลาดได้อย่างไร จริงไหมครับ

สองวันก่อนผมพบปะพูดคุยกันกับท่านรองอธิบดีกรมศิลปากรท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าเพื่อตอบสนองความสนใจของประชาชนเรื่องนี้ กรมกำลังคิดจะประสานกับทางฝ่ายจีน ขอขยายระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งเดิมกำหนดเสร็จสิ้นอยู่ภายในเดือนธันวาคมนี้ให้ยืดยาวออกไปจนถึงต้นปีหน้า

ส่วนจะสำเร็จผลหรือไม่ต้องรอฟังข่าวกันต่อไป

ท่านรองอธิบดีอธิบายว่าตุ๊กตาทหารจีนที่ทำจากกระเบื้องดินเผาเหล่านี้ มีคิวโชว์ตัวตามประเทศต่างๆ มากอยู่เหมือนกัน เปรียบได้ว่ามีคนรอถือป้ายไฟเป็นกองเชียร์อยู่หลายประเทศ

การนำนิทรรศการความรู้พิเศษในหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากหนึ่งประเทศไปจัดแสดงในประเทศอื่นเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเขาทำกันมาช้านานแล้ว

จะมียกเว้นก็แต่เมืองไทยของเรานี่แหละครับ ที่นานปีทีหนถึงจะมีเรื่องอย่างนี้มาให้ดูสักครั้งหนึ่ง

จากประสบการณ์ของผู้ทรงวัยวุฒิอย่างผม(แปลว่าแก่) พอจะนึกออกครับว่า ทำไมบ้านเราจึงไม่มีนิทรรศการจากเมืองนอกหมุนเวียนเข้ามาให้ชมได้บ่อยครั้งอย่างคนอื่นเขา

ข้อแรกเป็นความขัดข้องทางเทคนิค ขยายความว่านิทรรศการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากต่างประเทศเช่นนี้ เป็นของที่เขาทะนุถนอมมาก

การจัดแสดงในต่างประเทศต้องเลือกเฟ้นว่าประเทศที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดแสดงต้องมีสถานที่จัดแสดงที่ได้มาตรฐานสากล

มาตรฐานที่ว่านี้มีหลายอย่าง เช่น ความชื้นและอุณหภูมิที่ต้องสม่ำเสมอและควบคุมให้เหมาะสมได้ตลอดเวลา มีกลไกเครื่องมือสำหรับวัดตรวจสอบได้ชัดเจน

ดวงไฟแสงสว่างต้องไม่ทำอันตรายให้กับโบราณวัตถุ

อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่างๆ มีครบถ้วน

เฉพาะข้อแรกข้อเดียวนี้เราก็หืดขึ้นคอแล้ว

เพราะบ้านเราไม่ค่อยจะมีสถานที่ที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเช่นว่านี้

เมื่อประมาณหนึ่งปีมาแล้ว มีนิทรรศการจากสหรัฐอเมริกา โดยสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานยืมข้าวของจากพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดหลายแห่งในสหรัฐอเมริกามาจัดแสดงในเมืองไทย

เนื้อเรื่องและข้าวของทั้งหลายว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ยืนยาวมากว่า 200 ปี

ของแต่ละชิ้นเป็นของมีค่าหายาก ก่อนจะลงมือจัดนิทรรศการกันจริง มีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจและเจรจากันหลายรอบ

ผมยังมีโอกาสได้พูดคุยกับฝรั่งที่มาทำงานเรื่องนี้บ้างเลยครับ

สุดท้ายก็ไปตกลงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดแสดงนิทรรศการพิเศษเรื่องดังกล่าวได้ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภายในพระบรมมหาราชวัง

คราวนั้นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งหมายความถึงพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานที่กำลังจัดแสดงเรื่องจิ๋นซีอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องนั้น

ส่วนจะเป็นด้วยสาเหตุว่าไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องใด หรือเป็นสาเหตุอย่างอื่นผมไม่สามารถยืนยันได้

