ต่างประเทศอินโดจีน : เมื่อลาวถึงคราวแล้ง

เดือนตุลาคมของทุกปี สำหรับประเทศในที่ราบลุ่มลำน้ำโขงโดยทั่วไปแล้ว หน้าหนาวเพิ่งจะเริ่มต้น

ความหนาวเป็นภัยอย่างหนึ่ง แต่ไม่กระไรนักสำหรับทุกคน แต่พร้อมๆ กับการมาถึงของความหนาว คือจุดเริ่มต้นของฤดูกาลแห้งแล้งประจำปี ที่ส่งผลเสียหายมหาศาลต่อพืชผลไร่นา

อุโทน เพ็ดเลืองไซ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาของทางการลาว กำลังวิตกว่าแล้งนี้จะหนักหนาสาหัสกว่าทุกปี

สิ่งบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดก็คือ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นหน้าหนาว แต่ระดับน้ำของแม่โขงและลำน้ำสาขาลดลงต่ำมากแล้ว หน้าฝนก็ผ่านไปแล้ว หมายความว่าอีกหลายเดือนต่อไปนี้จะไม่มีน้ำฟ้าลงมาเติม ระดับน้ำในลำน้ำทั้งหลายมีแต่จะหดหายไปมากขึ้นทุกที

แค่ตอนนี้ ระดับน้ำโขงและลำน้ำสาขาก็ต่ำทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อทั้งน้ำอุปโภคในครัวเรือน และส่งผลกระทบต่อน้ำสำหรับเกษตรกรรมและธุรกิจแล้ว

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว วิสาหกิจการน้ำเวียงจันทน์ กิจการประปาของลาว ประกาศว่าปริมาณน้ำประปาสำหรับบางพื้นที่ในแขวงนครเวียงจันทน์อาจไม่เพียงพอ

เนื่องจากเครื่องสูบน้ำของบริษัทที่ลำน้ำงึมลอยอยู่เหนือระดับน้ำ ไม่สามารถสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบบำบัดได้แล้ว

แค่เริ่มต้นหน้าแล้งยังหนักหนาขนาดนี้ เมื่อถึงกาลแล้งเต็มที่ มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นแล้งครั้งประวัติศาสตร์ ก่อปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

แต่เท่าที่อุโทน เพ็ดเลืองไซ ทำได้ก็คือ เตือนให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้งเข็ญเข้าไว้

เธอบอกว่า หน่วยงานของเธอไม่ได้มีหน้าที่ออกประกาศเตือนภัยแล้ง เพียงทำหน้าที่เฝ้าระวังเรื่องระดับน้ำและปริมาณฝน เพื่อรายงานต่อผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการประกาศภัยแล้งต่อไป

นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะประกาศเพื่อเตือนภัยแล้งดังกล่าว

 

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ อุโทนยืนกรานว่า ภาวะแล้งหนนี้ไม่ได้เป็นปัญหาจากเขื่อน แต่เป็นปัญหาจากฟ้าฝนไม่เป็นใจเป็นหลักมากกว่า

เขื่อนในลาว ผ่านการออกแบบโดยใคร่ครวญถึงปัญหาน้ำมาเป็นอย่างดี ไม่ได้เก็บกักน้ำไว้ในปริมาณมากๆ จนกระทบต่อการหลั่งไหลตามปกติของแม่น้ำแต่อย่างใด เธอบอก

ปัญหาคือฝน ข้อมูลของหน่วยงานที่จัดเก็บต่อเนื่องมาแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนตกลงมาในพื้นที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของประเทศ

รายงานหลังสุดที่กรมอุตุฯ เผยแพร่ออกมาเป็นข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ ในเดือนนั้นปริมาณฝนตกในลาวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 70 เปอร์เซ็นต์

แม้จะไม่มีข้อมูลอัพเดตเพิ่มเติม แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นตรงกันว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของลาว ยกเว้นตอนกลางและทางใต้ของประเทศ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในหน้าฝนนั้นล้วนอยู่ในระดับต่ำสุดทั้งหมด

นั่นคือผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ “เอลนิโญ” ปรากฏการณ์ภูมิอากาศโลกที่ก่อให้เกิดภาวะอากาศสุดโต่งในหลายรูปแบบชนิดได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจะส่งผลต่อลาวและประเทศในที่ราบลุ่มลำน้ำโขงทั้งหมด

เมื่อสมทบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อน ไม่เพียงภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงผันแปรไปจากฤดูกาลปกติแล้ว ยังรุนแรงสุดโต่งกว่าปกติด้วยอีกต่างหาก

ในลาว ชุมชนนานาชาติที่อยู่ที่นั่นตระหนักในเรื่องนี้ดีที่สุด เพราะได้เห็นกับตาว่าเกิดอะไรขึ้นกับธรรมชาติ น้ำท่า ป่าเขา ที่เคยอุดมสมบูรณ์

รัฐบาลเองก็ตระหนักเรื่องนี้ดี ถึงขนาดมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นเพื่อระดมเงินเสริมสร้างสมรรถนะของประเทศในการรับมือ

ส่วนที่เหลือ ถ้ายังไม่เรียนรู้ ก็คงซาบซึ้งดีแน่นอนหลังแล้งนี้ผ่านพ้นไป