คุยกับทูต ‘อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด’ หยุดการปิดกั้น ขอให้ชาวแคชเมียร์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง (2)

เมื่อรัฐบาลอินเดียอาศัยอำนาจของประธานาธิบดีประกาศยกเลิกกฎหมายมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญอินเดีย ยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) ซึ่งได้สิทธิในการปกครองตนเองหลายประการ

ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การทหาร และการสื่อสาร

ให้กลายเป็นเพียงดินแดนสหภาพ (Union Territory) ซึ่งจะถูกปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลางนิวเดลี แม้ว่าจะยังคงมีสภานิติบัญญัติที่ได้รับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

นับเป็นการบั่นทอนความเป็นพลเมืองและสถานะการปกครองตนเองของชาวแคชเมียร์และจัมมู สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลอินเดียปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ

โดยรัฐบาลอินเดียให้เหตุผลในการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวว่า ขัดขวางการพัฒนาของแคชเมียร์ที่ไม่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ

เพราะกฎหมายแคชเมียร์ห้ามชาวต่างชาติและชาวอินเดียจากพื้นที่อื่นถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรืออยู่อาศัยเป็นการถาวรในแคชเมียร์

อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้แคชเมียร์ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอินเดีย

ส่งผลให้นายอิมราม ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีของปากีสถานกล่าวว่า การกระทำของอินเดียเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและกังวลว่าอินเดียจะกำลังจะกลืนชาติพันธุ์ในแคชเมียร์

ส่วนดินแดนลาดักห์ (Ladakh) ภูมิภาคเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ก็ถูกแยกให้กลายเป็นดินแดนสหภาพอีกแห่งหนึ่ง

ซึ่งจะถูกปกครองโดยตรงจากนิวเดลีและจะไม่มีสภานิติบัญญัติ

ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การให้ใช้เฉพาะธงชาติอินเดียแทนธงชาติแคชเมียร์

การยกเลิกระบบความเป็นพลเมืองสองสัญชาติของคนในรัฐนี้

การให้มีการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปีเช่นในอินเดีย

ที่น่าสนใจคือ อนุญาตให้ชาวอินเดียทั่วประเทศซื้อที่ดินในรัฐแห่งนี้ได้ หลังจากเป็นข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ

ดินแดนแคชเมียร์เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถานมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่การได้เอกราชจากสหราชอาณาจักร

เนื่องจากปากีสถานอ้างสิทธิในการปกครองแคชเมียร์เพราะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน

ขณะที่อินเดียไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้แคชเมียร์กลายเป็นดินแดนที่ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลอินเดียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหนือพื้นที่รัฐชัมมูและแคชเมียร์เดิม สั่งปิดกั้นการสื่อสารทั้งหมด (communication blackout)

ส่งกองกำลังทหารเพิ่มอีก 180,000 นายเข้าพื้นที่

เท่ากับว่าแคชเมียร์มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกว่า 880,000 นาย

กลายเป็นเขตที่มีกองทหารประจำการมากที่สุดในโลกขณะนี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในครั้งนี้นำไปสู่การแยกตัวเป็นสหภาพดินแดนใหม่

ทั้งที่หลายฝ่ายมองว่า การกระทำในครั้งนี้อาจผิดกฎหมาย

ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการทำลายความพยายามในการผนวกรวมชัมมูและแคชเมียร์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสันติ

กลายเป็นการเปลี่ยนแคว้นแคชเมียร์ให้เป็นคุกขนาดใหญ่ของโลก รวมทั้งการก่อตัวของอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดูสุดขั้วของอินเดีย และการดูดกลืนชาวแคชเมียร์ด้วยความรุนแรงทางทหาร

ทำให้นางเมห์โบบา มุฟตี (Mehbooba Mufti) อดีตมุขมนตรีของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ ออกมากล่าวว่า นี่ถือเป็นวันที่มืดมิดที่สุดสำหรับประชาธิปไตยในอินเดีย (The Darkest Day in Indian Democracy)

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ซึ่งมารับหน้าที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2017 กล่าวถึงวิกฤตการณ์ในแคชเมียร์ว่า

ปากีสถานจะใช้แนวทางทางการทูต การเมือง และกฎหมาย เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ แต่จะไม่ใช้ทางเลือกทางการทหาร

