ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : รูป “พ่อแก่” เก่าแก่ที่สุด อยู่ที่นครธม ประเทศกัมพูชา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
พระอิศวร "นาฏราช" ฟ้อนรำที่ระเบียงคตด้านใน ปราสาทบายน เมืองพระนครหลวง (นครธรม" ประเทศกัมพูชา มีอายุราว พ.ศ. 1750

วัด “นาฏราช” อยู่ที่เมืองจิทัมพรัม ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.1450 มีรูปพระอิศวร (หรือที่บ่อยครั้งเรียกว่า พระศิวะ) ฟ้อนรำ 108 ท่า สลักอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่ (ซึ่งมีศัพท์เรียกซุ้มประตูอย่างนี้เป็นการเฉพาะว่า โคปุระ) เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ที่ในอินเดีย

แต่มีเฉพาะเมืองจิทัมพรัมสอดคล้องกับตำนานในปุราณะฉบับท้องถิ่นอินเดียใต้ชื่อ โกยิลปุราณัม ที่เล่าว่าพระอิศวรจะไปร่ายรำเป็นครั้งสุดท้ายที่ “ติลไลย” เมืองศูนย์กลางของโลก

เมือง “ติลไลย” ที่ว่า ปัจจุบันเรียกเมือง “จิทัมพรัม”

หนังสือไศวาคม คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกาย ที่นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่ อ้างว่า พระอิศวรมีท่วงท่าในการฟ้อนรำ 108 ท่า จำนวนเลขเดียวกันนี้ยังตรงกับจำนวนท่ารำในตำราแม่บทของการฟ้อนรำในอินเดียที่ชื่อว่า “นาฏยศาสตร์” ของภรตมุนี บางทีจึงเรียก “ภรตนาฏยศาสตร์” ชาวอินเดียจึงพากันถือว่า ท่ารำหรือที่มีศัพท์เฉพาะว่า “กรณะ” 108 ท่าในนาฏยศาสตร์คือท่ารำของพระอิศวร ภรตมุนีก็พลอยได้อานิสงส์เป็นพระภาคหนึ่งของพระอิศวรไปด้วย

นับเฉพาะในโลกอุษาคเนย์ มีเฉพาะจันทิ (วัด) ปรัมบนัน ทางภาคกลางของเกาะชวา ซึ่งสร้างขึ้นหลัง พ.ศ.1400 ที่มีภาพสลักพระอิศวรฟ้อนรำ 108 ท่าอยู่ที่รอบอาคารประธาน ที่สร้างขึ้นถวายพระอิศวร นอกจากนั้นทั่วทั้งอุษาคเนย์ไม่มีที่อื่นอีก

น่าแปลกนะครับที่ในวัฒนธรรมขอมโบราณ และจามปาก็นิยมจำหลักภาพพระอิศวรฟ้อนรำ กลับไม่มีที่สลักครบ 108 ท่า แต่มักจะสลักเพียงท่าเดียวไว้ตามบริเวณสำคัญภายในวัด หรือปราสาท โดยเฉพาะในวัฒนธรรมขอม ที่ภาพสลักของพระอิศวรท่านก็ฟ้อนในท่วงทำนองอย่างพื้นเมือง เทียบไม่ได้กับในตำราภรตนาฏยศาสตร์เลยสักนิด

สรุปว่าอุษาคเนย์ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่รู้จักรูปพระอิศวรฟ้อนรำ แต่ไม่ได้ลอกแบบอย่างการฟ้อนรำมาจากภรตนาฏยศาสตร์ ยิ่งไม่เคยปรากฏการสลักรูปพระอิศวรร่ายรำ 108 ท่า

อุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้พูดภาษาตระกูลมลายู ไม่นิยมเรื่องพระอิศวรร่ายรำ 108 ท่า

แต่รู้จักภรตมุนีผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ที่โยงใยกันผ่านวัฒนธรรมดนตรี

โดยเฉพาะเมื่อมีการกระจายตัวของวัฒนธรรมฆ้องขนานใหญ่ (หลังผ่านพัฒนาการจากมโหระทึกไปสู่เครื่องดนตรีโลหะขนาดเล็ก) ที่ทำให้เกิดความหลากหลายของเสียงดนตรีมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมดนตรีที่ว่าถ่ายโอนกันไปมาระหว่างอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ และภาคหมู่เกาะผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้า และการเมืองการปกครองอีกทอดหนึ่ง สรรพความรู้ หรือเรื่องราวในศาสนาต่างๆ ก็โอนถ่ายกันไปมาผ่านเครือข่ายที่ว่านี้เอง

“พระอิศวร” ในอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่จึงมีท่าฟ้อน 108 และรู้จัก “ภรตมุนี” ที่ครองเพศเป็นฤๅษี มีรูปลักษณะอย่างผู้ชายมีอายุ ในฐานะภาคหนึ่งของพระอิศวร แล้วเรียกว่า “พ่อแก่” เพราะเป็นฤๅษีครองเพศนักบวชไปด้วย

แต่ “พระอิศวร” เริ่มถูกเหมารวมกลายเป็น “พ่อแก่” ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ผมเดาเอาว่าในวัฒนธรรมขอมยุคเก่าก่อน เมื่อสมัยที่ยังสร้างปราสาทหินกันอยู่ ก็พวกขอมยุคที่สยามยกให้เป็นครูนั่นแหละครับ

หลักฐานอยู่ในรูปสลักพระอิศวร “นาฏราช” ฟ้อนรำอยู่ที่ระเบียงคตชั้นในปราสาทบายน อันเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา โดยมีเหล่าเทพเจ้าตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูทั้งหลายมีทั้ง พระนารายณ์ พระพรหม และพระคเณศ เฝ้าชมพระอิศวรร่ายรำอยู่

