“พิธีถวายควัน” ในพุทธศาสนาแบบทิเบต

พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า

พิธีถวายควัน ไม่เคยได้ยินนะคะ

เป็นพิธีในพุทธศาสนาแบบทิเบตค่ะ เรียกว่าพิธีริโวซังชก (Riwo Sang Cho)

ผู้ที่มาทำพิธีให้คือคณะของคุณศุภฤกษ์ เป็นชาวพุทธไทย แต่เป็นศิษย์ของท่านวัชราจารย์ เคนโป โสนัม ทอปเกียล รินโปเช ท่านเป็นพระชาวทิเบตที่อพยพออกมาจากทิเบต แล้วไปสร้างวัดทีเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ชื่อวัดริโวเช

ลูกศิษย์เอกของท่านในประเทศไทยคือคุณชาญชัย คูณทวีลาภ ซึ่งเป็นประธานของริโวเชสถาน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านทิพวัล จ.สมุทรปราการ

ตามประเพณีของทิเบตนั้น การสืบสายมาจากอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญที่ลูกศิษย์ต้องให้ความเคารพอย่างยิ่ง แม้ที่เรารับไตรรัตน์ คือถือสรณะในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ทางทิเบตเพิ่มพ่อ แม่และครูอาจารย์เข้ามาด้วย

โดยอธิบายว่า ครูบาอาจารย์เป็นผู้สอนเราให้เข้าถึงพระรัตนตรัย จึงต้องแสดงความเคารพก่อนพระไตรรัตน์ด้วยซ้ำ

 

พิธีถวายควันนี้ เป็นธรรมสมบัติที่ค้นพบในสิกขิม ทางเหนือของอินเดีย เมื่อ 600 ปีที่แล้ว ผู้ค้นพบคือท่านลาซุม นัมคาย จิกเม ชาวสิกขิม

ทางทิเบตถือว่า การปรากฏขึ้นของพระคัมภีร์นี้ เป็นการเปิดเผยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดในสิกขิมโดยการทำพิธีถวายควันนี้

ในพิธีจะบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า ธรรมบาล ตลอดจนสรรพสัตว์ใน 6 ภูมิ รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร เป็นการชดใช้กรรมโดยอาศัยเปลวไฟและควัน

เราก็เลยต้องหาถังเหมือนกับถังที่เคี่ยวยางมะตอย แต่น่าจะมีชาวพุทธที่นิยม ปรากฏว่า ถังดังกล่าวมีขายค่ะ

เมื่อเจ้ากรรมนายเวรได้สัมผัสกับควันที่เราถวาย เขาจะได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา ส่วนเปลวไฟนั้นทำหน้าที่เผาผลาญหนี้ หรือกรรมต่างๆ ที่ติดค้างมาให้หมดไป

เปลวไฟและควันนี้ ผู้ประกอบพิธีให้ความสำคัญมาก เพราะจะทำให้บรรยากาศรอบตัวแปลกไป เคยปรากฏว่ามีนกพิราบบินมาเต็มท้องฟ้าและพยายามที่จะเข้าไปกินถั่ว ซึ่งเป็นของที่ถวายลงไปในเปลวไฟ

ของบูชาที่จะถวายนั้น ผู้ประกอบพิธีจะเตรียมใส่จานทำพิธีบูชาก่อน แล้วจึงเชิญให้ผู้เข้าร่วมพิธีให้นำของถวายที่ใส่จานเตรียมไว้ ไปเทลงในถังที่จุดด้วยไม้ฟืนวางไว้กลางแจ้ง

ของที่ถวายเป็นของขาว และของหวาน 5 อย่าง มีถั่ว งา นม เนย ส่วนประกอบที่ระบุว่าโลหะนั้น ใช้ทองคำเปลวแทน

ตอนที่เทของถวายลงในเปลวไฟนั้น กลิ่นจะหอมมาก โดยเฉพาะจากนมเนยและถั่วงา

 

สําหรับการเริ่มพิธี มีการสวดบูชาคุรุริมโปเช อัญเชิญให้ท่านมาสถิตในพิธี ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า ลำพังมนุษย์ปุถุชนเองจะทำพิธีนี้ไม่ได้ ต้องอาศัยบารมีของครูอาจารย์

นอกจากนี้ ผู้ทำพิธีต้องมีความเข้าใจว่า กองไฟนี้สามารถส่องให้เห็นในทุกจักรวาล ในขณะที่คนอื่นแม้จะได้สัมผัสเพียงควันก็ตาม เขาจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา ขอให้มั่นคงในความคิด

เมื่อบูชาองค์คุรุริมโปเชแล้ว ให้ขอไตรสรณาคมน์ ในบรรดาสรณะทั้งหลาย แก่นแท้ที่สุดคือ องค์วิทยวิยตาราซึ่งเป็นปางดุมีพลังมหาศาลที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งปวงข้ามพ้นจากทุกข์

จากนั้นจึงตั้งโพธิจิต ภาษาทิเบตเรียกว่า เต็กโชและโธกวา ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าการบรรลุเพื่อนำสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ แต่ถือว่าเป็นสภาวะจิตของพระพุทธเจ้าทีเดียว

ความคิดเบื้องหลังของพิธีนี้ คือถวายของที่ประณีตต่างๆ เพื่ออัญเชิญให้เจ้ากรรมนายเวรมารับ และเมื่อรับแล้ว ก็จะได้อโหสิกรรมแก่กันและกัน

 

