“ป.ต.อ.” ทางเลือกใหม่เด็กไทยจริงหรือ จะเป็นที่นิยม หรือสะดุด หยุดกึก เสียก่อน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

คุยเรื่อง หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา (ป.ต.อ.) นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ถอดด้ามของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต่อจากตอนที่แล้ว

เพื่อตอบโจทย์ การศึกษากับการมีงานทำ การศึกษากับการลงมือทำ เน้นปฏิบัติกับของจริง จากเดิมเน้นแต่ตัวหนังสือ ในตำรา ท่องจำกับทฤษฎีเป็นหลัก จาก Passive Learning หันมาเน้น Active Learning ให้มาก

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบความถนัดและความชอบของตัวเองตั้งแต่เล็ก

 

เนื้อหาสาระ หรือโครงสร้างหลักสูตรออกแบบรองรับนักเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องเรียนในหมวดวิชาต่างๆ รวมไม่น้อยกว่า 81 หน่วยกิต (3,600 ชั่วโมง) ใช้เวลา 3 ปี เน้นวิชาชีพ 6 สาขา เรียนจบได้ประกาศนียบัตร ป.ต.อ. เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

หมวดทักษะชีวิต 63 หน่วยกิต ประกอบด้วย กลุ่มวิชาภาษาไทย กลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ กลุ่มวิชาสังคมศึกษา กลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา กลุ่มวิชาศิลปะ กลุ่มวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี

หมวดวิชาทักษะวิชาชีพ 18 หน่วยกิต เป็นวิชาชีพบังคับ กลุ่มทักษะวิชาชีพอุตสาหกรรม กลุ่มทักษะวิชาชีพพาณิชยกรรม กลุ่มทักษะวิชาชีพศิลปกรรม กลุ่มวิชาชีพทักษะคหกรรม กลุ่มทักษะวิชาชีพเกษตรกรรม กลุ่มทักษะวิชาชีพอุตสหกรรมท่องเที่ยว

กิจกรรมเสริมหลักสูตรไม่น้อยกว่า 360 ชั่วโมง จัดการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการ ชุมชนและท้องถิ่น พัฒนาและจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและสภ่าพของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำรงชีวิต และโอกาสการมีงานทำ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นหลักการ ความตั้งใจ และแนวทางปฏิบัติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2560 เปิดเทอมเดือนพฤษภาคม ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการคึกษาขั้นพื้นฐาน นำร่อง 10 แห่ง ตามเขตพื้นที่การศึกษาอาชีวศึกษา 5 ภาค ภาคละ 2 โรง

 

รายละเอียดต่างๆ นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ต่อไปต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และประกาศใช้หลักสูตรโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นับวันเวลาจากนี้ไปจนถึงเปิดเทอม อีกเพียงแค่ 3-4 เดือน จะดำเนินการทันหรือไม่

แม้จะเป็นการทดลองนำร่องก็ตาม ประเด็นความพร้อม ทั้งคน ทั้งของ อุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือที่ต้องใช้ในการเรียนและฝึกปฏิบัติ คุณภาพการจัดการเรียนการสอน เป็นเรื่องสำคัญต้องเอาจริง ทำให้ดีที่สุด ไม่พร้อมอย่าดึงดันเพราะมีอนาคตเด็กเป็นเดิมพัน

ทั้งวิทยาลัยอาชีวะ ทั้งโรงเรียน ผู้บริหาร ครู อาจารย์ในสถาบัน นักวิชาชีพ ที่มีประสบการณ์ในสถานประกอบการ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะเชิญมาให้ความรู้

ที่สำคัญคือ นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเข้าใจ มั่นใจ และสบายใจ เรียนแล้วมีความหวัง มีความสุข

 

ข้อเสนอแนะของกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายท่านต่อเรื่องนี้ น่ารับฟัง ต่างล้วนเห็นด้วยในหลักการ ความตั้งใจและสนันสนุน

