วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ความรับผิดของบรรณาธิการ

วางบิล /เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ความรับผิดของบรรณาธิการ

 

เดือนตุลาคม นับแต่พุทธศักราช 2516 ถึง 2519 ยังไม่เคยมีปีใดที่จะสงบสุข

พ้นจากเดือนตุลาคม 2516 บรรดาผู้ต้องการประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต่างยื่นจดทะเบียนออกหนังสือพิมพ์อย่างที่เรียกว่า “เอิกเกริก” ด้วยเหตุเพียงยื่นขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์จะได้รับ “หัวหนังสือ” ภายในไม่กี่วันจากนั้น

ดังนั้น จึงมีผู้จดทะเบียนเป็น เจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาจำนวนไม่น้อย ขณะที่หนังสือพิมพ์ที่มีอยู่เดิมต่างตีพิมพ์ข่าว และบทความวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองและการเมืองอย่างเต็มที่

เรียกว่าเข้าสู่ยุคสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน การนำเสนอข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่ที่คิดว่าหนังสือพิมพ์ออกมามากฉบับ มิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการทำหนังสือพิมพ์ใช้เงินจำนวนไม่น้อย ไม่เหมือนเมื่อก่อน เว้นแต่ว่าจะมีผู้ต้องการออกหนังสือพิมพ์มาเพื่อการหนึ่งการใด เช่น การเมือง เป็นต้น

หนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจเรียกได้ว่ามียอดจำหน่ายดีขึ้น ผู้อ่านแทบว่าอยากอ่านเรื่องหรือข่าวใดจะได้อ่าน โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับการประท้วงหยุดงาน เรียกร้อง และให้จัดการเลือกตั้งทันที เช่นเดียวกับให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ขบวนการหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวกว่ากระบวนการอื่น มีอาทิ ขบวนการนิสิตนักศึกษา ขบวนการแรงงาน และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

 

ส่วนกระบวนการสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ยังมิได้ขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหวมากนัก ด้วยเหตุที่ยังมีประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงในหมวดของความผิดฐานหมิ่นประมาท นับแต่มาตรา 326 ถึง 333 คือความผิดต่อเกียรติ หมายถึงค่าของความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับ

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระทำโดยป่าวประกาศด้วยวิธีใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท (มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มโทษตามมาตรานี้ภายหลัง)

ส่วนการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ถือว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเองหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการรับผิดเพื่อละเมิดมาตรา 420 ถึงมาตรา 452

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

(นอกนั้นเป็นมาตราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรา 420 เป็นเรื่องที่บุคคล – โจทก์และจำเลย – ทนายความ และศาลจะร่วมกันพิจารณา)

 

ในเรื่องของความผิดและบทกำหนดโทษ ดังได้กล่าวไว้แล้วในพระราชบัญญัติการพิมพ์ อาทิ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็นตัวการเมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์และต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอื่น เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นแล้ว แต่ข้อเท็จจริง กรณีหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

นอกจากนั้น บรรณาธิการจะต้องแก้หรือลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โดยครบถ้วนในคราวเดียว และต้องอยู่ในหน้าเดียวกันกับเรื่องอันเป็นเหตุให้แก้หรือปฏิเสธนั้น

ฯลฯ

สิทธิขอให้แก้หรือลงหนังสือแก้หรือปฏิเสธดังว่ามานี้ เป็นอันระงับภายหลังหกเดือน นับแต่วันที่หนังสือพิมพ์นั้นออกโฆษณา

ความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ กฎหมายเปิดโอกาสให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ พนักงานสอบสวนในที่นี้หมายถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจทำการสอบสวน ได้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าพนักงานตำรวจที่จะมีอำนาจสอบสวนสำหรับความผิดเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ในจังหวัดอื่น พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปมีอำนาจสอบสวน

คดีความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดลหุโทษ สามารถตกลงยอมความได้ และเหตุอื่นที่อาจบรรเทาโทษได้เช่นกัน ดังเมื่อผมได้รับแต่งตั้งและจดทะเบียนเป็นบรรณาธิการฯ รองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช ขณะเป็นอาจารย์ในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำด้วยกันที่ธรรมศาสตร์ โทรศัพท์มาแสดงความยินดีและชวนไปเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายให้นักศึกษาในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ด้วยเหตุผลที่สำคัญไม่น้อย

คือการเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยเป็นเหตุบรรเทาโทษเนื่องจากทำคุณประโยชน์อย่างหนึ่ง