อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะลูกผสมในโลกอันไร้พรมแดน (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
SONY DSC

ในหลายตอนที่ผ่านมา เราเคยพูดถึงศิลปินที่หลอมรวมโลกของการออกแบบเข้ากับโลกของศิลปะร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ผ่านประติมากรรมที่มีประโยชน์ใช้สอยมาแล้ว

ในคราวนี้เราขอกล่าวถึงศิลปินอีกคนที่ลบเลือนเส้นแบ่งพรมแดนระหว่าง โลกของศิลปะร่วมสมัย กับ โลกของงานออกแบบพื้นที่ ที่เรียกขานว่าภูมิสถาปัตยกรรมจนผสานกันแนบเนียนไร้ตะเข็บ

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ศิลปินสาวชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ด้วยความที่เธอมีภูมิหลังทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม ผนวกกับความสนใจทางด้านศิลปะร่วมสมัย

ภายหลังจากจบการศึกษาด้านภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานในสายที่เรียนมาอยู่ระยะหนึ่ง เธอจึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านศิลปะที่ Chelsea College of Art and Design กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

“ตอนเรียนภูมิสถาปัตยกรรม เราอยากให้งานภูมิสถาปัตยกรรมไปไกลกว่าการเป็นแค่ประโยชน์ใช้สอยกับความสวยงาม เราอยากให้มันมีความหมายและมีความน่าสนใจมากขึ้น เรามองว่าศิลปะน่าจะเป็นตัวที่สร้างความหมายในพื้นที่ของสถานที่ที่เราออกแบบ หลังจากเรียนจบและทำงานสักพัก เราก็สมัครไปทำงานกับออฟฟิศที่สิงคโปร์ที่เขาเป็นศิลปินด้วย ก็คือทำทั้งประติมากรรมทั้งภูมิสถาปัตยกรรม ก็ทำประมาณสามปี และไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ

พอไปเรียนก็เปิดโลกเลย เราเพิ่งเข้าใจศิลปะร่วมสมัยจริงๆ ก็ตอนไปที่นั่นนั่นแหละ มันทำให้เราอินกับศิลปะมากขึ้น เหมือนเราค้นพบอะไรใหม่ๆ อย่างตอนเราเรียนสถาปัตยกรรม ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง แต่เกี่ยวกับคนอื่น เราก็จะทำงานทุกอย่างในการแก้ปัญหาให้คนอื่น พอเข้าไปเรียนถึงได้รู้จักการตั้งคำถาม การคุยกับตัวเอง แล้วสื่อออกมา ก็ได้เรียนวิธีคิดมาจากตรงนั้นเยอะ

สถาปนิกเนี่ย เวลาเราดูอะไรสักอย่างเราก็จะดูที่ตัววัสดุ ว่ามันเป็นไม้ เป็นหิน ดูคุณภาพ ว่ามันสวย พื้นผิวดี ดูหรู เอามาใช้งานได้

แต่พอเป็นศิลปะมันจะเป็นคนละอย่างเลย มันจะสัมผัสที่ความรู้สึก อย่างเช่น อันนี้ดูแล้วรู้สึกถึงบ้านในป่าของคุณยายสมัยเด็ก อันนี้นึกถึงโรงพยาบาล มันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินที่เอามาแบ่งปันกับคนอื่นได้

มันอาจจะดูเป็นสิ่งเดียวกัน แต่สถาปนิกนักออกแบบมองมุมหนึ่ง ศิลปินมองอีกมุมหนึ่ง

ด้วยความที่เราถนัดเรื่องพื้นที่ งานของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นศิลปะจัดวาง อย่างตอนเรียนอาจารย์จะบอกว่าคุณต้องเร่งมือในเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ คุณเรียนมาไม่หนักเท่าเพื่อน เพราะเพื่อนในชั้นส่วนใหญ่จบจาก Fine Art แต่คุณมีทักษะทางสถาปัตยกรรมในการมองพื้นที่ ในการสร้างความเชื่อมโยงพื้นที่เข้ากับงาน เราก็มีตรงส่วนนี้เป็นอาวุธประจำตัว เขาก็มองเห็นศักยภาพของเรา