“เราต้องการให้ประชาคมระหว่างประเทศตื่นขึ้นมาให้ความสนใจกับวิกฤตการณ์นี้ ดังที่นายกรัฐมนตรีของเรากำลังขอให้เพื่อนของเราในชุมชนระหว่างประเทศทุกประเทศ และสหประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกถาวร 5 ประเทศ ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบในหน้าที่ด้วยการแนะให้อินเดียยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเข่นฆ่า และยกเลิกคำสั่งในรัฐธรรมนูญ เพื่อนำสถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติ”

“เรากำลังขอให้เพื่อนของเราได้ติดต่ออินเดียเพื่อช่วยบรรเทาไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และเข้าสู่การเจรจากับปากีสถาน แล้วช่วยกันหาทางออกที่สงบสุข เรากำลังขอให้เพื่อนของเรากระตุ้นให้ทั้งสองประเทศ อินเดียและปากีสถานได้ดำเนินการตามมติของสหประชาชาติซึ่งมีอยู่แล้ว เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา หากไร้ซึ่งการปฏิบัติจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นทุกวัน”

“เราจะไม่พูดถึงหลายประเทศมีผลประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์กับประเทศใหญ่ และผมก็ไม่ได้พูดว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย มีหลายสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ทำให้มากเท่าที่ควร”

“หลายประเทศได้ให้ถ้อยแถลง ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา รัฐสภายุโรป (European Parliament: EP) ก็ได้หารือกันแล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนมีรายงานออกมาถึงสองฉบับ และนี่ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องในวันที่ 5 ของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเท่านั้น เมื่อปีที่แล้วคือ 2018 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแคชเมียร์ ซึ่งกล่าวว่า มีปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นที่นั่น การฆ่า การทรมาน การหายตัวไป และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย และได้ขอให้อินเดียดำเนินการแก้ไข”

ท่านทูตอาซิมชี้แจง

โดยเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายอิมราน ข่าน แถลงในที่ประชุมซิกห์ระหว่างประเทศในกรุงละฮอร์ว่า ปากีสถานจะไม่เป็นผู้เริ่มก่อสงครามกับอินเดีย

แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามหากมีความตึงเครียดมากขึ้น และทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลอินเดียยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวและถอนทหารออกจากพื้นที่แคชเมียร์ ก็จะมีการเจรจาเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติและสร้างความสัมพันธ์ตามเดิม

ประชาชนหลายพันคนในปากีสถานได้ออกมาประท้วงรัฐบาลอินเดียอย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาดูสถานการณ์ในเมืองศรีนคร แคชเมียร์

และขอให้ประชาคมโลกหามาตรการกดดันอินเดียให้คืนเสรีภาพแก่ชาวแคชเมียร์ทันที

“ส่วนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ได้ออกรายงานภาคต่อฉบับเต็ม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้เน้นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้รณรงค์เพื่อชาวแคชเมียร์ด้วยแคมเปญ #LetKashmirSpeak”

องค์การนิรโทษกรรมสากล คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านคนที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ร่วมมือกับรัฐเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครอง ไปจนถึงสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนและคนในสังคม

ด้วยพลังของคนธรรมดาๆ การซ้อมผู้ต้องหาของตำรวจกลายเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ที่ถูกจับเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐได้รับการปล่อยตัว ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนยากจนที่ถูกรังแกได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย

คนหลากเชื้อชาติ เพศ ศาสนา และพื้นเพ ต่างเข้าถึงสิทธิทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

“แคมเปญ #LetKashmirSpeak ได้ผล เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คือการรณรงค์ที่พวกเขาขอให้ผู้คนเขียนถึงรัฐบาลอินเดีย เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดีย หยุดการปิดกั้นช่องทางการติดต่อสื่อสารทั้งหมดในแคชเมียร์ หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสังหาร และการสอดแนมประชาชน ซึ่งผ่านมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว นี่คือสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศกำลังทำ และผมคิดว่า ทุกคนต่างก็ทำในส่วนของตนเองด้วย ประเด็นคือประเทศใหญ่ๆ นั้นยังทำไม่เพียงพอและเรากำลังเรียกร้องให้พวกเขาทำมากกว่านั้น เพราะเป็นความรับผิดชอบของพวกเขา”

“ผมขอเล่าย้อนไป ตอนที่สถานการณ์เริ่มจะเลวร้ายลงไปทุกขณะ ปากีสถานได้มีหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขอให้มีการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ อินเดียได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการโน้มน้าวให้ประเทศใหญ่ๆ บางประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ การประชุมมีขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และจากการประชุมสมาชิกส่วนใหญ่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง และที่สำคัญ มีหลายประเทศ ได้กล่าวและอ้างถึงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องแคชเมียร์”

“อินเดียกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องภายในของเราและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่ควรนำมาประชุมกัน แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้จัดการประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ การโต้แย้งและตรรกะของอินเดียจึงไม่สมเหตุสมผล ถึงจะดูในแผนที่ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นดินแดนที่ยังมีข้อพิพาทที่สหประชาชาติกำลังบอกว่า ต้องถามผู้คนในแคชเมียร์”

“ตัวอย่าง ถ้าผมอยู่ในบ้าน โดยมีคุณเป็นเพื่อนบ้าน แต่เมื่อวันหนึ่งผมเริ่มขว้างก้อนหินเข้าไปทำลายหน้าต่างบ้านของคุณ กระโดดข้ามรั้ว และทำลายรถของคุณ หรือคุณสร้างกำแพงยาวที่ขวางกั้นมุมมองของผม ผมไม่สามารถพูดว่านี่เป็นเรื่องภายใน เพราะสิ่งที่ผมกำลังทำ มีผลกับคุณ นี่เป็นเรื่องทวิภาคี ซึ่งเราต้องแก้ไขหากไม่ได้รับการแก้ไขในฐานะเพื่อนบ้านเราจะอยู่อย่างสันติไม่ได้ เพราะอาจมีเพื่อนบ้านหรือเพื่อนที่มาจากที่อื่นพยายามช่วยแก้ไขปัญหา”

“สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินมากว่า 70 ปี เสมือนเพื่อนบ้านที่มีเรื่องขัดแย้งกันตลอดมา เราใช้ความพยายามมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่อีกฝ่ายเปลี่ยนประเด็น การเจรจาจึงไม่เกิดขึ้น พอเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย อินเดียกลับแสดงจุดยืนว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะก็เห็นชัดว่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศ”

“นี่คือวิธีที่ผมอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องภายในประเทศ แต่เป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนนับล้านในดินแดนนั้น มีผู้คน 14 ล้านคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นและกำลังถูกคุกคาม เป็นข้อพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเหล่านั้น จึงต้องจริงจังกับเรื่องนี้ ซึ่งมีแต่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ มีการสู้รบและอาจมีสงครามอีกครั้ง โดยเฉพาะทั้งสองประเทศ อินเดีย และปากีสถาน เป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์และหากเกิดสงครามก็จะสร้างความพินาศและหายนะอันใหญ่หลวง”

“สิ่งที่รัฐบาลปากีสถานกำลังทำอยู่ คือขอให้ประเทศทั้งหลาย ซึ่งมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ควรกระตุ้นให้อินเดียหยุดและถอย ให้มีการเจรจากับปากีสถานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสงบ และพวกเขาต้องเรียกร้องให้อินเดียเคารพสัญญาตามที่ให้ไว้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ว่าผู้คนในแคชเมียร์จะต้องได้รับอนุญาตให้แสดงความประสงค์ของพวกเขา”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือสิ่งที่ตรงกันข้าม”

“คำถามว่า ทำไมรัฐบาลอินเดียถึงไม่ยอมให้ผู้คนในแคชเมียร์ออกจากบ้าน”

“มีคำตอบที่ง่ายมาก เพราะทันทีที่พวกเขาออกมาจากบ้าน ก็จะประท้วงเพื่อขอให้ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่อินเดียไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาล็อคผู้คนให้อยู่แต่ในบ้าน ใครก็ตามที่ออกมาจะถูกยิงด้วยปืนอัดเม็ด (pellet guns) กระสุนเม็ดเล็กๆ หลายร้อยเม็ดจะออกมาแทงทะลุตามร่างกาย หลายคนสูญเสียดวงตากลายเป็นคนตาบอด”

ท่านทูตอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด กล่าว

ด้านนายพลกามาร์ จาเว็ด บาจาวะ (Army Chief General Qamar Javed Bajw) ผู้บัญชาการทหารบกของปากีสถานกล่าวว่า กองทัพปากีสถานพร้อมสำหรับ “ทุกการเสียสละ” และ “จะไม่มีวันละทิ้ง” ผู้คนในแคชเมียร์ในการต่อสู้เพื่อการตัดสินใจด้วยตนเองตามมติของสหประชาชาติ (UN resolutions)

ส่วนท่านทูตอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด กล่าวเพิ่มเติมว่า

“ปากีสถานพร้อมเสมอที่จะรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขสถานการณ์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองคู่ขัดแย้ง ควรตระหนักถึงปัญหา และมีบทบาทในการยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามและเกิดการสูญเสียมากไปกว่านี้”