ปริศนาโบราณคดี : “มนุษย์สิงห์” สฟิงซ์ของชาวมอญ-พม่า

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ท่านที่เคยเดินทางมายังวัดพม่าในดินแดนล้านนา ย่อมพานพบประติมากรรมแปลกๆ หมอบบนฐานเจดีย์ทั้ง 4 มุม มีลักษณะคล้าย “สฟิงซ์” ของอียิปต์ คือเป็น “อมนุษย์” หรือ “กึ่งสิงห์กึ่งเทพ” บางคนเรียกว่า “นรสิงห์” หรือ “เทพสิงห์” แต่คำเรียกที่ตรงตัวที่สุดคือ “มนุษย์สิงห์”

มนุษย์สิงห์คืออะไร

ตกลงเป็นของชาวมอญหรือพม่ากันแน่

ในเมื่อจั่วหัวชื่อบทความประกบคู่กันทั้งสองชาติพันธุ์ แต่ทำไมปัจจุบันไม่พบมนุษย์สิงห์ในวัดมอญแถบภาคกลางอีกเลย

แต่กลับพบตามวัดพม่า-ไทใหญ่ทางภาคเหนืออย่างแพร่หลาย

อีกทั้งมนุษย์สิงห์ทำหน้าที่เหมือนหรือต่างจากสิงห์เฝ้าวัดทั่วไปหรือไม่อย่างไร มีอะไรเกี่ยวข้องกับสฟิงซ์อียิปต์หรือไม่ สายป่านโยงใยช่างยาวไกลขนาดนั้นเชียวหรือ

 

ตำนานมนุสสีหะของชาวมอญสะเทิม

ชาวมอญเรียกมนุษย์สิงห์เป็นภาษาบาลีว่า “มนุสสีหะ” โดยออกเสียงอย่างสำเนียงมอญว่า “แหมะนุดซอยฮะ” มีตำนานเล่าถึงการทำประติมากรรมรูปมนุษย์สิงห์ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “เที่ยวเมืองพม่า” ดังนี้

“เมื่อผ่านประตูด้านหน้าเรือนรับรองที่พัก มองเห็นรูปปั้นไม้แกะสลักนรสิงห์ ตั้งตระหง่านอยู่ 2 รูป โดยมีร่างเป็นสิงห์ หน้าตาเป็นคน แต่มีปีกบินได้เหมือนนก สอบถามประวัติความเป็นมา ได้ความว่า ชาวพม่าเรียกว่า มนุสสีหะ มีประวัติตามนิทานปรัมปราเมืองสะเทิมว่า เมื่อครั้งในยุคสุวรรณภูมิ ประมาณ พ.ศ.236 พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูต คือพระโสณะและพระอุตตระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้พบพวกยักษ์กินเด็กมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งสองจึงได้สร้างหรือแปลงร่างเป็นนรสิงห์ขับไล่ยักษ์กินเด็กให้หนีไป หลังจากนั้น ได้ปักหลักตั้งมั่นพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินี้ นรสิงห์จึงถือว่าเป็นเทพพิทักษ์ เป็นเครื่องหมายแห่งสิ่งชอบธรรมในพระพุทธศาสนา”

นัยแห่งข้อความนี้ สามารถตั้งข้อสังเกต แยกตีความได้ 4 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก ชาวมอญสะเทิมมีการอ้างถึงเหตุการณ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระโสณะกับพระอุตตระ ผู้ที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาประกาศศาสนธรรมยังสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่มีการเพิ่มอภินิหารให้พระธรรมทูตทั้งสองมีอิทธิฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะ ที่สามารถแปลงกายได้ (บ้างว่าเสกร่างได้) เพื่อกดข่มมนุษย์ผู้ป่าเถื่อนให้พ่ายแพ้

ประเด็นที่สอง เรื่องราวของ “ยักษ์กินเด็ก” สะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองในอุษาคเนย์ช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างป่าเถื่อน ยังเป็นสังคมบุรพกาลไล่ล่าหัวมนุษย์กันอยู่ ไม่ต่างจากเรื่องราวที่พบในท้องถิ่นอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ อาทิ ตำนานเรื่องลัวะที่ต้องการเข้ารีตมานับถือพุทธ แต่บรรพบุรุษของพวกตนยังต้องการกินเนื้อมนุษย์อยู่ เป็นต้น

