การศึกษา / ตีแผ่ปัญหา ‘สอบครูผู้ช่วย’ ‘บัณฑิต’ นับแสนถูกลอยแพ

การศึกษา

 

ตีแผ่ปัญหา ‘สอบครูผู้ช่วย’

‘บัณฑิต’ นับแสนถูกลอยแพ

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่สอบบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีการศึกษา 2562

ด้วยเหตุผลว่ารายชื่อคงค้างในบัญชีจากปีก่อน ยังมีมากพอจะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563

จนทำให้คนที่เกี่ยวข้องและผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาออกมาให้ความเห็นอย่างเผ็ดร้อน เพราะเรื่องนี้สร้างแรงกระเทือนตั้งแต่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สพฐ. ตลอดจนหน่วยผลิตครูอย่างมหาวิทยาลัย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นจะเป็น บัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และนิสิตนักศึกษาที่จะจบหลักสูตรครูในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 ที่จะโดนลอยแพ และต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564

แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าถึงตอนนั้นอัตราบรรจุจะไม่ลดฮวบลงในเมื่อทราบกันดีว่า รัฐบาลพยายามควบคุมอัตรากำลังข้าราชการ ความพยายามควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาลโดย ศธ. ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้ครูลดน้อยลง ตลอดจนการเอาอัตราบรรจุล่วงหน้าไปผูกกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นก่อนหน้านี้

 

ประเด็นนี้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การที่ สพฐ.ไม่เปิดสอบครูผู้ช่วยในปีนี้  ทำให้เด็กที่จบการศึกษาปี 2562 และ 2563 ที่จบปีละประมาณ 35,000 คน รวม 2 ปีกว่า 70,000 คน ตกค้าง และต้องไปสอบรวมกับเด็กที่จบในปี 2564 รวม 3 ปีกว่า 100,000 คน ยังไม่รวมผู้ที่สอบไม่ผ่านการคัดเลือกในปีก่อนๆ ที่ตกค้าง และจะมาสมัครสอบด้วย

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพล ยังได้วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่า ถือเป็นความล้มเหลวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ. สถาบันผลิตครู และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ที่ต้องรับผิดชอบ ควรวางแผนอัตรากำลังและผลิตครูในระบบปิด วางแผนกำหนดทิศทาง กำหนดอัตรารองรับให้ชัดเจน

ซึ่งสอดคล้องกับ ศ.พิเศษ ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ออกมาแสดงความเห็นว่า การลอยแพนิสิตนักศึกษาที่เรียนครู ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะอัตราว่างที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือจัดสรรอัตราว่างจากการเกษียณในแต่ละปี 100% และในปี 2562 มีอัตราว่างของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 28,246 คน หากหักลบการบรรจุครูคืนถิ่นกว่า 2,000 คน เท่ากับว่าอัตราที่สามารถบรรจุได้มีถึง 26,246 อัตรา!!

เกิดคำถามว่า สพฐ.จะเรียกบรรจุจากรายชื่อคงค้างถึงกว่า 26,000 อัตราเลยหรือ??

อย่างไรก็ตาม ศ.พิเศษ ดร.สมบัติ ยืนยันว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2562 และผู้ที่จบก่อนหน้านั้น ต้องมีสิทธิสอบบรรจุในอัตราว่างจากการเกษียณอายุด้วย

 

ร้อนถึง นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ออกมาชี้แจงอย่างละเอียดยิบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะแผนการผลิตครูกับตำแหน่งว่างไม่สอดคล้องกัน และการสอบครูผู้ช่วย เป็นการเปิดสอบตามสาขาวิชาเอกที่แต่ละจังหวัดต้องการ เมื่อเปิดสอบแล้วจะขึ้นบัญชีได้ 2 ปี คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะเรียกบรรจุตามบัญชีที่ขึ้นไว้จนหมดก่อน

“สพฐ.เองก็อยากฝากคำถามไปยัง อว.และสถาบันผลิตครูว่า ก่อนผลิตได้ดูอัตราว่างหรือไม่ หรือผลิตตามสภาพที่อยากผลิต ตรงนี้ต้องไปถามทาง อว. วันนี้ สพฐ.ไม่ใช่หน่วยงานที่จัดสอบ หน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดสอบอย่างแท้จริงคือ กศจ. สพฐ.เป็นหน่วยงานที่แจ้งขอใช้อัตราว่างในการขอบรรจุคน ยืนยันว่าการเปิดสอบครูผู้ช่วยจะทำได้ ก็ต่อเมื่อมีอัตราว่าง โดย กศจ.เป็นผู้จัดสอบ ผมไม่สามารถยกเลิกบัญชีเพื่อเปิดสอบใหม่ได้เพราะผิดกฎหมาย” นายอำนาจระบุ

เช่นเดียวกับ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ให้ความเห็นว่า แผนการผลิตที่คุรุสภาดู จะไม่ได้ไปกำหนดจำนวนให้ แต่ดูจำนวนที่อว. รับรองในแต่ละสาขา จึงเป็นแผนอิสระของมหาวิทยาลัย ขณะที่ สพฐ. มีตัวเลขอัตราเกษียณอยู่แล้ว และสถาบันผู้ผลิตจะต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปวิเคราะห์ว่าควรจะผลิตเท่าไร

ด้านเจ้ากระทรวงอย่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. รับทราบปัญหา อยู่ระหว่างแก้ไข โดยดูโครงสร้างทั้งระบบ ซึ่งพยายามนำเรื่องทั้งหมดมากางดูเพื่อวางแนวทางแก้ไข

“อยากให้ทุกภาคส่วนใจเย็น จะพยายามทำให้ระบบภาพรวมมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต”

ทั้งนี้นายณัฏฐพล เตรียมหารือกับ อว. เพื่อไม่ให้การผลิตครู เกิดปัญหาครูล้น หรือผลิตเกินอย่างอดีตอีก

 

อย่างไรก็ตามผู้แทนสถาบันผลิตครูอย่าง นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (มรภ.ทปอ.) ออกมายอมรับว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีอิสระในการผลิตครู ต่างคนต่างผลิต จนทำให้จำนวนบัณฑิตที่ออกมาเกิน

จากนี้สถาบันฝ่ายผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่แค่ มรภ. ต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยใดจะผลิตสาขาไหน จำนวนเท่าไร

ขณะเดียวกันต้องดูเรื่องของการมีงานทำ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ ต้องส่งเสริมความรู้และความสามารถที่จะไปประกอบวิชาชีพอื่นได้ด้วย

ในส่วนของ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกมาแก้ไขปัญหาโดยให้โจทย์มหาวิทยาลัย 2 เรื่อง คือ การเตรียมครูในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ตลอดจนจำนวนการผลิตและความต้องการ แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องมองเชิงระบบ ซึ่งการผลิตครูในระบบปิด ก็เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา

    “การสอบครูผู้ช่วย” จึงยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตากันต่อไปว่า ศธ.และ อว.จะร่วมมือหาทางออกอย่างไร หากท้ายสุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นิสิตนักศึกษากว่า 100,000 คนที่ถูกลอยแพจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอนาคต

  ถึงเวลาหรือยังที่จะนำระบบปิดมาใช้กับการผลิตครู เพื่อสร้างความเข้มข้นให้กับคุณภาพบัณฑิตที่จะจบออกไป เป็นคำถามที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลายจะต้องมานั่งจับเข่าพูดคุยหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายใหญ่จนสั่นคลอนระบบการผลิตครูทั้งระบบ!!