ฉลองทีปาวลี : ทำความเข้าใจ “พระแม่ลักษมี” กันเถิด | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เทศกาลทีปาวลี หรือ ทิวาลี (ออกเสียงใกล้เคียงภาษาเดิมว่า ดีปาวลี หรือ ดิวาลี) เป็นงานใหญ่งานหนึ่งของอินเดีย คำนี้แปลว่า “ทิวแถวของประทีป” เพราะเอกลักษณ์ของงานคือการจุดดวงประทีปสว่างไสวไปทั่วทุกแห่ง

ปีนี้รัฐอุตรประเทศ นำโดยมุขมนตรี โยคีอาทิตยนาถ เพิ่งจัดงานจุดประทีปห้าแสนดวงในเมืองอโยธยา เพื่อบันทึกลงกินเนสบุ๊ค ทำนองว่าจุดประทีปมากที่สุดในโลกอะไรแบบนี้

วันทีปาวลีจะตรงกับวันเดือนดับ (อมาวสี) ของเดือน “การติกะ” ตกราวตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน ที่จริงเทศกาลนี้มีงานหลายวัน แต่วันทีปาวลีถือกันว่าสำคัญที่สุด โดยในปี 2562 นี้ ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

การจุดประทีปรายรอบบ้านนั้น ท่านว่าเพื่อต้อนรับพระแม่ลักษมีเทวีแห่งโชคลาภเงินทองเข้ามาในบ้าน บ้างก็ว่าเป็นการต้อนรับพระรามเสด็จกลับมายังอโยธยา ถึงต้องทำ “โตรณะ” หรือซุ้มประตูป่า แล้วประดับด้วยประทีปสว่างไสว

เมื่อฟังเช่นนี้ชวนให้นึกถึงงาน “ยี่เป็ง” หรือลอยกระทงของทางเหนือ (วันเพ็ญเดือนยี่เหนือ) ที่เน้นการจัด “ประตูป่า” และจุดผางประทีปเพื่อต้อนรับ “พระเวสสันดร” เสด็จนิวัติบ้านเมืองหลังจากไปอยู่ป่าหลายปี (เข้าใจว่าประเพณีเดิมเขาไม่เน้นลอยกระทงกันอย่างสมัยนี้)

คติคล้ายคลึงกันมาก ผิดแต่ของอินเดียเป็นเดือนดับของเราเป็นเดือนเพ็ญ

 

ท่านอาจารย์บัณฑิตลลิต ครูของผมเคยบอกไว้ว่า เหตุที่จุดประทีปกันในเทศกาลนี้ ก็เพราะอมาวสีในเดือนการติกะ ถือเป็นวันที่มืดมิดที่สุดในรอบปี (ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์) ดังนั้น มนุษย์แต่ในสมัยโบราณจึงจุดประทีปขึ้นขับไล่ความมืดมิดนั้นเป็นการเฉพาะ (แต่เราผู้อยู่กับไฟฟ้าคงไม่อาจสังเกตได้ว่า ค่ำคืนไหนมันมืดมากน้อยกว่ากัน)

ตามประเพณีจึงนิยมเริ่มจุดประทีปจากคันประทีปดวงที่เก่าที่สุดในบ้านก่อน และมักให้ภรรยาหรือคุณแม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระลักษมีในบ้านเป็นผู้เริ่มจุด

เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างของวันนี้ คือจะมีการบูชา “พระแม่ลักษมี” โดยเฉพาะ เพื่อเน้นพรขอความร่ำรวย ความมีโชค และความงาม มีการทำความสะอาดบ้าน จับจ่ายซื้อของในวันก่อนหน้า (วันธนเตรสะ) โดยเฉพาะข้าวของจำพวกโลหะ เช่น ทอง หรือหม้อชามรามไห

ครั้นเมื่อบูชาและจุดประทีปแล้วก็เฉลิมฉลองกัน มีจุดพลุจุดประทัด มองไปทางไหนก็มีแต่แสงวับแวม และสีแดงๆ ทองๆ

บางคนถึงบอกว่าทีปาวลีก็เหมือนงานตรุษจีน เพียงแต่เป็นของคนอินเดีย หากกล่าวถึงบรรยากาศก็ใช่เลยล่ะครับ คนอินเดียบางคนถือเป็นวันปีใหม่ (ลำลอง) และว่ากันว่า วันนี้เป็นวันสำคัญพิเศษของคนวรรณะไวศยะคือพ่อค้าวานิชต่างๆ

ถ้าผมจำไม่ผิด วันสำคัญของวรรณะพราหมณ์คือ ศราวณีปูรณิมา ของวรรณะกษัตริย์คือวันวิชยทัศมี และของศูทรคือ โหลิ หรือวันโฮลี

