วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ทำงานต้องรื่นเริง-แต่…..

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ทำงานต้องรื่นเริง-แต่…..

 

แม้หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 และเมื่อหนังสือพิมพ์มติชนตีพิมพ์วางบนแผงหนังสือเมื่อ 9 มกราคม 2521 การดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และการบังคับใช้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) ยังคงนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ไม่เคร่งครัดนัก

การนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักถูกฟ้องร้องจากการเสนอข่าวที่กระทบกับบุคคลทั่วไปมากกว่ารัฐบาล หรือนักการเมือง เช่นของมติชน ซึ่งต้องใช้ทนายความจากสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ซึ่งขรรค์ชัย บุนปาน มีความคุ้นเคยกับเจ้าของสำนักงาน

กระทั่งเมื่อตัวขรรค์ชัยเป็นผู้เขียน และถูกฟ้องเอง จากนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ใช้นามปากกาว่า “นายรำคาญ” หรือ ประหยัด ศ. นาคะนาท ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ก่อนหน้านั้นส่งเสริมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แต่เมื่อได้รับแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ให้เป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวกับการอนุญาตออกหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกปิดในวันที่ 6 ตุลา 19 มีสมัคร สุนทรเวชเป็นอีกผู้หนึ่งในคณะ

ขรรค์ชัย หากจำไม่ผิดในนามปากกาว่า “ขรรค์ชัยศรี บุนปาน” เขียนไปทำนองว่า “นายรำคาญ” ผู้เคยส่งเสริมประชาธิปไตย กลับมาสนับสนุนเผด็จการ และมีภาพเขียนจากผู้เขียนภาพประกอบเป็นการ์ตูน วาดรูป “นายรำคาญ”  จับดินสอเขียนหนังสือ ปลายด้านยางลบเป็นภาพสัญลักษณ์สวัสดิกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ฮิตเลอร์ใช้หมายถึงเผด็จการ

นายรำคาญ หรือประหยัดศรี นาคะนาท มาเปลี่ยนเป็นประหยัด ศ. นาคะนาท เมื่อสมัยจองพล ป.พิบูลสงคราม ขรรค์ชัยจึงใช้ชื่อเขียนว่า “ขรรค์ชัยศรี บุนปาน” เขียนบทความที่ว่า (ขออภัยที่จำเนื้อหาไม่ได้ แต่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นเผด็จการ)

นายรำคาญใช้ทนายความจากสำนักที่ขรรค์ชัยคุ้นเคย “มติชน” จึงให้ทนายความ 2 คน คือ ทองใบ ทองเปาด์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ และทนายความที่ว่าความให้ฝ่ายหนังสือพิมพ์กับพี่ทวีป วรดิลก กวี นักเขียน และทนายความ ซึ่งรับเชิญเป็นที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์มติชนด้วย เป็นทนายความให้ โดยทวีป  วรดิลก เป็นทนายความหลัก

พี่ทวีปต้องไปซื้อเสื้อทนายความตัวใหม่มาสวมว่าความ “ตัวเก่าไม่รู้หายไปไหน หาไม่เจอ ไม่ได้ขึ้นศาลว่าความมาหลายปี ต้องใช้เสื้อตัวใหม่ เหมือนเป็นทนายเพิ่งจบกฎหมายมาใหม่ๆ”

 

วันที่ขรรค์ชัยต้องขึ้นให้การในฐานะเป็นจำเลย ทนายทวีปซักถามประโยคหนึ่งว่า รู้สึกอย่างไรที่เขียนบทความเรื่องนี้

จำเลยชื่อขรรค์ชัย ตอบชัดเจนว่า “รู้สึกรื่นเริงดีครับ” ได้ยินเช่นนั้น ทนายทวีปจึงถามกลับไปว่า “หา !!! ว่าไงนะ” ขรรค์ชัยตอบย้ำพร้อมรอยยิ้มว่า “รื่นเริงดีครับ” พร้อมอธิบายว่า “ผมทำงานเขียนหนังสือด้วยความรื่นเริงบันเทิง  เป็นงานที่ทำด้วยความรื่นเริง ไม่ซีเรียสอะไร”

ประโยคที่ว่า “รื่นเริงดีครับ” เป็นประโยคที่ขรรค์ชัยใช้บอกกับพี่เพื่อนน้องเสมอว่า เขาทำงานด้วยความบันเทิง รื่นเริง ให้ทุกคนทำงานด้วยความรื่นเริง งานจะได้ปรากฏออกไปสนุก ยิ่งหนังสือพิมพ์เป็นงานที่ซีเรียส ต้องยิ่งทำให้สนุก  คนอ่านจะได้สนุกกับเราด้วย แม้ประโยคที่พูดที่บอกไม่ใช่เช่นนี้ทั้งหมด แต่ทำนองนี้แหละครับ ใครที่รู้จักกับคุณขรรค์ชัย จะทราบดีว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่เคร่งเครียดอย่างใด กลับสนุกสนานร่าเริงดี

