มนัส สัตยารักษ์ | “อนาคตใหม่” ที่ต้องประเมินใหม่

หลายสื่อต่างเล่นงานธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีให้การตอบคำถามในศาลรัฐธรรมนูญกรณี กกต.ขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับ “การถือครองหุ้นสื่อ” ว่า “จำไม่ได้” หลายครั้ง

บางสื่อวิจารณ์ว่าเป็นความบกพร่องทางการใช้ความจำ หรือสืบเนื่องจากธนาธรพูดแก้ตัวมากมายด้วยความคิดที่พลุ่งพล่าน ทำให้ความจำสับสน

แต่ผมกลับเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง…ผมเห็นว่าการตอบบางคำถามว่า “จำไม่ได้” ในห้องพิจารณาของศาลนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของคนที่ “เลือก” จะจำสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ผนึกไว้ในสมองก้อนเล็กๆ ซึ่งก็เท่ากับเลือกที่จะไม่จำสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่มีประโยชน์

ผมเองเคยใช้คำตอบว่า “จำไม่ได้” ในศาลบ่อยๆ เมื่อถูกถามในรายละเอียดที่คิดว่าไม่สำคัญ เช่น คำถามว่า “พยานเป็นสารวัตรมากี่ปีแล้ว?”

ด้วยความที่ผมเป็นสารวัตรหลายตำแหน่งและนานปีจนเบื่อที่จะจำ ผมจึงคำนวณอย่างสับสนและไม่ค่อยแน่ใจ แต่ก็ไม่อยากตอบผิด จึงตอบไปว่า “จำไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่มีอาการที่เรียกว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม”…ผมไม่ได้ลืมตัวจนเผลออธิบายว่า “เรื่องตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผม” (ฮา)

ความสำคัญของการ “ถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน” อยู่ตรงที่ เป็น “ข้อห้าม” ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งห้ามทั้งการเป็นเจ้าของและถือหุ้น ทั้งในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม

พอถึงยุครัฐธรรมนูญ 2560 “ข้อห้าม”นี้ก็ยังคงอยู่ แต่เลื่อนเข้ามาห้ามตั้งแต่ก่อนการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือรับการสรรหาเป็น ส.ว.เลยทีเดียว ไม่ต้องรอให้ได้ตำแหน่งทางการเมืองก่อน

เหตุผลของกฎหมายนี้เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองครอบงำสื่อ ถือเป็นกฎหมายพิเศษ ระบุว่า “เป็นความผิด” ไม่ใช่เป็นความผิดในตัวของมันเอง กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ ไม่เป็นอาชญากรรม

เป็นกฎหมายไม่โบราณแต่ล้าหลัง เพราะ “สื่อ” สมัยใหม่ในยุคนี้ก้าวไปไกลแล้ว ผลิตโดยไม่ต้องมีโรงพิมพ์หรือสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ สื่อสมัยใหม่มีคอนเทนต์ของตัวเอง ลงทุนไม่มาก และหากมีนักการเมืองผลิตอย่างผิดมโนธรรมก็มีกฎหมายอื่นไว้ชำระอยู่แล้ว

การไต่สวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหนนี้ดำเนินไปตามกฎหมายพิเศษ ที่น่าจะมีผลเฉพาะตัวนายธนาธรว่า “ขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่” เท่านั้น

ความน่าสนใจของ “อนาคตใหม่” อยู่ตรงที่ เป็นพรรคการเมืองในปี 2561 แต่ผลการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ได้ ส.ส.ถึง 80 คน เป็นอันดับ 3 รองจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย และได้อันดับเหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีอายุ 74 ปี

นิติพงษ์ ห่อนาค (ดี้) ศิลปินนักแต่งเพลง เขียนหรือพูดที่ไหนผมจำไม่ได้ ทำนองว่าเสียดายที่ธนาธร หัวหน้าพรรคใช้พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงโดยไม่จำเป็น เพียงเพื่อสร้างบุคลิกใหม่ของนักการเมืองเอาใจวัยรุ่น เพราะแค่วางตัวอย่างธรรมดาก็ชนะใจคนรุ่นใหม่ไปทั่วประเทศอยู่แล้ว ความแข็งกร้าวรุนแรงจะทำให้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจของคนส่วนหนึ่ง และจะเสียหายต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พูดคุยกับนพรัฐ พรวนสุข ในรายการ “TALK NEWS ตัวจริงเสียงจริง” เมื่อพูดเชิงวิเคราะห์ถึงพรรคอนาคตใหม่ เขากล่าวว่า “อุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ก็อย่างที่เขาพูดกันคือ ต้องการเอาอะไรใหม่ๆ เข้ามาในประเทศชาติบ้านเมือง ล้มความเชื่อเก่า ล้มสิ่งสักการบูชา สถาบันต่างๆ”

