นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : ‘วัฒนธรรมซูเปอร์ฮีโร่’ เมื่อหนังซูเปอร์ฮีโร่ครองเมือง (จบ)

AFP PHOTO / Bill Wechter

นอกจากการแบ่งยุค 4 ยุคดังกล่าวแล้ว ยังมีนักวิเคราะห์อีกกลุ่มที่มองว่า เส้นแบ่งวัฒนธรรมซูเปอร์ฮีโร่ที่ชัดเจนมากในยุคหลังคือ เหตุการณ์ 9/11

แล้ววัฒนธรรมซูเปอร์ฮีโร่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังยุค 9/11

ต้องบอกก่อนครับว่า ซูเปอร์ฮีโร่ไม่เคยเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเท่าไร และไม่ได้เป็นหนังที่ทำเงินถล่มทลาย (ยังจำ Batman ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าในหลายๆ ภาคได้ไหม)

แต่หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกที่สร้างปรากฏการณ์นี้ได้คือ spider man ภาคแรก ในปี 2002 เพราะเนื้อเรื่องดี สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ตระการตา

อีกปัจจัยที่นักวิเคราะห์เชื่อกันคือ หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่คนหวาดผวา ขาดที่ยึดเหนี่ยว อยากได้ฮีโร่ หรือวีรบุรุษม้าขาวมาเป็นที่พึ่ง นับแต่นั้นเป็นต้นมา หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็ทยอยมาอีกมากมาย แทบจะทำเงินบล๊อกบัสเตอร์หลายต่อหลายเรื่องจนถึงปัจจุบัน

 

ผมคิดว่าสิ่งที่หนังซูเปอร์ฮีโร่หลังยุค 9/11เปลี่ยนไปคือ

หนึ่ง มีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ ชั้นเดียวจบไม่ได้แล้ว มีความสมจริงมาก เป็นเหตุเป็นผล และมีการตรวจสอบการทำตัวเป็น ศาลเตี้ยของซูเปอร์ฮีโร่ว่าถูกต้องจริงไหม เช่น Batman vs Superman ที่กำลังฉายอยู่ในปัจจุบัน (จะว่าไป จริงๆ แล้วฉบับการ์ตูนก็มีเนื้อเรื่องซับซ้อนมานานแล้ว)

สอง มีซูเปอร์ฮีโร่ที่หลากหลาย บ้างก็เป็นพวกกวนประสาทเกรียนแตกอย่าง Deadpool หรือกลุ่มเหล่าวายร้ายที่กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Suicide Squad หรือที่คาดว่ากำลังจะฉายปลายปีนี้อย่าง Doctor Strange ซูเปอร์ฮีโร่หน้าใหม่จากมาร์เวล ความน่าสนใจอยู่ที่เนื้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ศาสตร์มืด การย้อนเวลา และอีกมากมายที่ไม่เคยเห็นในหนังมาร์เวล

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ การกำเนิดของซูเปอร์ฮีโร่ที่มาจากฝั่งที่มักจะถูกมองว่าเป็นตัวร้ายเสมออย่างกลุ่มมุสลิม เช่น The 99 ซูเปอร์ฮีโร่มุสลิมจากฝั่งอาหรับที่ฮิตมาเป็น 10 ปี ฮอลลีวู้ดเตรียมดัดแปลง The 99 ในรูปแบบแอนิเมชั่นสำหรับการออกฉายทั่วโลกอีกด้วย

ในปัจจุบัน กระแสที่คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น สังคมมีความแตกต่างหลากหลาย ทำให้ซูเปอร์ฮีโร่ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์เดิมๆ

เช่น มาร์เวล คอมิกส์ บริษัทการ์ตูนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเปิดตัวซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ ซึ่งใช้ชื่อว่า สาวน้อยคามาลา คาห์น โดยการ์ตูนตัวนี้จะปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูน “มิสมาร์เวล” เล่มใหม่