สองประเด็นแรกนี้ ชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ทางความคิดอย่างเข้มข้น ในช่วงแรกแห่งการ “กว่าที่จะสถาปนา” พระพุทธศาสนาให้หยั่งรากลึกลงในดินแดนที่ผู้คนยังนับถือภูติผีปีศาจมาก่อน นั้นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ซึ่งเรื่องราวพิสดารพันลึกเหล่านี้ไม่พบในเอกสารชิ้นอื่น พบแต่เพียงร่องรอยของ “จารึกกัลยาณี” เขียนโดยพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์มอญเมื่อปี พ.ศ.2019 กล่าวถึงพระพุทธศาสนาจากอินเดียที่เผยแผ่มาสู่รัฐมอญในสุวรรณภูมิยุคพระเจ้าอโศกมหาราช

โดยพระโสณะและพระอุตตระ ซึ่งทั้งสองท่านต้องเผิชญหน้ากับอุปสรรคความยากลำบากโดยต้องช่วยกันขับไล่ “ยักษ์” (สัญลักษณ์ของอวิชชา) ออกไปจากดินแดนมอญ

ชาวมอญในอดีตนิยมเอาทางมะพร้าวหรือใบลานมาสานเป็นรูปมนุษย์สิงห์ ในลักษณะคนหัวเดียว แต่ลำตัวเป็นสิงห์แยกออกสองด้าน แล้วนำไปแขวนบนเปลทารกที่เกิดใหม่ (เหมือนคนไทยแขวนปลาตะเพียน) เป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้อง

เรียกโมบายที่แกว่งไกวไปมานี้ว่า “ยักขสีหะ” หรือ “ยักษสิงห์” (Rakkhasimha ภาษาพม่า ตัว R กับ Y ใช้แทนกัน) แปลว่า สิงห์ผู้ปราบยักษ์

ประเด็นที่สาม สมเด็จในกรมทรงใช้คำว่า “นรสิงห์” แทน “มนุษย์สิงห์” หลายจุด ดังนั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “นรสิงห์” กับ “มนุษย์สิงห์” อย่างชัดเจน

ประเด็นที่สี่ การใช้ “สิงห์” มาผสมกับร่างของมนุษย์ สามารถถอดรหัสคำอธิบายอย่างไรได้บ้าง ในเมื่อประเทศในแถบอุษาคเนย์ไม่ใช่แหล่งที่สิงโตอาศัยชุกชุม ผิดกับประเทศในแถบอียิปต์ ตะวันออกกลาง หรือกลุ่มเมโสโปเตเมีย อีกทั้ง “สิงห์” ในอีกโสดหนึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ที่ประกบคู่มากับสัญลักษณ์ของพระวิษณุด้วย

ดังนั้น จำเป็นต้องขยายความอธิบายในประเด็นถัดๆ ไป

 

นรสิงห์ในป่าหิมพานต์
กับนรสิงหาวตาร 

คําว่า “นรสิงห์” เมื่อมองเผินๆ แล้วน่าจะใช้แทนคำว่า “มนุษย์สิงห์” ได้ เนื่องจาก “นรชน” ก็หมายถึงมนุษย์ แต่เผอิญคำว่า “นรสิงห์” นี้ในทางโบราณคดีได้กลายเป็นชื่อเฉพาะของประติมานวิทยาไปแล้วถึง 2รูปแบบ

รูปแบบแรก คือ “นรสิงห์” หรือ “เทพนรสีห์” หนึ่งในสัตว์หิมพานต์ มีหัวและลำตัวท่อนบนเป็นคน ช่วงล่างดูคล้ายกวาง (ในทางประติมานวิทยา นรสิงห์ไม่ทำท่อนล่างให้เป็นสิงห์ แต่เหตุที่ชื่อมีคำว่า “สิงห์” เพราะมีพ่อเป็นราชสีห์) หากเป็นเพศเมียเรียก อัปสรสีห์

ถ้าเช่นนั้น นรสิงห์ก็ไม่อาจใช้เรียกแทน มนุษย์สิงห์ได้อย่างสนิทใจ เพราะตำราสัตว์หิมพานต์ได้กำหนดให้นรสิงห์เกิดจากพ่อที่เป็นราชสีห์ ไม่ได้เกิดจากการเสกสร้างนฤมิตใหม่โดยพระโสณะกับพระอุตตระ

สังเกตให้ดี นรสิงห์มักอยู่ในท่ายืนงดงามตามสระอโนดาต ไม่ได้นั่งหมอบหรือมีหน้าที่ขับไล่ยักษ์ พิทักษ์พระพุทธศาสนา

