เคน นครินทร์ : บุก Brooklyn Brewery คราฟต์เบียร์เจ้าดังแห่งนิวยอร์ก

ช่วงที่เมืองไทยมีประเด็นร้อนเรื่องการทำคราฟต์เบียร์ไทยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ผมอยู่ที่นิวยอร์กพอดี จึงหาโอกาสไปเยือนโรงผลิตเบียร์ที่มีชื่อเสียงมากของเมืองนี้อย่าง Brooklyn Brewery

คนที่เป็นเบียร์เลิฟเวอร์จะรู้ครับว่าคราฟต์เบียร์ของสหรัฐอเมริกานั้นถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคราฟต์เบียร์ในโลกสมัยใหม่ (New World) ขนานไปกับคราฟต์เบียร์ในโลกเก่า (Old World) จากฝั่งยุโรปอย่างเบลเยียมหรือเยอรมนี

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1978 เมื่อสหรัฐผ่านกฎหมายรับรองการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็กๆ การผลิตเบียร์ท้องถิ่นทั่วประเทศจึงเข้าสู่ยุคเบ่งบาน โดยในปี 1978 มีโรงผลิตเบียร์เพียง 42 แห่ง แต่ในปี 2015 มี microbrewery (โรงผลิตเบียร์ขนาดย่อม) กับ brewpub (ผับที่ผลิตเบียร์เอง) ที่จดทะเบียนกับ brewersassociation แล้วมากกว่า 4,300 แห่งทั่วประเทศ

แม้ว่าจะเกิดขึ้นทีหลัง แต่ด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ และความคิดสร้างสรรค์อย่างเสรีในแบบอเมริกันชนก็ทำให้เกิดเบียร์สไตล์ใหม่ๆ มากมายในดินแดนแห่งนี้

ที่สำคัญคือพวกเขายังให้นิยามของคราฟต์เบียร์เป็นของตัวเองด้วยว่า

Small – ต้องผลิตเบียร์ได้ไม่เกิน 700 ล้านลิตรต่อปี

Independent – มีผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้ผลิตรายอื่นไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์

Traditional – ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเท่านั้น

ในปี 2014 อุตสาหกรรมเบียร์ขนาดย่อมสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 5.57 หมื่นล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 424,000 ตำแหน่ง

คราฟต์เบียร์เจ้าดังๆ ของแดนมะกัน ก็เช่น Yuengling, Sierra Nevada, Samuel Adams, Deschutes Brewery แต่หากพูดถึงคราฟต์เบียร์ของนิวยอร์กแล้วละก็ ชื่อของ Brooklyn Brewery ย่อมเป็นที่พูดถึงในอันดับต้นๆ

บรูกลินคือ 1 ใน 5 ของเขตปกครองที่เรียกว่า โบโรฮ์ (Borough) ของนิวยอร์ก ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเกาะแมนฮัตตัน ถือเป็นย่านที่มีสีสันและเสน่ห์เป็นอย่างมาก

ตั้งแต่ผมลงจากเครื่องบินมาถึงนิวยอร์กก็ได้เห็นเบียร์ยี่ห้อ Broolyln Brewery ขายอยู่เต็มไปหมด

พอได้ลองแล้วก็ชอบมาก จึงรีบหาทางที่จะไปเยี่ยมชมโรงผลิตเบียร์นี้ให้ได้

Brooklyn Brewery ตั้งอยู่ที่ย่าน Williamsburg อดีตพื้นที่โรงงานที่ถูกดัดแปลงจากเหล่าศิลปินจนกลายเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่าคือย่านฮิปสเตอร์

ทั้งย่านนี้จะเต็มไปร้านรวงเก๋ไก๋สไตล์อินดัสเทรียล คาเฟ่ฮิปๆ บาร์เท่ๆ แกลเลอรี่เจ๋งๆ ร้านขายแผ่นเสียงหายาก ไปจนถึงสตรีตอาร์ตตามตึกเก่ามากมาย ท่ามกลางความดิบๆ เซอร์ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์น่าหลงใหล

เดินไปแล้วรับรองว่าจะเจอแต่หนุ่มสาวหน้าตาดี ไว้หนวดไว้เครา แต่งตัวมีสไตล์ นั่งจิบกาแฟสโลไลฟ์หรือปั่นจักรยานอยู่แน่นอน