อันนี้เป็นการให้ความสำคัญตามลักษณะเฉพาะของงานนั้นๆ เพราะทีปาวลีเน้นขอพรเรื่องการค้าขายและเงินทอง วิชยทัศมีเน้นชัยชนะ ส่วนโหลินั้น เน้นการละเล่นแบบบ้านๆ เน้นสนุกหยาบโลน ท่านจึงว่าเป็นวันฉลองสำคัญของพวกศูทร แต่ที่จริงทุกวรรณะก็ฉลองทุกเทศกาลข้างต้นในแบบของตัวเองครับ

 

กลับมาที่ทีปาวลี การบูชาพระแม่ลักษมีในเทศกาลนี้ จะบูชาแต่พระองค์อย่างเดียวหรือบูชาคู่กับพระคเณศ หรือจะบูชาแบบสามองค์คือร่วมกับพระคเณศและพระสุรัสวดีด้วยก็ได้ ท่านว่าเพื่อพรครบทั้งสามประการ คือความไม่มีอุปสรรค (พระคเณศ) ความร่ำรวย (พระลักษมี) และความมีสติปัญญา (พระสุรัสวดี) อันเป็นยอดพรที่ทุกคนต้องการ

บางคนเน้นรวยอย่างเดียวก็อาจบูชาร่วมกับท้าวกุเวรและชายาของท่าน เพราะถือว่า เงินมาต้องมีคนเก็บรักษา และพระกุเวรนี่แหละเป็นผู้รักษาสมบัติของพวกเทวดาหรือคุมพวกสมบัติในแผ่นดิน หรืออาจถือคติว่า พระกุเวรนี่แหละที่ถือกุญแจทรัพย์ของพระลักษมี ถ้าบูชาแต่เจ้าของทรัพย์แต่ไม่บูชาคนถือกุญแจ กลัวจะไขออกมาไม่ได้

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะพระกุเวรนั้นคือหัวหน้าของยักษ์หรืออสูร (หรือรากษส ซึ่งก็ใกล้ๆ กัน) และมีอะไรเกี่ยวกับพระลักษมีอยู่พอสมควร

พระแม่ลักษมีเป็นหนึ่งในเทวีที่สำคัญที่สุดและเก่าแก่มากองค์หนึ่ง เพราะพระองค์เป็นเทวีที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเวท และยังนับถือบูชาแพร่หลายไปยังพุทธศาสนาและศาสนาไชนะด้วย

แต่เดิมคงมีเทวีลักษมีและเทวี “ศรี” แยกออกจากกัน ภายหลังจึงนำมารวมเป็นองค์เดียว ซึ่งน่าจะหมายสภาวะของสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ ฯลฯ ศรีจึงหมายถึงพระลักษมีก็ได้

มีบทสวดที่สำคัญ คือ “ศรีสูกตะ” เป็นบทสรรเสริญพระศรี ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท และยังใช้สวดท่องกันจนถึงทุกวันนี้

 

ผมเข้าใจว่า ความเชื่อเรื่องพระลักษมีแม้ว่าจะมีมาในพระเวท แต่ก็คงแพร่ไปในหมู่คนพื้นเมืองด้วย ทั้งฝั่งทั้งตะวันตกและตะวันออกของอินเดียมีการนับถือพระแม่ลักษมีในกลุ่มคนพื้นเมืองหลากหลายลักษณะ เช่นทางมหาราษฏร์มีพระแม่ท้องถิ่นหลายองค์ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นภาคหนึ่งของพระลักษมี เช่น เจ้าแม่ปัลยังคภวานี หรือในงานทุรคาบูชาของคนพังคลีก็บูชาพระแม่ลักษมีคู่ไปด้วย

ในยุคปุราณะ มีตำนานว่าพระลักษมีเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (เธอจึงเหมือนกับเทวีอโฟรไดท์หรือวีนัสในอารยธรรมกรีก – โรมัน ซึ่งโบราณ) และสุดท้ายพระลักษมีได้กลายเป็นชายาของพระวิษณุ

ผมเก็บความคิดที่น่าสนใจบางอย่างมาจากบทความเรื่อง On Diwali, understanding the nature of wealth through the mythology connected with goddess Lakshmi และ Decoding Lakshmi ของ เทวทัตต์ Devdutt Pattanaik

ดังนี้

 

ดร.เทวทัตต์ กล่าวว่า สำหรับโลกธรรมชาติ “อาหาร” คือความอุดมสมบูรณ์ สำหรับโลกของวัฒนธรรม “เงิน” คือความอุดมสมบูรณ์ และไม่ว่าอาหารหรือเงิน ก็สะท้อนความเป็นพระแม่ลักษมีในต่างยุคต่างสมัย

