นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เทคโนโลยีในระบอบเผด็จการ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมยอมซื้อนาฬิกาแมงดาใหม่ที่ผลิตในประเทศจีน เพราะยี่ห้อซึ่งเดิมเป็นของญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักทั่วไป คนขายบอกผมว่าญี่ปุ่นขายจีนทั้งโรงงาน ทำให้ผมเข้าใจว่าคงขายเทคโนโลยีไปพร้อมกับโรงงานด้วย แต่หลังจากเป็นเจ้าของอยู่ได้ไม่ถึงเดือน ผมก็รู้ว่าโรงงานที่ขายให้จีนนั้นคงมีแต่ผังการทดเฟืองต่างๆ ที่ญี่ปุ่นคิดเอาไว้ กับเครื่องมือประกอบและยี่ห้อซึ่งมีตลาดของตนกว้างขวางอยู่แล้วเท่านั้น

ที่หน้าปัดนาฬิกามีตัวหนังสือพิมพ์ไว้ด้วยว่า “31 Days” คือไขลานแต่ละครั้งนาฬิกาจะเดินได้ 31 วัน นี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ชวนให้ซื้อ หนังสือตัวเล็กๆ ข้างล่างซึ่ง “ต้นฉบับ” เดิมจะมีว่า “ทำในประเทศญี่ปุ่น” ไม่ปรากฏ แต่น่าแปลกใจว่าไม่มีข้อความว่าทำในประเทศจีนปรากฏเหมือนกัน เขาตั้งใจขายยี่ห้อแท้ๆ

นาฬิกาลานที่เดินได้ 31 วันนั้นมีเสน่ห์ก็เพราะมันทำยาก วัสดุที่ใช้ทำลานต้องเป็นเหล็กที่บางมากแต่เหนียว เพราะต้องพอจะขดตัวอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เท่ากับนาฬิกาที่เดินได้เพียงสัปดาห์เดียว ทั้งๆ ที่มีความยาวมากกว่าถึง 4-5 เท่า ทั้งการคลายตัวของลานก็ต้องทำให้เกิดแรงที่ใกล้เคียงกันมากระหว่างลานตึงกับลานหย่อน เฟืองต้องละเอียดพอจะตอบสนองต่อการแกว่งของลูกตุ้มให้นาฬิกาเดินได้เที่ยงตรงเท่าเดิมเป๊ะด้วย

นาฬิกาเรือนนั้นเดินได้เพียง 2 สัปดาห์ก็ตาย เหตุอาจเป็นเพราะผมไขลานไม่ตึงพอ ดังนั้น ผมจึงพยายามไขลานให้สุด ผลก็คือลานขาด ต้องยกกลับไปที่ร้านและเสียเงินอีก 500 บาทเพื่อเปลี่ยนลานใหม่ และตั้งแต่นั้นผมก็ไม่เคยกล้าไขลานให้สุดอีก และนาฬิกาที่อ้างว่าเดินได้ 31 วัน จึงทำงานได้จริงเพียง 14 วัน 31 วันเป็นความฝันอันสูงสุดที่ไม่มีวันไปถึงในความเป็นจริง

ในขณะที่นาฬิกาเก่ายี่ห้อไซโกของญี่ปุ่นซึ่งเขียนบอกไว้ว่าเดินได้ 30 วัน ก็ยังเดินได้ 30 วันจริงจนทุกวันนี้

ทําไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ บริษัทจีนไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอจะผลิตเหล็กกล้าที่บางและเหนียวได้เท่าโรงงานญี่ปุ่น แต่คำตอบตรงไปตรงมาแบบนี้อาจทำให้เราลงลึกถึงความจริงได้ไม่เกินผิวหน้า เพราะนอกจากจีนจะเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่สุดของโลกแล้ว จีนยังมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางวัสดุศาสตร์พอที่จะผลิตยานอวกาศและดาวเทียมได้ ดังนั้น กะอีลานนาฬิกาแค่นี้ ไม่เป็นปัญหาอะไรเลยแก่จีนแน่

แต่ปัญหาคือจีนไหน? รัฐบาลจีนหรือเอกชนจีน

ผมคิดว่าคำตอบค่อนข้างชัดแก่คนไทยปัจจุบัน เพราะสินค้าจีนท่วมท้นในตลาดไทยจนทำให้เราเข็ดขยาดกับคุณภาพของสินค้าจีน ตะไกร, มีด, ปากกา, ไส้ดินสอ, เก้าอี้, เครื่องครัว ฯลฯ ล้วนเป็นสินค้าที่มีอายุสั้นหรือใช้ได้พอแก้ขัดเท่านั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสินค้าจากญี่ปุ่น (หรือในภายหลังเกาหลีใต้และไต้หวัน), เยอรมัน, อเมริกัน และสวีเดน ฯล ฯซึ่งมีอายุยาวนานและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ความไม่ไว้วางใจสินค้าจีนนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะเมืองไทย แต่ผมได้พบอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียวกันในหมู่ประชาชนลาวและเวียดนาม โดยไม่ต้องเอาสินค้าจีนไปเปรียบกับญี่ปุ่นหรือเยอรมัน เปรียบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ก็ยังมีภาษีแก่คนลาวและเวียดนามยิ่งกว่าสินค้าจีน