ซูเปอร์ฮีโร่ เปลี่ยนไปมากเหลือเกินจากจุดเริ่มต้น

 

แล้ววัฒนธรรมซูเปอร์ฮีโร่กระทบความรู้สึกนึกคิดของคนอย่างไร

ผมคิดว่ามีดังนี้

หนึ่ง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นวีรบุรุษม้าขาว

สอง ปลูกฝังให้เด็กๆ เป็นคนดี ต่อสู้ความชั่ว

สาม การที่ได้เห็นซูเปอร์ฮีโร่ออกมาต่อสู้กับเหล่าวายร้าย ด้วยพลังวิเศษเหนือมนุษย์ ด้วยอำนาจที่อยู่เหนือกรอบกฎหมาย ก็คล้ายๆ กับเป็นศาลเตี้ยที่ช่วยให้คนดูรู้สึกพอใจที่ได้เห็นการเอาผิดคนทำผิดอย่างเท่าเทียม เพราะสังคมปัจจุบันเอาผิดคนไม่ค่อยได้

สี่ ปลูกฝังค่านิยม ความดี ความชั่ว ความจริง ซึ่งจริงๆ ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะซูเปอร์ฮีโร่มาจากฝั่งตะวันตก เช่น สไปเดอร์แมนที่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ก็อาจเปรียบได้กับอเมริกาที่ทำตัวเป็นตำรวจโลก หรือซูเปอร์ฮีโร่อื่นๆ ที่พยายามจะบอกว่า สหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจของโลก ฮีโร่ต้องมาจากอเมริกาเท่านั้น

ไปจนถึงซูเปอร์ฮีโร่จากอเมริกาคือผู้กำหนดความถูกต้องให้กับคนทั้งโลก

 

จากปรากฏการณ์หนังซูเปอร์ฮีโร่ครองเมือง คำถามสำคัญของผมก็คือซูเปอร์ฮีโร่คือคนดีจริงหรือ

อย่างที่บอกไปครับว่าซูเปอร์ฮีโร่ แม้จะมีวิวัฒนาการมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็ต้องมีพระเอกและผู้ร้าย ไม่งั้นเรื่องก็ไม่สนุก

คำถามคือในโลกแห่งความจริงที่ซับซ้อน มันแบ่งขาวแบ่งดำชัดเจนอย่างนั้นหรือ คนที่เป็นศัตรูของซูเปอร์ฮีโร่คือใครกันแน่ และซูเปอร์ฮีโร่คือคนดีจริงหรือ (Watchmen และ batman vs superman พูดเรื่องนี้ได้ดี)

หากซูเปอร์ฮีโร่มีอำนาจมากเกินไป ทำตัวเป็นศาลเตี้ยไม่มีคนตรวจสอบ เขาจะใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเองหรือไม่

การปลูกฝังวัฒนธรรมซูเปอร์ฮีโร่อาจทำให้คนเฝ้ารอแต่คนที่จะมาช่วยเหลือ กอบกู้สถานการณ์ และมองว่าซูเปอร์ฮีโร่คือวีรบุรษตลอดเวลา

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ ลืมที่จะตรวจสอบ ตั้งคำถาม หรือบางทีอาจจำยอม จำนนมากเกินไปเสียเอง และมองอีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายเสมอ ตั้งธงไว้ตลอด ประเด็นนี้สังคมไทยเห็นอยู่บ่อยๆ และชัดเจนมากในหลายๆ เหตุการณ์

ทั้งที่ๆ จริงๆ แล้ว บางทีฮีโร่ก็ไม่จำเป็นต้องไปช่วยเหลือคนอื่นอย่างเดียว แต่คือการทำหน้าที่ของตัวเองนั่นแหละ

ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด หยุดสร้างข่าวลือ มีสติในการเสพข่าว

และเลิกทำตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินใครต่อใคร

ผมเชื่อว่า ทุกคนต่างมีความเป็นฮีโร่ในตัวเอง