วิวาทะ พุทธธรรม โต้แย้ง จาก อนันต์ เสนาขันธ์ ประเด็น “นิพพาน”

แท้จริงแล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างที่ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ระบุว่า ท่านพุทธทาสภิกขุได้จัดขั้นของ “นิพพาน” ไว้ 3 ระดับ

1 ตทังคนิพพาน 1 วิขัมภนนิพพาน 1 ปรินิพพาน

กระนั้น วิวาทะอันเกิดขึ้นดังที่ได้ยกมาแสดงให้เห็นเป็นลำดับ โดยเฉพาะจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นเรื่องของ “ภาษา” และ “มุมมอง”

ภาษาในทาง “โลก” กับ ภาษาในทาง “ธรรม”

แม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะนิยามความหมายอันแตกต่างระหว่าง “ภาษาคน” กับ “ภาษาธรรม” เอาไว้ค่อนข้างแจ่มชัด แต่ก็แทบไม่เกิดประโยชน์

ในที่สุดแล้วก็เท่ากับยืนยันต่อ “มุมมอง” อันแตกต่างกัน

คน 1 มองเห็นกระบวนการบรรลุธรรม หรือแม้กระทั่งขั้นสูงสุดอย่างที่เรียกว่า “นิพพาน” เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้

ไม่ว่า “ฆราวาส” ไม่ว่า “บรรพชิต”

แต่อีกคน 1 มองเห็นกระบวนการบรรลุเป็นเรื่องสูงสุด ยากลำบาก คดเคี้ยว ยาวนานวกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ “ฆราวาส”

ท่าทีของท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ประเภท 1 ท่าทีแบบนี้เองที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า เส้นทางของท่านถลำลงไปบนเส้นทางแห่งมหายาน กระทั่งกลายเป็น “วิวาทะ” อย่างอึกทึกครึกโครมตามมา

ขอให้อ่าน ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ต่อไป

 

อนันต์ เสนาขันธ์ ยอมรับเฉพาะจิตที่หมดสิ้นอนุสัยแล้วเท่านั้นว่าเป็นจิตที่บรรลุ “นิพพาน” ได้ เขาจึงคัดค้านท่านพุทธทาสอย่างรุนแรงเมื่อท่านให้ความหมายของ “นิพพาน” กว้างออกไป

เขากล่าวว่า

“พระพุทธทาสพยายามบิดเบือนคำอธิบายความหมายของคำว่า “นิพพาน” ซึ่งเป็นธรรมที่ยากและลึกซึ้งอย่างยิ่ง โดยให้คำคำนี้หมายถึงอะไรบางอย่างที่ง่าย (แก่การบรรลุ) เสียเหลือเกิน ดูราวกับว่าพระพุทธทาสไม่พอใจในความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วท่านพุทธทาสไม่ได้นำเสนอ “นิพพาน” ในภาวะของภาวะที่เข้าถึงได้ง่ายแต่อย่างใด ท่านยอมรับว่า “นิพพาน” เป็นภาวะเหนือคำบรรยาย คือ ไม่อาจใช้ถ้อยคำหรือหลักเหตุผลมาพรรณนาได้อย่างเพียงพอ

ท่านกล่าวว่า

“นี่คือความยากหรือความลึกซึ้งของความหมายของคำคำนี้ (คำว่านิพพาน) เพราะโลก (ในการเรียนรู้ของคนเรา) ยังขาดคำศัพท์ในทางภาษาที่จะแสดงถึงภาวะอันเลยพ้นโลกไปอย่างมาก-คือภาวะที่เข้าถึงได้โดยไม่ประกอบทั้งความดีและความชั่ว-ไม่ประสบทั้งความสุขและความทุกข์-แต่เป็นภาวะที่เราต้องขอเรียกในทำนองคาดหมายว่า “พระนิพพาน”

ถึงกระนั้น ท่านพุทธทาสก็เห็นว่า “นิพพาน” ไม่ใช่ภาวะที่เลยพ้นคำบรรยายด้วยสาเหตุที่ “นิพพาน” อยู่เลยพ้นโลกทางวัตถุ แต่เป็นเพราะ “นิพพาน” อยู่เลยพ้นโลกทางจิตตามปกติของคนเราซึ่งถูกอวิชชารบกวนและทำให้ขุ่นมัวไป

ทั้งๆ ที่ “นิพพาน” นั้นก็มีพื้นฐานอยู่ในประสบการณ์ประจำวันของคนเรานั่นเอง

 

ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความหมายของ “นิพพาน” ดังกล่าวแล้วนี้สะท้อนให้เห็นทัศนะที่แตกต่างกันของ อนันต์ เสนาขันธ์ กับ ท่านพุทธทาส

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของพุทธธรรมในแง่ที่เป็นศาสนา

อนันต์สรุปให้ดำรงความแตกต่างที่เคยมีตลอดมาระหว่างรูปแบบการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาของฆราวาสกับของพระสงฆ์ พร้อมกันนั้นเขาก็ประณามการที่ท่านพุทธทาสตีความ “นิพพาน” ตามแบบนักประชานิยมว่าเป็นเรื่องตื้นเขิน

อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสต้องการให้คติในพระพุทธศาสนาที่เป็นแก่นทางด้านจิตวิญญาณนั้นใช้ได้และเข้าถึงได้สำหรับชาวพุทธทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก หรือบรรพชิตที่สละเรื่องทางโลกแล้วก็ตาม

คำนิยามของ “นิพพาน” ในระดับที่ต่ำลงตามที่ท่านให้ไว้โดยถือว่าเป็นภาวะความหลุดพ้นที่แท้จริง เช่นเดียวกับ “นิพพาน” ระดับสูงสุดนั้น แม้จะมีสำนวนภาษาเกี่ยวข้องอยู่บ้างก็ตาม ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามของท่านพุทธทาสในการย้ำว่า

ชาวพุทธสามารถปฏิบัติและอาจบรรลุความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนาได้ทุกคน

ท่านยืนยันว่า ฆราวาสที่ประสบกับความสงบทางจิตชั่วครู่ตามแบบ “ตทังคนิพพาน” ในบางครั้งบางเวลานั้นได้ชิมลองความหลุดพ้นที่แท้จริงแล้ว

ถึงแม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม

 

ขอให้ย้อนกลับไปศึกษางานนิพนธ์และงานบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุเรื่อง “ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้”

ก็จะประจักษ์ในความลึกซึ้ง

นั่นก็คือ นิพพาน ไม่ใช่ความตาย นิพพาน คือ ความไม่ตาย และช่วยให้ไม่ตาย รู้จักนิพพานให้ถูกต้อง คือ เย็นใจ พอใจตัวเอง ถูกต้อง พอใจ ในหน้าที่การงานใดๆ ที่ทำให้ถูกต้อง พอใจ

มีนิพพานทั้งนั้นแหละ