(บางคนอาจคิดถึงโทรศัพท์มือถือของจีนว่าคุณภาพดีและวางใจได้ แต่ตำราบางเล่มที่ผมได้อ่านบอกว่า กว่าครึ่งของเครื่องเคราในโทรศัพท์มือถือจีนนั้น ต้องเสียเงินซื้อสิทธิบัตรของสหรัฐเพื่อผลิตขึ้น จีนหากำไรจากสัดส่วน 25% ของมูลค่าโทรศัพท์ – จริงเท็จอย่างไร และยังจริงอยู่แค่ไหน ผมไม่ทราบ)

สถานการณ์ทำนองเดียวกันเช่นนี้เคยเกิดแก่สหภาพโซเวียตเช่นกัน ซึ่งกว่าที่ผู้นำโซเวียตจะรู้สึกตัว ประเทศบริวารในยุโรปตะวันออกก็ถูกปลดปล่อยออกไปหมดแล้ว จึงไม่มีตลาดเหลือแก่สินค้าของโซเวียตอีกเลย ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงใน ค.ศ.1989 กอร์บาชอฟพยายามฟื้นฟูกิจการอุตสาหกรรมของรัฐ แต่ก็ประสบความล้มเหลว นอกจากแรงงานไม่อยากเสียสละให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ด้วยค่าแรงต่ำอีกต่อไปแล้ว สินค้าที่ผลิตได้ก็ไร้คุณภาพเสียจนไม่มีทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ

แต่เรากำลังพูดถึงสหภาพโซเวียตที่ผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้ก่อนใครในโลก ซ้ำยังส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก่อนใครเหมือนกัน ดังนั้น โซเวียตจึงไม่ได้ล้าหลังด้านเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้านั้นเป็นของรัฐบาล คือคิดโดยคนของรัฐและเพื่อจุดมุ่งหมายของรัฐ ไม่ใช่จุดมุ่งหมายด้านการตลาด จึงไม่จำเป็นต้องขยายการใช้ประโยชน์ไปยังเอกชน

ลองนึกเปรียบเทียบกับสินค้านานาชนิดของอเมริกัน ที่อ้างว่าได้ความคิดริเริ่มจากงานวิจัยขององค์การอวกาศของรัฐ นับตั้งแต่ปากกาลูกลื่นไปจนถึงเครื่องบินโดยสาร หรืออะไรอื่นที่ต้องการเทคโนโลยีชั้นสูง

ไม่เฉพาะแต่การซื้อเทคโนโลยีจากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แม้แต่การซื้อข้ามชาติก็เป็นเรื่องปรกติ ทรานซิสเตอร์นั้นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยอเมริกันเป็นผู้คิดขึ้น แต่นายทุนอเมริกันยังไม่ได้เอาไปหากำไร นายทุนที่มองเห็นศักยภาพของมันที่จะเอาไปผลิตเครื่องไฟฟ้าที่มีคุณภาพราคาถูกคือนายทุนญี่ปุ่น และก็ประสบความสำเร็จมั่งคั่งขึ้นโดยยอมลงทุนซื้อสิทธิบัตรอเมริกันมาผลิต เขาว่ากันว่าระบบเบรกเอบีเอสของรถยนต์ เป็นการค้นคิดของวิศวกรไทย บริษัทรถยนต์เยอรมันซื้อเอาไปใช้กับรถของตนก่อน

(จริงหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบอีกแหละครับ)

ทั้งหมดนี้ ผมสรุปได้ว่า ฐานของเทคโนโลยีนั้นต้องอยู่กับสังคม ไม่ใช่อยู่กับรัฐ แม้ไม่ใช่สังคมทุนนิยม อย่างน้อยประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนั้น และเพราะได้ใช้จึงถูกพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือเหมาะกับเงื่อนไขเฉพาะของท้องถิ่นหรือของบุคคล หากเป็นสังคมทุนนิยม เทคโนโลยีก็จะถูกใช้หาเงิน จนเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ตรงกันข้าม ถ้าเทคโนโลยีมีฐานที่รัฐ เป้าหมายการใช้ประโยชน์ก็จะแคบลงตามเป้าหมายแคบๆ ของรัฐเท่านั้น ถึงจะงอกงามพัฒนาขึ้น ก็เพื่อรับใช้เป้าหมายแคบๆ นั้นต่อไป