ในบทสวด “รัม ยัม ฆัม” เป็นสัญลักษณ์ของไฟ ลม น้ำ ใช้เพื่อชำระเครื่องบูชาให้บริสุทธิ์ ไฟเพื่อเผาผลาญสิ่งสกปรกมลทินต่างๆ ให้หมดไป ลมพัดสิ่งสกปรกที่เผาแล้วออกไป น้ำชะล้างให้เครื่องบูชาบริสุทธิ์ และเข้าสู่สภาวะแห่งความว่าง ด้วยคาถาสุญตา (ด้วยบทสวด โอม โช บาวา…ชุโตหุง) ผู้ประกอบพิธีให้ตั้งนิมิตให้มีอักขระ “ดรุม” เกิดขึ้น กลายเป็นภาชนะที่ทำจากอัญมณีอันงดงาม ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคของสมาธิที่เป็นการตรึกเห็น ที่ทางทิเบตเน้นมาก

บท “โอม อา หุง” เป็นมนต์ที่ทำให้เครื่องบูชาทั้งหมดกลายเป็นของมีค่า ทั้งรูป สี กลิ่น และรส เครื่องบูชาที่ถวายนั้น เพิ่มพูนจนแผ่เต็มท้องฟ้า ไปทั่วจักรวาล และทั่วโลกธาตุ

ในบทสวดนี้ กล่าวถึงภูตผีปีศาจทั้งหมด ผู้มาแย่งชิงพลังชีวิต ผู้ก่อกวนให้เกิดอุปสรรค ผู้ดูดพลังชีวิต ภูตผี 8 ชนิดผู้บันดาลเคราะห์ภัยทั้งปวง หนี้กรรมที่ติดค้าง ในปัจจัยสี่ ตั้งแต่อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม จนกระทั่งยารักษาโรค อำนาจมืดทั้งปวงเชิญมารับของถวายไป และขอให้ใช้หนี้กรรมให้หมดสิ้น โดยการเผาผลาญของเปลวเพลิง ส่วนควันนั้น เท่ากับเป็นเมฆแห่งเครื่องบูชา

ในการเชิญเจ้าหนี้ที่ทำให้เราลำบากอยู่นั้น เราอุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้เขาลำบากอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย เป็นความคิดที่โอบเอื้อให้เห็นว่า ที่เขาสร้างกรรมกับเราก็เพราะเขาเองก็อยู่ในห้วงทุกข์เช่นกัน แม้เขาจะไม่เห็นโลกธาตุอื่น แต่อย่างน้อยที่สุดเขาได้สัมผัสกับควันในพิธีนี้ ก็จะช่วยให้เขาละคลายจากความทุกข์ ละคลายจากการทำร้ายเรา และตัวเขาเองก็ละคลายจากการเกาะกุมของเจ้ากรรมนายเวรของเขาเองด้วย

เมื่อรับกุศลแล้ว ก็ขอให้เขาหลุดพ้น ในระหว่างพิธี เมื่อสวดมาถึงตรงนี้มีการตบมือด้วย ช่วงนี้เราเข้าใจว่า เขาก็หลุดพ้นเช่นกัน ผู้ที่เข้าร่วมพิธี ก็ช่วยกันตบมือให้เข้าจังหวะ

 

จากบทสวดถวายควันแล้ว ผู้ประกอบพิธีก็นำสวดบทบูชาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พอดีทำพิธีในพระวิหารพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีสร้างรูปเคารพพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าตั้งแต่ พ.ศ.2548 ขนาดหน้าตัก 108 นิ้ว สูง 3.25 เมตร เป็นพระไภษัชคุรุฯ องค์แรกในประเทศไทย มีพระกายสีฟ้าเข้มตามสีของลาปิส ลาซุลี ซึ่งเป็นหินที่ชาวทิเบตใช้เยียวยารักษาอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นหมอรักษาจึงใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ คงไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าต้องมีพระวรกายสีฟ้าเช่นนั้นจริงๆ

พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านี้ เวลาที่รัฐบาลไทยจัดงานปีใหม่ จัดพระพุทธรูปให้ชาวไทยได้สักการะ ก็จะมีองค์นี้อยู่ด้วยทุกครั้ง สังเกตที่พระหัตถ์ถือขวดน้ำมนต์ หรือบางทีถือลูกสมอ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงยาสมุนไพร

ในการสวดบทที่สอง คือถวายบูชาพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุฯ นี้ ผู้ที่เข้าพิธีก็สวดตามได้ เนื่องจากผู้ประกอบพิธีเตรียมบทสวดมาให้ พิมพ์เป็นเล่มขนาดเล็กกะทัดรัด บทสวดเป็นภาษาทิเบต แต่เขียนเป็นภาษาไทยให้ออกเสียงตามได้

ผู้ที่เข้าพิธีจะขอพรจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ให้คลี่คลายจากโรคภัยไข้เจ็บ

บทสวดของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านี้ ของทิเบตเลียนแบบมาจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤต จึงมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก

เฉพาะบทสวดภาษาสันสกฤตที่บูชาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั้น มีดังนี้

โอม นะโม ภควเต ไภษัชยคุรุ ไวฑูรยประภา ราชายะ ตถาคตายะ

อรถเต สัมยัก สัมพุทธายะ ตัทยถา

โอมไภษัชเย ไภษัชเย มหาไภษัชเย ราชา สมุทคเต สวาหา

ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ หายทุกข์หายโศกด้วยกุศลที่เกิดในใจค่ะ