ผมขึ้นรถไฟใต้ดินมาที่สถานี Bedford Avenue เดินไปตามแผนที่เรื่อยๆ ก็มาถึงโรงผลิตเบียร์ Brooklyn Brewery ซึ่งเป็นตึกเก่าๆ ที่ดัดแปลงมาเป็นโรงเบียร์ บริเวณผนังโดดเด่นด้วยการเพ้นต์เป็นรูปชาร์ตการผลิตเบียร์และประโยคคมๆ ที่ว่า “Beer makes you feel the way you ought to feel without beer”

ภายในแบ่งพื้นที่เป็นหลายโซน ทั้ง brew house, malting room, of-fice และที่ใครหลายคนเฝ้ารอ…tasting room หรือห้องที่เราจะได้ชิมเบียร์สดๆ ทุกประเภทนั่นเอง

 

กิจกรรมการเยี่ยมชมของที่นี่จะทำได้ 2 แบบคือทัวร์ชมโรงงาน ซึ่งจะแบ่งเป็นรอบๆ (ไม่เสียตังค์) และการชิมเบียร์ในห้องชิมเบียร์ นอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึก เช่น แก้วเบียร์ เสื้อยืด ที่เปิดขวด

ผมเริ่มด้วยการเดินไปสั่งเบียร์จากแท็ปมานั่งรอคิวที่จะทัวร์โรงงาน ลองไป 3-4 ตัว ทั้ง Brown Ale สไตล์อเมริกัน, Defender ไอพีเอสไตล์ฝั่งตะวันตก และ Insulated Dark Lager เบียร์ลาเกอร์ดำ ต้องบอกว่าอร่อยทุกตัวและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เมื่อเริ่มได้ที่แล้วก็ได้คิวที่จะไปทัวร์พอดี โดยเขาอนุญาตให้ถือเบียร์เดินไปชมไปได้อีกด้วย

ผมเคยไปทัวร์โรงผลิตเบียร์มาอยู่บ้าง เช่น Sapparo Beer Museum, Tsingtao brewery หรือโรงเบียร์เล็กๆ ที่เบลเยียม ต้องบอกว่าที่ Brooklyn Brewery ค่อนข้างจะเป็นการทัวร์ที่เรียบง่ายมาก ไม่มีการจัดวางของ หรือทำภาพประกอบอะไรเลย

ลำพังแค่ไกด์ทัวร์คนเดียว (ซึ่งก็คือคนที่กดเบียร์ออกจากแท็ปให้เรา) เดินพาชมโรงงาน แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยมีอะไร ก็ถือว่าสนุกดี เพราะไกด์เล่าเรื่องได้สนุกมาก

ฟังไปจิบไปชมโรงงานไปก็เพลิดเพลินดี

ไกด์บอกกับผมว่าเหตุผลที่ทำให้ Brooklyn Brewery มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มี 3 อย่างคือ น้ำ มอลต์ และฮอบส์ โดยเฉพาะน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักนั้นเขาบอกว่าใช้ “น้ำก๊อก” นี่แหละ แต่เพราะเป็นน้ำก๊อกจากนิวยอร์กทำให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

ส่วนมอลต์กับฮอบส์นั้นต้องย้อนไปในช่วงยุค 80″s เพราะพวกเขาทำลาเกอร์แบบ all-malt และมีการนำเทคนิคโบราณ dry-hopping มาใช้ (ซึ่งรายละเอียดผมไม่แน่ใจว่าคืออะไรครับ) ทำให้ลาเกอร์ของ Brooklyn Brewery โด่งดังไปทั่วในยุคนั้น

พูดมาถึงตรงนี้แล้วขอเล่าประวัติของโรงเบียร์นี้สักเล็กน้อย

 

Brooklyn Brewery ก่อตั้งโดย Steve Hindy และ Tom Potter ในปี 1988 ก่อนหน้านี้ Steve Hindy ทำงานเป็นนักข่าวให้กับ AP อยู่ถึง 4 ปีครึ่งที่ตะวันออกกลาง

เขาทำข่าวมาแล้วทั้งในอิรัก อิหร่าน เลบานอน ซีเรีย อียิปต์ และซูดาน ค่ำวันหนึ่งในเบรุต โรงแรมที่เขาพักโดนปูพรมยิงใส่ เขาเก็บกระเป๋าพาครอบครัวกลับนิวยอร์กทันที

ช่วงที่อยู่ที่ตะวันออกกลาง Hindy ได้เรียนรู้การทำเบียร์กินเอง เพราะกฎหมายของชาวมุสลิมห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อกลับมาที่บรูกลิน เขาจึงทดลองทำเบียร์ที่บ้าน และชักชวนเพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์อย่าง Tom Potter นายธนาคาร มาทำเบียร์ด้วยกัน

ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังคิดใหญ่ด้วยการชวน Milton Glaser ศิลปินชื่อดัง (มาก) ผู้ออกแบบแคมเปญ I LOVE NEW YORK (ที่เห็นกันบนแก้วและเสื้อยืด) ให้มาช่วยออกแบบโลโก้ให้อีกด้วย

สถานการณ์เบียร์ในช่วง 80s ในนิวยอร์กถือว่าค่อนข้างซบเซา แม้จะเคยบูมมากในช่วงต้น 1900 แต่เมื่อเจอกฎหมายรับรองการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็กๆ และราคาของวัตถุดิบที่สูงเกินไป ก็ทำให้โรงผลิตเบียร์ขนาดเล็กต่างๆ ล้มหายตายจากไป การขึ้นมาของ Brooklyn Brewery จึงถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมมาก

ปี 1988 ทั้งคู่เริ่มนำเบียร์ไปเสิร์ฟที่แรกในบาร์เก่าแก่ตั้งแต่ปี 1887 ชื่อ Teddy”s ในย่าน Williamsburg ชื่อเสียงของเบียร์ Brooklyn Brewery เริ่มขยายออกไปเรื่อยๆ ผู้คนต่างร่ำลึกกันในเรื่องของรสชาติเบียร์ที่เข้มกว่าไฮเนเก้น มีกลิ่นฮอบส์ที่หอมรุนแรงกว่า และการพูดคุยที่เป็นกันเองของ Hindy และ Potter ที่ไปคุยกับลูกค้าเองตามบาร์ต่างๆ ทั้งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเบียร์ และแนะนำให้วัยรุ่นได้ลิ้มลองเบียร์รสชาติที่หลากหลาย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวันนี้

ปัจจุบัน Brooklyn Brewery เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของนิวยอร์ก ใครที่อยากจะลิ้มลองความเป็นนิวยอร์กก็ต้องเอาลิ้นมาสัมผัสน้ำอำพันนี้

พวกเขาเป็นโรงผลิตคราฟต์เบียร์ใหญ่อันดับที่ 12 ของประเทศ มีการพัฒนาและทดลองทำเบียร์ที่น่าสนใจและลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ

และสร้างชื่อไปทั่วโลก เฝ้ารอที่จะเสิร์ฟเบียร์เย็นๆ ให้กับนักท่องเที่ยวที่กระหายน้ำ

หลังจบจากการทัวร์ ผมเดินออกมาซื้อของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แล้วนั่งจิบเบียร์อีกแก้วต่อ นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกนั่งดื่มเบียร์ในบาร์ พลางพูดคุยกันอย่างออกรส

Brooklyn Brewery เป็นตัวอย่างที่ดีของโรงผลิตเบียร์ พวกเขาไม่ได้แค่เป็น “คนทำเบียร์” แต่คือ “คนสร้างวัฒนธรรม” เบียร์ของพวกเขาคือวัฒนธรรมที่กินได้ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัส กลายเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของย่าน Williamsburg

นอกจากนี้ ยังนำรายได้ไปสนับสนุนกับศิลปะแขนงอื่นๆ ทั้งอาหาร ดนตรี ศิลปะ และชุมชน พวกเขามอบรายได้ให้กับกลุ่มคนทำงานศิลปะรายย่อย เช่น โรงหนัง แกลเลอรี่ นักแสดงข้างถนน พิพิธภัณฑ์ พวกเขามีการจัด The Brooklyn Mash ทัวร์ที่เฉลิมฉลองเบียร์ อาหารและดนตรีไปตามเมืองต่างๆ 9 แห่งให้คนมาร่วมสนุกกัน พวกเขาทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านอาหารและศิลปะของรัฐบาล รวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ ของนิวยอร์กอย่างใกล้ชิด

Brook-lyn Brewery ใช้รสชาติและความหวานหอมของเบียร์ต่อยอดเป็นสังคมในฝันและวัฒนธรรมของตัวเอง

สำหรับพวกเขา เบียร์ = ศิลปะและวัฒนธรรม

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พอจะสะท้อนสถานการณ์คราฟต์เบียร์ในบ้านเราได้ วิธีการจัดการของภาครัฐต่อปัญหานี้ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับทัศนคติง่ายๆ ที่ว่า เรามองว่าเบียร์เป็นอะไรกันแน่

หากมองว่าเป็นน้ำเมา มันก็จะมอมเมาสังคม

หากมองว่าเป็นศิลปวัฒนธรรม มันก็จะสร้างสรรค์สังคมได้

มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมองเครื่องดื่มสีอำพันนี้ด้วยสายตาแบบไหน