ในรัฐเผด็จการ เทคโนโลยีมักมีฐานที่รัฐ ซึ่งบางครั้งอาจก้าวล้ำหน้าทีเดียว เช่น นาซีเยอรมันเป็นผู้คิดและประดิษฐ์จรวดซึ่งจะเป็นต้นกำเนิดของจรวดข้ามทวีปเป็นรายแรกของโลก เครื่องบินรบซีโรของญี่ปุ่นที่ใช้ในระหว่างสงคราม เป็นเครื่องบินรบใบพัดที่ดีที่สุดของโลกในช่วงหนึ่ง แต่เพราะเทคโนโลยีมีฐานอยู่ที่รัฐ จึงไม่นำไปสู่การผลิตอะไรที่ช่วยให้ชีวิตของประชาชนสุขสบายขึ้น หรือทำมาค้าขายได้กว้างใหญ่มากขึ้น

รัฐเผด็จการอาจมีเศรษฐกิจในระบบทุนได้เหมือนกัน แต่สังคมเผด็จการมักไม่เปิดให้ระบบทุนนิยมขยายตัวได้เต็มที่ เพราะรัฐเผด็จการมักมี “ทุนประชารัฐ” ของตนเองไว้สนับสนุนส่งเสริมเสมอ ทุนไซบัทสึของเผด็จการทหารญี่ปุ่น, ทุนอุตสาหกรรมที่สนับสนุนนาซีในเยอรมัน, ทุนที่รัฐเป็นฝ่ายดำเนินการในโซเวียต แม้แต่ในจีน ตำราบางเล่มก็กล่าวว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทต่างๆ ในจีน รัฐ (ส่วนกลางหรือท้องถิ่น) ล้วนถือหุ้นอยู่ด้วยทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง เพียงแต่ดำเนินการไม่ต่างจากบริษัทเอกชนเท่านั้น

ทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับและเป็นบริวารของรัฐเช่นนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันมากนัก เพราะสามารถแข่งชนะได้ โดยการเอาเปรียบแรงงาน, อำนาจผูกขาดที่รัฐมอบให้หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่, การปิดตลาด และการอุดหนุนของรัฐโดยทางอ้อมอื่นๆ อีกมาก ใครจะไปเสี่ยงกับการซื้อหรือสร้างเทคโนโลยีซึ่งแพงกว่าค่าต๋งที่จ่ายแก่คณะเผด็จการอย่างแน่นอน ซ้ำยังอาจทำกำไรได้ไม่แน่นอนหรือมากเท่าค่าต๋งเสียอีก

เทคโนโลยีมักไม่ค่อยเจริญก้าวหน้ามากนักในรัฐเผด็จการ ทั้งเผด็จการโดยเปิดเผยหรือจำแลงก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะประชาชนขาดการศึกษา หรือส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีไม่เพียงพอ แต่เพราะบรรยากาศทางเศรษฐกิจภายใต้เผด็จการ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจแก่ใครสักคนในการพัฒนาเทคโนโลยี

ตราบเท่าที่การหากำไรทำได้ง่ายกว่าด้วยการเป็นทุนประชารัฐ ใครจะอยากผลิตอะไรด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งยากกว่าและเสี่ยงกว่าจ่ายค่าต๋งอย่างเทียบกันไม่ได้

ทั้งหมดที่พูดมานี้ หลายคนคงเห็นว่าไม่แปลกประหลาดอันใด ขึ้นชื่อว่าเผด็จการแล้ว สังคมย่อมไม่มีความสำคัญเท่ารัฐ บางเผด็จการมีแต่รัฐและไม่มีสังคมในสำนึกของผู้นำเลยด้วยซ้ำ ฐานของเทคโนโลยีจึงต้องอยู่ที่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสังคมคือส่วนที่รัฐคุมไม่อยู่ ถึงจำเป็นต้องยอมรับความมีอยู่ของมัน ก็มักจะเหยียดมันว่าแตกแยก, ถูกยุยงปลุกปั่นง่าย, ติดเชื้อจลาจลจากต่างชาติได้ง่าย และอาจล้มล้างสถาบันหลักๆ ของชาติลง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

ในสายตาของรัฐเผด็จการ สังคมคือ “คนรุ่นใหม่” เสมอ ไม่ว่าจะแก่ใกล้ฝั่งสักเพียงไร ก็ต้องเป็น “คนรุ่นใหม่” ในสายตาของรัฐเสมอ เพราะในทัศนะของเผด็จการ สังคมคืออะไรที่เซื่องๆ และยอมอยู่ใต้การบังคับควบคุมแต่โดยดี อะไรที่ไม่ยอมเซื่องจึงต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอ และสิ่งใหม่ย่อมอาจนำภัยมาได้

“คนรุ่นใหม่” จึงเป็นภัย

แล้วจะให้เอาเทคโนโลยีซึ่งเป็นพลังอันมหึมาไปวางบนฐานของสังคมได้อย่างไร