พอไปเรียนแล้วได้กลับมาเยอะเลย หนึ่งคือวิธีคิด เราเริ่มคิดหลุดกรอบ เราไม่มองงานดีไซน์เหมือนเดิม ที่ต้องเป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และค่อนข้างเรียนรู้ที่จะเชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากขึ้น คุยกับตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามมากขึ้น มีความชัดเจนว่าเราสนใจอะไร สำรวจอะไร ทั้งตัวตนของเราและตัวงาน

การแปลงความคิดที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น”

SONY DSC

หลังจากจบการศึกษา สนิทัศน์ ได้กลับมาก่อตั้ง Sanitas Studio สตูดิโอออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ร่วมกับทีมงานสถาปนิกและภูมิสถาปนิกขึ้นมา

ซึ่งสตูดิโอแห่งนี้ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบริบททางสังคม การค้นคว้าทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง และการเล่นกับรอยต่ออันไร้ตะเข็บของภูมิสถาปัตยกรรมและงานศิลปะร่วมสมัย ที่มีทั้งงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม และงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งได้รับรางวัลต่างๆ มามากมายไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางสถาปัตยกรรมและศิลปะ อาทิ

Equilibrium, 2013 ผลงานศิลปะจัดวางตุ๊กตาเป่าลมล้มลุกลวดลายเหมือนเครื่องเคลือบลายครามที่จัดวางบนพื้นทรายของหาดซองโด ในเทศกาลศิลปะ Sea Art Festival ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

“จริงๆ งานชิ้นนี้เป็นการประกวดแบบงานศิลปะสาธารณะบนชายหาดที่เกาหลีใต้ แล้วเราก็เห็นโจทย์ ซึ่งเป็นเรื่องของงานศิลปะกลางแจ้งที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เราก็เลยไปค้นคว้ามาว่า ประวัติศาสตร์ของเกาหลี ประวัติศาสตร์ของหาดซองโด ซึ่งเป็นพื้นที่แสดงงานมันมีความเป็นมายังไง

ก็เจอว่า หาดนี้มันเปิดเป็นสาธารณะตอนที่โดนญี่ปุ่นยึดครอง มันมีทั้งความอิสระ แต่ก็กดดัน

เราก็มีเพื่อนเป็นคนเกาหลี เราก็รู้ว่า ความจริงประเทศเขามีภาพลักษณ์ข้างนอกแบบหนึ่ง และก็มีความกดดันอยู่ภายใน

อย่างธงชาติเกาหลีที่มีสัญลักษณ์หยินหยาง มันก็เป็นเหมือนจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ เรามองว่าเกาหลีทั้งโดนญี่ปุ่นยึด โดนจีนครอบครอง และก็โดนผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านความรุ่งเรืองและตกต่ำ และตอนนี้มันก็กลายเป็นประเทศที่เจริญมากในเอเชีย

งานชิ้นนี้มันก็เหมือนการพูดถึงจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ที่มันล้มและลุกได้ ซึ่งตุ๊กตาล้มลุกธรรมดามันก็เหมือนตุ๊กตาชายหาด แต่เราก็ใช้สิ่งที่ควรจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ที่น่าเคารพ โดยค้นคว้าว่ามันมีโบราณวัตถุที่อยู่กับประวัติศาสตร์เกาหลีมาอย่างยาวนาน

เราเจอเครื่องลายครามศิลาดลของเกาหลี ที่อยู่ในยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือ ราชวงศ์โครยอ (KoryŎ Dynasty) เราก็เอามาทำเป็นงานชิ้นนี้ ที่เล่นกับเรื่องข้างในข้างนอก ความเป็นทางการและความไม่เป็นทางการ สิ่งที่แตกได้อย่างเครื่องลายคราม และสิ่งที่แตกไม่ได้อย่างตุ๊กตาเป่าลม ของเล่นที่ใครๆ ก็เล่นได้กับสิ่งที่ควรจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์

สิ่งที่เป็นเหมือนคู่ขัดแย้งเหมือนหยินหยาง ที่เอาสิ่งที่อยู่ตรงข้ามมาอยู่ด้วยกัน”

Equilibrium ได้รับรางวัล Special Selection ในงาน The Sea Art Festival 2013 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้