ในบางตำนาน พระลักษมีกำเนิดในพวกอสูร คือว่าเป็นธิดาของอสุรวรุณ (วรุณในฤคเวทเป็นอสูร) หรือ อสูรปุโลมัน หรือฤษีภฤคุ (ที่บางครั้งเป็นคุรุของพวกอสูร)

แต่อสูรในที่นี้ยังมิได้มีความหมายลบทางศีลธรรมดังที่ปรากฏในภายหลัง คือจัดเป็นเพียงอมนุษย์จำพวกหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง “เทวะ” และอสูรต่างมีกำเนิดเดียวกัน (คือเป็นลูกพระประชาบดีจากนางทิติและอทิติ) เทวะอยู่บนฟ้า ส่วนพวกอสูรนั้นอยู่บนแผ่นดินหรือใต้พิภพ

ในศาสนาไชนะจึงเรียกพระปัทมาวตี หรือพระลักษมีในเวอชั่นของศาสนาไชนะว่าเป็น “ยักษิณี” องค์หนึ่ง เพราะยักษิณีเกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

แผ่นดินนั้นย่อมเป็นบ่อเกิดของทรัพย์สินความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชพรรณธัญญาหารและรัตนชาติต่างๆ (นั่นแหละคือพระลักษมี) แต่อสูรย่อมหวงทรัพย์ของตนในแผ่นดินนั้น เหมือนท้าวกุเวรที่หวงกุญแจไขขุมทรัพย์ หรือเหมือนที่ตำนานเล่าว่า อสูรปุโลมันบิดาของพระลักษมีไม่ยอมให้พระองค์เสด็จไปไหนง่ายๆ

ทรัพย์จะหลุดออกจากแผ่นดินได้ก็ต้องอาศัยพลังของเทวะทั้งหลาย คือ สุริยะ (พระอาทิตย์) วายุ(ลม) อัคนิ(ไฟ) อินทร์ (ฝน) ช่วยกันนำทรัพย์นั้นขึ้นมาจากการครอบครองอสูรเพื่อโปรยหว่านให้มนุษย์ (คือช่วยทั้งกร่อนทำลายและเสริมหนุนกสิกรรมของคน) อสูรและเทวะจึงรณรงค์สงครามกันด้วยอาการเช่นนี้ในโลกแห่งธรรมชาติ

การต่อสู้กันระหว่างเทวะและอสูรจึงเป็นวงจร หมุนเวียนไปไม่สิ้นสุดแม้ในปัจจุบันกาลนี้

 

แม้แต่ตัวมนุษย์เองก็ต้องออกแรงหว่านไถ คือยุดยื้อฉุดเอาพระลักษมีออกมาจากใต้พิภพ (ธัญชาติ ผลาหาร รัตนมณีสินแร่ ฯลฯ) และอาศัยความช่วยเหลือของเทวะทั้งหลาย เราถึงได้มีอาหารสมบูรณ์ตลอดจนทรัพย์สินอันขุดรื้อได้มาครอบครอง

ทรัพย์ที่มนุษย์ขุดรื้อเอาจากธรรมชาติจึงสะท้อนออกมาในสัญลักษณ์ “หม้อน้ำ” ที่พระลักษมีถืออยู่ เพราะหม้อน้ำคืออุปกรณ์ที่เราขนถ่ายเอาทรัพย์จากโลกธรรมชาติ (ไม่ว่าน้ำ อาหาร หรือรัตนชาติ) มาไว้กับตัวมนุษย์เอง

ในเมื่อพระแม่ลักษมีเป็นทรัพย์ จึงตีความได้ว่า พระองค์คือ “อรรถ” ในเป้าหมายของชีวิตสี่ประการตามคติฮินดู(ปุรุษารถะ 4) พระวิษณุสวามีของพระองค์คือ “ธรรม” เพราะพระองค์ย่อมถนอมโลกด้วยธรรม และโอรสของทั้งคู่ คือ “กามเทพ” ซึ่งคือ “กามะ” นั่นเอง

ดังนั้น เงินทองหรือ “อรรถ” กับ “กาม” ก็ต้องเดินตาม “ธรรม” คนอินเดียถึงมีคำกล่าวว่า “พระลักษมีย่อมไม่อยู่ที่ใดนาน หากที่นั่นไม่มีพระวิษณุประทับอยู่”

ความร่ำรวยโดยปราศจากศีลธรรมกำกับ จึงอาจปลาสนาการไปโดยง่าย