รูปแบบที่สอง ใช้เรียกตอนที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์อวตารมาเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงห์ก็เรียก “นรสิงห์” เช่นกัน เพื่อปราบยักษ์ “หิรัณยกศิปุ” ในช่วงที่โลกเกิดความวุ่นวาย เหล่าอธรรมอหังการ ก่อความไม่สงบ

แต่นรสิงห์ในร่างอวตารนี้ทำรูปลำตัวเป็นคนแต่หัวเป็นสิงห์ สลับกับมนุษย์สิงห์ที่หน้าเป็นคนแต่ร่างเป็นสิงห์

อย่างไรก็ดี ประเด็นการที่ทั้งพุทธและพราหมณ์ต่างนำเรื่องราวของ “สิงห์” ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย หรือเจ้าแห่งสัตว์ป่า มาทำหน้าที่ผู้ทวงคืนความสุขผดุงความถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไปว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ทั้งพุทธและพราหมณ์รับต้นแบบมาจากอารยธรรมใด

 

สฟิงซ์อียิปต์
สู่การปราบสิงโตของเมโสโปเตเมีย

การนำสิงโตมาผสมกับร่างของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พบในอารยธรรมอียิปต์ราว 4,500 ปีมาแล้ว จัดวางอยู่หน้ามหาพีระมิดที่เมืองกิเซ สฟิงซ์อียิปต์ทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์สุสานของฟาโรห์ โดยอัญเชิญใบหน้าของฟาโรห์ผู้ตายมาจำหลักบนใบหน้าสฟิงซ์

สิงโตที่หมอบนั้น ชาวอียิปต์มองว่าเป็นตัวแทนของสัตว์ที่มีพลังอำนาจมหาศาลเทียบได้กับแสงอาทิตย์ เห็นได้จากชาวอียิปต์นิยมวาดรูปสิงโตจู่โจมทำร้ายข้าศึกศัตรูบนจิตรกรรมฝาผนังเพื่อข่มขวัญ เมื่อนำใบหน้าของฟาโรห์มารวมในร่างของสิงโตผู้ทรงพลัง แต่กลับสยบยอมหมอบราบแก่ฟาโรห์ จึงมีความหมายประหนึ่งว่าฟาโรห์องค์นั้นคือผู้ชนะและมีความเป็นอมตะนิรันดร์เฉกเช่นดวงอาทิตย์

อียิปต์ถ่ายทอดอารยธรรมการทำสฟิงซ์เฝ้าสุสานให้แก่กลุ่มเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะอัสซีเรียกับเปอร์เซีย (ปัจจุบันคือแถบประเทศซีเรีย อิรัก อิหร่าน) เปอร์เซียถ่ายทอดต่อมายังอินเดีย

น่าประหลาดตรงที่ว่า เราไม่พบรูปแบบสฟิงซ์หมอบสี่ขาหน้าเป็นคนในอินเดียที่คอยเฝ้าสุสานหรือศาสนสถานต่างๆ

แต่พราหมณ์อินเดียกลับนำไปแปลงเป็นเรื่อง “นรสิงหาวตาร” สัญลักษณ์ของพระวิษณุ

ส่วนชาวพุทธอินเดียรับคติที่ว่า “สิงห์” มีความยิ่งใหญ่เป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง มารับใช้กลายสัญลักษณ์ของ “พระศรีศากยวงศ์” หรือราชสกุลวงศ์ของพระพุทธเจ้าโคตมะองค์ปัจจุบัน ในทางประติมานวิทยา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทำรูปสิงโต 4 ตัวหันหลังชนกันบนแท่งเสาประกาศธรรม

กระทั่งในวัฒนธรรมมอญสะเทิมยุคสุวรรณภูมิ หรือต้องเรียกว่า มอญยุคโบราณมากๆ จึงเกิดคติการนำ “สฟิงซ์” แบบอียิปต์-เมโสโปเตเมีย หวนกลับมาใช้อีกครั้ง ให้ทำหน้าที่ปกป้องยักษ์ (คนนอกศาสนา) ที่จะมาทำร้ายผู้บริสุทธิ์ (ใช้สัญลักษณ์เป็นเด็กทารก)

 