“มันหนักไปหน่อย และไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านเขาจะรับกันได้แค่ไหน”

“ข้อเสียคือ มองโลกในจุดเดียว…จุดที่ตัวเองต้องการ”

ผมเชื่อความคิดของนิติพงษ์ ห่อนาค เพราะผมเองก็คิดเช่นนั้น พร้อมกันนั้นก็ไม่สามารถมองข้ามความเห็นของสุรชัย จันทิมาธรได้ เพราะความจริงเป็นดังที่เขาพูดทุกประการ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า วัน-เวลาและประสบการณ์ จะทำให้แกนนำพรรคค่อยๆ ปรับตัว ถอยมาอยู่ในจุดที่เหมาะสมตามสถานะของประเทศและตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้ในภายหลัง

แต่ในหลายคำให้การของธนาธรในอาการของคนป่วย “ฮ่องเต้ซินโดรม” กลางศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องหันมาประเมินพรรคอนาคตใหม่-กันใหม่…

คงจำกันได้ว่า ในช่วงหาเสียงก่อน “เลือกตั้ง 62” พรรคอนาคตใหม่มีกระแสได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี ธนาธรหัวหน้าพรรคได้ประกาศเจตนารมณ์ของพรรคอย่างคึกคะนองว่า “จะพาทักษิณกลับบ้าน” ทั้งที่ก่อนหน้านั้น นายกฯทักษิณ ชินวัตร เคยต่อว่าสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคนใกล้ชิด ทำนองว่าคุมหลานธนาธรไม่ได้ และสุริยะตอบว่า “แม่เขาก็ยังคุมไม่ได้เลย”

สุริยะเล่าว่า ธนาธรครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา เป็นคนมีอุดมการณ์ ต้องการเห็นประเทศสมบูรณ์แบบ ธนาธรไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทักษิณและสุริยะหลายประเด็น เช่น การวางท่อก๊าซที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ครั้นแล้วในวาระ “เลือกตั้ง 62” ธนาธรกลับช็อกผู้คนด้วยนโยบาย “พาทักษิณกลับบ้าน”

แต่แล้วในศาลรัฐธรรมนูญ ธนาธรก็ทำดับเบิลช็อกผู้คนอีกครั้ง ด้วยคำพูด

“ผมตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำงานการเมืองโดยไม่ให้มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างนายทักษิณ ชินวัตร…ผมไม่ต้องการเข้ามาเพื่อมีผลประโยชน์เหมือนทักษิณ”

ซึ่งเท่ากับธนาธรกลับไปเหยียบหัวทักษิณหวังเอาตัวรอด จึงถูกสาวกและคนรักทักษิณบริภาษและประณามอย่างสาดเสียเทเสีย ขณะเดียวกันก็ถูกมองด้วยสายตาที่ประเมินใหม่

ธนาธรให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่า จะไปขอโทษพรรคเพื่อไทย ลักษณะอาการของธนาธรตอนนี้เป็นทำนองเดียวกับที่พยายามชี้แจงกรณีไปแสดงความร่วมมือกับโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกง

ไม่แน่ว่าจะมีใครรับฟังและยอมเชื่อบ้างหรือไม่!

ประหนึ่งดั่งถูกธรรมชาติลงโทษ…ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญกับความปั่นป่วนกรณีลูกพรรคแหกโผลงมติในสภา กรรมการพรรคลาออกจากตำแหน่งบริหาร สมาชิกพรรคต่างจังหวัดลาออกและถอนตัว ล่าสุดคือพลิกแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม

ทุกคนทุกฝ่ายพูดกับสื่ออย่างติดลบต่อพรรค แต่แกนนำแสดงท่าทีไม่ยี่หระ ยังคงเดินหน้าไปตามแนวทางเดิม…ก้าวร้าวและรุนแรงเกินความจำเป็น!

จึงเป็นเรื่องของประชาชนที่เคยฝากความหวังใหม่ๆ ไว้กับพรรคอนาคตใหม่ ควรต้องไปประเมินกันใหม่เอาเองว่าจะยังสนับสนุนในการเลือกตั้งซ่อม หรือเลือกตั้งทั่วไป (ถ้ามี) หรือเลือกตั้งในสนามเล็กส่วนภูมิภาคในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่