แต่ก็ได้ทราบว่าประสบการณ์หรือบทเรียนครั้งนั้นทำให้กรมศิลปากรของไทยต้องเร่งคิดอ่านปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ของบ้านเรา ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเราก็ได้มาตรฐานโลกกับเขาเหมือนกัน

ดังนั้น การที่นิทรรศการเรื่องจิ๋นซีมาเป็นแขกรับเชิญของเมืองไทยครั้งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นประกาศนียบัตรสำคัญที่รับรองว่าเราสอบผ่านข้อสอบหินข้อนี้แล้ว

ข้อสองคือเรื่องโสหุ้ยหรือค่าใช้จ่าย

ลองนึกดูนะครับว่าการขนย้ายของโบราณที่มีทั้งคุณค่าและราคาสูงจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง จะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลสักปานใด

การไปจัดแสดงก็ต้องมีการออกแบบไว้ล่วงหน้าว่าจะมีตู้หรือมีข้าวของเครื่องใช้ที่เหมาะสมสำหรับการจัดวางโบราณวัตถุศิลปวัตถุเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

และที่เจ็บปวดอีกอย่างหนึ่ง คือค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาประกันภัย

จริงอยู่ว่าแม้ของเหล่านี้ถ้าเสียหายไปอาจจะไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้ เพราะเป็นของมีอยู่ชิ้นเดียวในโลก

แต่ถึงกระนั้นการทำสัญญาประกันภัยก็เป็นเรื่องที่จะพอเยียวยาอะไรได้บ้าง แม้จะไม่สามารถเสกหรือสร้างให้ของชิ้นเดียวที่สูญหายไปนั้นกลับคืนมาได้ก็ตาม

ผมเคยเห็นในต่างประเทศว่าค่าใช้จ่ายมหาศาลเหล่านี้ ลำพังที่จะให้พิพิธภัณฑ์เป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมดเห็นจะเกินกำลัง

เขาก็จะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ใส่ใจสนใจเรื่องเหล่านี้มาเป็นสปอนเซอร์

ใครมาเป็นผู้สนับสนุนอุปถัมภ์รายการเขาก็มีการให้เครดิตติดป้ายบอกยี่ห้อไว้ตรงทางเข้านิทรรศการและอยู่ในหนังสือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

เจ้าภาพที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพเดี่ยวนะครับ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลายบริษัทก็ได้

ค่าใช้จ่ายที่บริษัทนำมาสนับสนุนการจัดงานที่เป็นสาธารณประโยชน์เช่นนี้ บริษัทสามารถนำไปเป็นประโยชน์ในการกำหนดลดหย่อนภาษีได้ด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้ชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีใจกุศล แถมยังเป็นคนมีรสนิยมดีด้วยนะครับ จึงมารู้จักของที่เป็นศิลปวัตถุโบราณวัตถุเหล่านี้ได้

แบบนี้ถ้าออกกฎหมายลดภาษีเงินบริจาคประเภทนี้ให้นำไปกำหนดลดหย่อนเป็นสองเท่า ของจำนวนเงินที่บริจาคจริง น่าจะเข้าท่าดีอยู่ไม่ใช่น้อย

ข้อที่สาม คือนโยบายที่สนับสนุนหรือเอาจริงเอาจังในเรื่องอย่างนี้

ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความเข้าใจคุ้นเคยเช่นรัฐบาลสิงคโปร์

ผมได้เคยคุยกันกับท่านเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ซึ่งบัดนี้ท่านย้ายกลับบ้านไปแล้ว

ท่านทูตบอกผมว่าสิงคโปร์ยอมลงทุนในเรื่องเหล่านี้

ยอมเสียสตางค์ให้นิทรรศการจากต่างประเทศดีๆ มาจัดแสดงในสิงคโปร์

เป็นเหมือนกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

นกตัวแรกคือ ชาวสิงคโปร์เองมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ได้เห็นของจริง ไม่ใช่ดูจากรูป

เข้าทำนองตำราที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น แต่อย่าเอามือไปคลำก็แล้วกัน