“หลักการ จุดมุ่งหมายการสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดี สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตร แต่อยู่ที่การเอาไปทำให้ได้อย่างมีคุณภาพ นักเรียนที่จะเข้ามาเรียนเป็นระดับประถมศึกษา จบประถมหก ต้องคิดถึงเรื่องจิตวิทยาพัฒนาการเด็กมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสนับสนุนจากภาครัฐกับการจัดการอาชีวศึกษา ถ้าเทียบกับอุดมศึกษาแล้วยังแตกต่างกันลิบลับ อาชีวะได้น้อยกว่าหลายเท่า” พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการสะท้อนคิด และว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างยิ่ง อยากให้หลักสูตรแบบนี้เกิดและยั่งยืน

คาดว่านักเรียนที่จะเลือกหันเหทิศทางการศึกษามาสู่เส้นทางสายนี้น่าจะเป็นลูกคนชั้นกลางถึงชั้นล่าง พื้นที่ห่างไกลในชนบท กลุ่มเด็กยากจนในโรงเรียนนอกเมือง ต้องการมีอาชีพช่วยเหลือครอบครัวและประกอบอาชีพในอนาคต ขณะที่ลูกหลานคนมีสตางค์ยังเลือกเดินทางสายสามัญ เรียนโรงเรียนดังๆ ในเมือง เสียส่วนใหญ่

สิ่งที่ผู้จัดการหลักสูตร และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับต้องทำให้เกิดขึ้น คือการประสานความร่วมมือทั้งระดับบนและระดับสถานศึกษา ช่วยกันชี้แจง ประชาสัมพันธ์ ทั้งหลักการและรายละเอียด ให้นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น มองเห็นภาพ และอนาคตของลูกหลาน เพื่อตัดสินใจเดินเส้นทางสายอาชีพตั้งแต่เมื่อเรียนจบประถมศึกษาซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย จากค่านิยมเดิมที่ยังฝังแน่นอยู่

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องน่าสนับสนุน และให้กำลังใจ

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีความร่วมมือเปิดหลักสูตรทวิศึกษา (Dual Education) หรือโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย จบแล้วได้ประกาศนียบัตรทั้งสายสามัญ มัธยมศึกษาตอนปลาย และสายอาชีพ (ปวช.) สามารถไปต่อมหาวิทยาลัยได้ทั้งสองสาย หรือจะเลือกประกอบอาชีพเลยก็มีความรู้และประสบการณ์วิชาชีพที่เรียนมาเป็นฐาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

พยายามผลักดันกันเต็มสูบ แต่สัดส่วนนักเรียนจบมัธยมศึกษาไปเรียนต่อ ระหว่างต่อสายสามัญกับสายอาชีพก็ยังติดแหง็กอยู่ที่ 60 ต่อ 40 โดยเฉลี่ย ถึงแม้มีสัญญาณดีขึ้นก็ตาม ขณะที่นักเรียนสายอาชีวะมีสถิติการออกกลางคันด้วยสาเหตุต่างๆ ถึง 30%

 

ครับ คุยเรื่องนี้แล้วคิดถึงหลักสูตรมัธยมแบบประสม (คมส.) เรียนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยม ใครต่อใครพากันเชียร์ สพฐ. ให้เอา คมส. คืนมา

แต่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะติดกับดักผลสัมฤทธิ์ ความเป็นเลิศ โอเน็ต ต่างๆ นานา

ทำนองเดียวกันกับอีกหลักสูตรหนึ่ง หลักสูตรสำคัญ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กระทรวงศึกษาฯ ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงฯ คณะแล้วคณะเล่า ยังไม่รู้ว่าจะคลอดได้เมื่อไหร่

หรือรอดูผลหลักสูตร ป.ต.อ. จะมีนักเรียนเลือกเข้าเรียนมากน้อยแค่ไหน หลักสูตรจะเป็นที่นิยม หรือสะดุด หยุดกึก เสียก่อน หลักสูตรใหญ่ค่อยเคลื่อนตัวออกมา

คำตอบอยู่ที่ผู้มีอำนาจส่วนหัวในกระทรวงศึกษาธิการเป็นสำคัญ อีกนั่นแหละ