มนุษย์สิงห์ จากคติมอญสู่พม่า-ไทใหญ่

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ณ ปัจจุบันหรืออันที่จริงควรนับตั้งแต่ 500 ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เราไม่พบประติมากรรมรูปมนุษย์สิงห์ตามวัดของชุมชนชาวมอญต่างๆ อีกเลย ทั้งมอญในประเทศไทยและมอญในประเทศพม่า พบแต่เพียงรูปเสาหงส์ ตุงตะขาบ ซึ่งยังไม่มีการศึกษาว่าทำไมคติมนุษย์สิงห์จึงซบเซาสูญหายไปจากวัฒนธรรมมอญ

แต่มนุษย์สิงห์ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากชาวมอญ กลับไปได้รับความนิยมอย่างสูงตามวัดที่สร้างโดยชาวพม่า ต่อเนื่องมาจนถึงวัดที่สร้างโดยชาวไทใหญ่

หลักฐานการทำรูปมนุษย์สิงห์พบมากในแผ่นดินล้านนา ตามวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4-6 คือช่วงที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือ พ่อค้าคหบดีที่มาจากพม่า (ซึ่งในที่นี้ขอเรียกโดยรวมว่า “กลุ่มมอญ-ม่าน-เงี้ยว” เพราะไม่อาจแยกเชื้อชาติได้) นิยมสร้างรูปมนุษย์สิงห์ 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก เป็นมนุษย์สิงห์ 4 ตน ประดับอยู่บนฐานเจดีย์ทั้ง 4 มุม และมักอยู่บนฐานชั้นที่ 3 เมื่อนับจากล่างขึ้นบน ประติมากรรมที่ใช้ประดับตามมุมฐานเจดีย์ 4 ชั้นมีดังนี้ ชั้นล่างสุดคือ สิงห์ ชั้นที่ 2 เป็นรูปเจดีย์จำลอง (นักโบราณคดีเรียก “สถูปิกะ” คนล้านนาเรียก “ธาตุน้อย”) ชั้นที่ 3 มนุษย์สิงห์ และชั้นบนสุดคือ หม้อดอก (หม้อปูรณฆฏะ)

ฐานแต่ละชั้นค่อยๆ ลดหลั่นขึ้นไปจากใหญ่สู่เล็ก ในเมื่อมนุษย์สิงห์อยู่บนฐานชั้นที่ 3 ทำให้คนทั่วไปหากไม่แหงนหน้าเพ่งมองดีๆ ก็อาจเห็นตัวมนุษย์สิงห์ไม่ค่อยชัดนัก

ลักษณะที่สอง เป็นมนุษย์สิงห์ 1 คู่ วางหมอบอยู่หน้าทางเข้าพระวิหารของวัด บางแห่งมีสิงห์ตั้งประกบคู่ บางแห่งวางมนุษย์สิงห์คู่กับนาค

ไม่ว่าจะตั้งมนุษย์สิงห์ให้เฝ้าพระธาตุเจดีย์หรือเฝ้าพระวิหารก็ตาม ทั้งสองลักษณะย่อมแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สิงห์ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทวารบาล คอยเฝ้าพิทักษ์ปกป้องศาสนสถานให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในจังหวัดลำพูนโดยเฉพาะตามชุนชนชาวยอง พบรูปมนุษย์สิงห์จำนวนมาก หากไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับศิลปกรรมยองในเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า ก็ย่อมไม่เข้าใจ และอาจพลอยคิดไปว่า การทำรูปมนุษย์สิงห์ที่พบในลำพูนจำนวนมากเช่นนี้ คงรับอิทธิพลต้นแบบมาจากมาตุภูมิเมืองยองกระมัง

ครั้นเมื่อไปสำรวจศิลปกรรมที่เมืองยองในพม่า กลับไม่พบความนิยมในการทำรูปมนุษย์สิงห์แต่อย่างใด ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า ชาวยองที่อพยพมาอยู่เมืองลำพูนตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อเกือบ 220 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นผู้นำเอารูปแบบมนุษย์สิงห์มาสร้างที่ลำพูนแต่อย่างใด

ทว่ามนุษย์สิงห์ในชุมชนยองเหล่านี้ สร้างขึ้นในยุคคหบดี “มอญ-ม่าน-เงี้ยว” ที่เข้ามาค้าไม้เมื่อ 100-150 ปีมานี้เอง และพวกส่างหม่องผู้ร่ำรวยก็นำรสนิยมอันรุ่มรวย พร้อมคตินิยมเรื่องมนุษย์สิงห์ที่พวกเขารับจากมอญ มาสถาปนาในวัดที่พวกตนอุปถัมภ์ แม้ว่าบริเวณนั้นจะทับที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าโยน ลื้อ ขึน ยอง ฯลฯ