ส่วนนกตัวที่สองคือ กิตติศัพท์ที่จะบันลือไปไกลในนานาชาติ และอาจเป็นเรื่องจูงใจให้มีคนเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ไปดูนิทรรศการเหล่านี้

ทำให้เกิดทั้งรายได้และชื่อเสียงกับประเทศสิงคโปร์ไปพร้อมกัน

นิทรรศการพิเศษที่มาจากต่างประเทศแต่ละครั้งต้องเตรียมการล่วงหน้ากันแรมปี มาอยู่สิงคโปร์คราวหนึ่งก็หลายเดือน

ตีฆ้องร้องป่าวล่วงหน้าด้วยสารพัดวิธี ให้ทั้งคนสิงคโปร์เองและชาวต่างชาติได้รับทราบข้อมูลแล้วแย่งกันมาชม

ผมรับสารภาพเต็มปากเต็มคำเลยครับว่าเคยเป็นนกตัวที่สองของสิงคโปร์มาแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปีเศษหรือสองปีมาแล้ว ผมได้ข่าวว่ามีนิทรรศการพิเศษเรื่องศิลปะขอม ที่สิงคโปร์นำมาจากพิพิธภัณฑ์สำคัญในกรุงปารีส ที่ชื่อว่ากีเม่ต์ ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้ายุทธภพในเรื่องศิลปะขอม เพราะฝรั่งเศสเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของเมืองกัมพูชามาก่อน ถึงขนของอย่างดีวิเศษไปเก็บไว้ที่กรุงปารีส

เมื่อทั้งสองประเทศตกลงจะขนของสวยของดีเมืองขอมมาจัดแสดงที่สิงคโปร์ ซึ่งราคาตั๋วเครื่องบินถูกกว่าบินไปถึงกรุงปารีสเป็นไหนๆ

แบบนี้ผมก็เสียสตางค์บินไปสิงคโปร์สิครับ

เสียเงินคนเดียวยังไม่พอ กลับมาถึงเมืองไทยก็เขียนโฆษณาลงใน Facebook ของตัวเอง

ปรากฏว่ามีนกประเภทเดียวกันกับผมบินไปสิงคโปร์หลายคนครับ

รวมทั้งผู้บริหารหลายท่านของมติชนที่เดินวนเวียนอยู่แถวนี้ด้วย

เสร็จสิงคโปร์ทั้งนั้นครับ

จริงไหมครับคุณปานบัว บุนปาน

ตรงนี้ต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลไทยเรา กระทรวงวัฒนธรรมของเรา มีนโยบายหรือท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้

ลำพังกรมศิลปากรคิดคนเดียวไปไม่รอดหรอกครับ

กรมศิลปากรก็เหมือนแม่ลูกดกที่มีภารกิจหลายอย่าง

ไหนจะพิพิธภัณฑ์ ไหนจะโบราณคดีต้องขุดค้น ไหนจะหอสมุด หอจดหมายเหตุ ช่างสิบหมู่ นักร้องนักรำนักแสดง

แค่เลี้ยงลูกแต่ละคนให้รอดชีวิตได้ก็บุญโขแล้ว

จะให้ส่งเสียเล่าเรียนถึงปริญญาเอกทุกคนเห็นจะเกินกำลัง

พูดกันด้วยความเป็นธรรมให้ถึงแก่น ผมไม่ได้หมายถึงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยชอบจัดงานอีเวนต์ครับ

จัดอะไรให้ฟู่ฟ่าหรูหรา ใช้เงินแต่ละคราวก็ไม่น้อย แต่แค่วูบเดียวหาย เหมือนจุดพลุลอยขึ้นฟ้า สว่างโพลงอยู่ไม่กี่วินาทีแล้วก็ดับวูบลง

ใจผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า งดจัดอีเวนต์สักสองสามงาน รวมเงินที่ประหยัดได้มาจัดนิทรรศการแบบที่ว่ามานี้น่าจะเกิดประโยชน์ระยะยาวที่ยั่งยืนมากกว่า

คิดแบบนี้เลยไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเสียที ฮา!

ผมจะต้องจองตั๋วเครื่องบินไปสิงคโปร์อีกกี่รอบหนอ