ภาพสลักที่ว่าจำหลักขึ้นเมื่อราวเรือน พ.ศ.1750 พระอิศวรท่านทรงมีพระมัสสุ และพระทาฐิกะ (หนวด และเครา) ซ้ำยังเกล้าพระเกศา (ผม) เป็นมวยรวบขึ้นสูงอย่างผู้ครองเพศนักบวช

นับเป็นหลักฐานเก่าแก่สุดในอุษาคเนย์ที่พระอิศวรฟ้อนรำในฐานะ “นาฏราช” ขณะที่ครองเพศบรรพชิต

น่าเสียดายที่ภาพสลักลบเลือนตามกาลเวลาไปพอสมควร ซ้ำยังมีตะไคร่เขียวเกาะก่ายอยู่จนภาพถ่ายอาจจะดูรู้เรื่องได้ค่อนข้างยาก เมื่อถ่ายภาพมาเมื่อหลายปีก่อน ผมจึงต้องไหว้วานมิตรสหายรุ่นน้อง ผู้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี แถมยังวาดภาพได้สวยงามอย่าง คุณปติสร เพ็ญสุต อดีตอาจารย์ประจำสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ถ่ายทอดภาพถ่ายออกมาจนกลายเป็นภาพลายเส้นให้เห็นกันชัดๆ อย่างที่เห็นอยู่นี้นั่นเอง

แต่การแสดงรูปพระอิศวรอย่างนักบวชไม่ได้มีที่ปราสาทบายนเป็นแห่งแรก หน้าบันรูปพระอิศวร ที่โคปุระ (ซุ้มประตู) ปราสาทธมมานนท์ เมืองพระนคร ที่สลักขึ้นเมื่อราวหลัง พ.ศ.1650 ก็แสดงรูปพระอิศวรครองเพศนักบวช เพียงแต่ท่านนั่งสงบเข้าฌานทรงศีล ไม่ได้ลุกขึ้นมาฟ้อนเหมือนที่ปราสาทบายนในยุคหลัง

พวกขอมรู้จัก “ภรตมุนี” เจ้าของตำรานาฏยศาสตร์ในฐานะภาคหนึ่งของพระอิศวรจากชวา แล้วส่งต่อมาให้ชาวสยามที่อยุธยาผ่านทางละโว้ เมืองเครือข่ายที่สำคัญทั้งของขอม และของอยุธยาด้วย

ชาวสยามเรียกพระอิศวรในภาคภรตมุนีว่า “พ่อแก่” แต่ปกรณ์ของพระอิศวรในฐานะราชาแห่งการระบำรำฟ้อนจะเป็นอย่างไร ในชั้นหลังนั้นหลงลืมไปหมดแล้ว

หนังสือนารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2417 และโคลงเทวปาง ที่ระเบียงคต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือวัดพระแก้ว เล่าถึงเหตุการณ์ตอนพระอิศวรปราบมูลาคะนียักษ์ด้วยการขึ้นไปเหยียบอยู่บนหลังยักษ์ แล้วเปิดท่อน้ำท่อไฟออกจากพระกรรณให้ตกต้องศีรษะอสูรมูลาคะนีจนสิ้นฤทธิ์ ปกรณ์เรื่องที่ว่าดูจะเลือนไปจากต้นฉบับของชมพูทวีปอยู่มาก

เรื่องดังกล่าวใกล้เคียงกับปกรณ์ในโกยิลปุราณัมที่ว่า พระอิศวรไปปราบเหล่าฤๅษีทุศีลในป่าตารกะ เหล่าฤๅษีพยายามทำร้ายพระอิศวรแต่ไม่สำเร็จ

ท้ายสุดจึงส่งอสูรแคระมูลยกะไปทำร้ายพระองค์

แต่พระอิศวรกลับจับอสูรแคระที่ว่าใช้เป็นฟลอร์เต้นรำ เหล่าฤๅษีจึงพ่ายแพ้

ความตอนนี้เป็นต้นเรื่องให้พระอิศวรไปฟ้อนรำที่ติลไลย หรือเมืองจิทัมพรัม ศูนย์กลางโลก ตามความเชื่อของชาวทมิฬอย่างที่ผมได้อ้างไว้ข้างต้น

ยักษ์ “มูลาคะนี” ก็คือ อสูรแคระ “มูลยกะ” ส่วนท่อน้ำท่อไฟที่ออกมาจากพระกรรณของพระอิศวรที่มีอยู่ในตำนานข้างไทยก็คือชายพระเกศาของพระอิศวรที่สยายออกยามร่ายรำอยู่เหนือมูลยกะ ตามอย่างที่สุนทรียรสอย่างอินเดียใต้ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปแม้กระทั่งในเครือข่ายของพวกพราหมณ์ชาติพันธุ์ทมิฬ ที่โบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช ก็พบอยู่องค์หนึ่ง

ชาวสยามจึงรู้จักพ่อแก่ผ่านทางขอม ตั้งแต่ช่วงยุคก่อน หรือต้นกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ค่อยเลือนลาง จนพ่อแก่จะเป็นใครนั้นไม่รู้ รู้แต่ว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นครูแห่งนาฏศิลป์ และพ่วงดนตรีการเข้าไปด้วยในภายหลัง ยิ่งลืมไปเลยว่าพระอิศวรท่านฟ้อนงาม รำสวย มารู้จักอีกทีก็เมื่อฝรั่งบอก

แต่ไม่เคยรู้ว่า “พ่อแก่” ของตัวเองนั่นแหละคือ พระอิศวร “นาฏราช”