ทวีป วรดิลก นำคำให้การนี้มาเล่าให้ที่ปรึกษาและน้องบางคนฟังทุกครั้งที่พบกัน แล้วหัวร่อเสียงดังด้วยความขบขัน

เกี่ยวกับการถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท ขรรค์ชัยบอกกับทุกคนว่า ไม่เป็นไร ถ้าถูกฟ้องในเรื่องนักการเมืองทุจริต หรือทำผิด หรือไม่ถูกเรื่องถูกราว โทษฐานหมิ่นประมาทไม่ใช่โทษที่ต้องถูกประหารชีวิต อย่างดีก็ถูกปรับกับติดคุกไม่นาน เราไม่ได้ทำอะไรผิดเป็นอาชญากรรม ฆ่าใคร

ง่ายๆ สั้นๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราทำงานด้วยความสนุกสบาย

งานของ “จำเลย” หากไม่ได้ตัวการ หรือผู้เขียน บรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หรือได้ตัวการต้องให้บรรณาธิการร่วมรับผิดชอบเช่นกัน บรรณาธิการจึงต้องเป็นจำเลยด้วยทุกคดี

การเป็น “จำเลย” ในฐานะบรรณาธิการ คือไม่ได้เป็นตัวการกระทำความผิด การให้ปากคำ หรือให้การจึงเป็นความสำคัญที่จะกันตัวเองให้พ้นจากการรับผิด หรือไม่ต้องถูกลงโทษ หรือศาลตัดสินว่าเป็นความผิด โทษที่ได้รับอย่างมากแม้เป็นโทษจำคุกในคดีอาญา

ส่วนใหญ่ศาลท่านจะกรุณาลดโทษให้เป็นรอลงอาญา และมีโทษเฉพาะค่าปรับเท่านั้น

 

เริ่มแรกที่รับตำแหน่งบรรณาธิการ ต้องตกเป็นจำเลยไม่ว่าคดีที่มีตัวการคือนักเขียนมีตัวตน หรือถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการที่ลงข่าว ไม่สามารถจะหาผู้เขียนมาได้ ต้องเป็นจำเลยโดยปริยาย ขณะนั้นยังไม่มีการแก้กฎหมายโทษปรับให้สูงขึ้น  คดีหมิ่นประมาทตามมาตรา 238 จึงขึ้นศาลแขวงตามจำนวนของค่าปรับคือไม่เกิน 2 หมื่นบาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี

เป็นคดีที่เมื่อค่าปรับไม่เกินกว่านั้นไม่ต้องขึ้นศาลอาญา โอกาสที่ปรับโทษจำคุกเป็น “รอลงอาญา” จึงมีความเป็นไปได้มาก และโทษปรับจะลดลงเป็นเงินพันเงินหมื่น ไม่เกิน 2 หมื่นบาทเท่านั้น

ระหว่างที่เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการ มีเหตุวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎร ถึงขนาดด่าทอกันขณะสภาระหว่างเลิกประชุม คู่กรณีคนหนึ่งในเหตุการณ์นั้น คือสมัคร สุนทรเวช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงขนาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งใช้คำที่เราเรียกกันว่า “ด่าแม่”

ได้การ เรื่องความวุ่นวายถึงขนาดเกิดเรื่องราวจะชกต่อยและด่าทอกันในสภาเป็นรายงานข่าวในวันรุ่งขึ้น โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มติชนรายงานข่าวนี้ค่อนข้างละเอียด ผมเป็นบรรณาธิการยังอยู่ขณะที่หัวหน้าข่าวบรรยายข่าวนี้และจะพาดหัวข่าวเหตุการณ์นี้

ที่สุดพาดหัวข่าวซึ่งเกิดจากความคิดจากหลายคน มีบรรณาธิการอำนวยการผู้ช่ำชองในการพาดหัวข่าวชี้แนะด้วยว่าควรพาดหัวข่าวอย่างไร ผลออกมาเป็นพาดหัวข่าวว่า “กุ๊ยสภาอาละวาด” และอีกบรรทัด

“ด่า “….แม่” ลั่น” คำหน้าละไว้ฐานที่เข้าใจ มีภาพ “สมัคร” ตีพิมพ์ไว้กับพาดหัวข่าวด้วย

ผล-ถูก สมัคร สุนทรเวช ฟ้องในไม่กี่วันจากนั้นซิครับ มีผมเป็นจำเลยที่ 1

เพิ่งฟังคำพิพากษาตัวเองเป็นจำเลยคนเดียวคดีแรก รู้แน่นอนว่า ผิดแหง-แหง แล้วยังไง ยืนฟังคำพิพากษาไป ลุ้นแต่ว่าจะติดคุกหรือรอลงอาญาเท่านั้น

ยิ่งฟังอ่านคำพิพากษา เหงื่อยิ่งตก ขายิ่งสั่น….จนจบ