เทศมองไทย : “อาร์เซ็ป” เมื่อลัทธิกีดกันการค้า ลามถึงอาเซียน

การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือว่าประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่หลายคนคาดหวังกันเอาไว้ ด้วยเหตุผลบางประการ

แรกสุด นี่เป็นครั้งที่สองต่อเนื่องกันที่อาเซียนถูก “เท” จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

ซึ่งไม่เพียงทำให้การประชุมอีสต์เอเชียฟอรั่ม กับการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาขาดสีสันจัดจ้านไปถนัดใจ

แม้จะเกิดปรากฏการณ์ “เทคืน” จากประดาผู้นำอาเซียนทุกชาติยกเว้นชาติเจ้าภาพปีนี้อย่างไทย ปีหน้าอย่างเวียดนาม และลาวในฐานะประเทศผู้ประสานงานเมื่อมีการเจรจาสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาขึ้นมาก็ตาม

ประเด็นที่สองที่เป็นปัญหาก็คือ กรณีที่อินเดียมาประกาศเอาในวันสุดท้ายถอนตัวออกจาก “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ “อาร์เซ็ป”

ส่งผลให้ความตกลงที่จะก่อให้เกิดกลุ่มการค้าใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา ซึ่งทั่วโลกพากันคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเพื่อช่วยอุ้มชูสถานการณ์การค้าโลกที่สลบซบเซาเพราะอิทธิพลของสงครามการค้าในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา

ยังไม่มีการลงนามกันเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมหนนี้

 

ประเด็นแรกกลายเป็นเครื่องหมายคำถามถึงพันธะผูกพันระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมว่า สหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญกับอาเซียนอยู่จริงหรือ? นี่เป็นการแสดงออกถึงการลดความสำคัญ ลดความหมายของอาเซียนลงจนไม่มี “นัยสำคัญ” ใดๆ ของสหรัฐอเมริกาแล้วใช่หรือไม่?

หรือเป็นเพียงการแสดงออกซึ่งหลักการการปฏิเสธระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจแบบพหุภาคี ชนิดถึงที่สุดของโดนัลด์ ทรัมป์และพวก เหมือนอย่างที่แสดงออกมาให้เห็นบ่อยครั้ง?

เพราะโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสซี) ที่ทำหน้าที่เป็น “ทูตพิเศษ” ของผู้นำสหรัฐอเมริกาในการประชุมสุดยอดหนนี้ เชื้อเชิญบรรดาผู้นำอาเซียนไปพบทรัมป์อีกครั้งในเวลาใดเวลาหนึ่งของปีหน้า

หรือจะเป็นอย่างที่บางคนสรุปความว่า ทรัมป์ไม่มาเพราะความเป็นทรัมป์เท่านั้นเองหรือ?

ประเด็นถัดมาน่าจะเป็นกรณีที่สร้างความผิดหวังให้กับนักสังเกตการณ์ทั่วไปมากกว่าประเด็นแรก

เนื่องเพราะอาร์เซ็ปไม่เพียงเป็นความพยายามในการกระตุ้นระบบการค้าโลกขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังชะลอตัวอย่างหนักและต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาเท่านั้น

แต่ยังเป็นความพยายามในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ “ร่วมกัน” ของบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

เป็นความผิดหวังที่ได้เห็นอีกครั้งว่า ลัทธิกีดกันทางการค้า กลายเป็นตัวถ่วงความรุดหน้าของความร่วมมือทางด้านการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาคนี้

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การตัดสินใจของทรัมป์ ทำลายความตกลงในลักษณะเดียวกันอย่าง “ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี” ไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ที่แตกต่างกันก็คือ ในขณะที่ทีพีพีหลงเหลือเพียง 7 ชาติที่ให้สัตยาบันรับรองความตกลงดังกล่าวทั้งๆ ที่มีผู้ลงนามในตอนแรกถึง 12 ชาติ (รวมสหรัฐอเมริกา) เพราะที่เหลืออีก 4 ชาติยังไม่ได้ให้สัตยาบันความตกลงที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือซีพีทีพีพี ไปในเวลานี้

อาร์เซ็ปกลับยังหลงเหลือชาติสมาชิกอีกถึง 15 ชาติ ที่เห็นพ้องตกลงกันในหลักการของ 20 ข้อบทที่ใช้เป็นหลักในความตกลง และกำหนดกันแน่ชัดแล้วว่าจะมีอินเดียด้วยหรือไม่ก็ตามที อาร์เซ็ปจะมีการลงนามกันอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ยังคงรักษาสถานะความเป็นกลุ่มการค้า หรือเทรดบล็อก ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ต่อไป

 

อินเดีย ในฐานะ “เขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3” ในอาร์เซ็ป ยื่นข้อเรียกร้องให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ หนนี้จัดทำหลักประกันแรงงานและอุตสาหกรรมในประเทศกับหลักประกันการเปิดตลาดในประเทศสมาชิกในนาทีสุดท้าย

เล่นเอาสมาชิกอื่นๆ อีก 15 ชาติขมวดคิ้วนิ่วหน้าไปตามๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องการให้ “อาร์เซ็ป” เป็นรูปเป็นร่างให้เร็วที่สุดอย่างจีน

เศรษฐกิจจีนกำลังได้รับผลสะเทือนอย่างหนักจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา และทำให้อาร์เซ็ปกลายเป็นยิ่งกว่าความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด และครอบคลุมกว้างขวางที่สุด เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐอเมริกา

อินเดียไม่ได้ถอนตัวออกจากความตกลงครั้งนี้เพราะเล็งเห็นประโยชน์เพื่อสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่หลักคิดที่รัฐบาลอินเดียใช้ไม่ต่างอันใดจากหลักคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการเอาอกเอาใจบรรดาฐานเสียงภายในประเทศเฉพาะหน้ามากกว่าผลประโยชน์ในระยะยาวของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

แม้ว่าในเวลานี้เศรษฐกิจของอินเดียจะชะลอตัวลงหนักที่สุดในรอบ 6 ปีอยู่ก็ตามที