ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | Pop Teen |
เผยแพร่ |
ทุกครั้งเวลาได้อ่านประวัติผู้ทรงอิทธิพลของโลก หรือเฝ้ามองคนยิ่งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผมมักจะเกิดคำถามเสมอว่า
คนเหล่านี้เอาพลังมาจากไหน
จุดเริ่มต้นของพลังที่ยิ่งใหญ่นี้คืออะไร
อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ
ผมเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของศิลปินหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกในปี 2015 อย่าจากเว็บไซต์ elle.com
ในบทความนั้นบอกว่าบียอนเซ่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อปมากแค่ไหน และมีพลังในการปลุกเร้าให้ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองมากเพียงใด
ในช่วงหนึ่งของบทสนทนา ผู้สัมภาษณ์ถามเธอว่า
“คุณพอจะจำได้ไหมว่า ช่วงไหนของชีวิตที่คุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีพลังที่แท้จริง”
ก่อนจะไปฟังคำตอบ ลองไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้นกว่านี้สักเล็กน้อยครับ
ผมไม่ใช่แฟนเพลงของ Beyonce แต่เธอเป็นศิลปินสาวไม่กี่คนที่ผมติดตามอย่างใกล้ชิดมาตลอดราวกับเป็นแฟนเพลงตัวยง
เมื่อก่อนผมยกย่องเธอในความเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจ ต่อมาผมชื่นชมในฐานะนักสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เธอเป็นทั้งนักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยม เอ็นเตอร์เทนเนอร์ตัวท็อปบนเวที เจ้าของธุรกิจมิวสิกสตรีมมิ่ง Tidal และแบรนด์แฟชั่น Ivy Park รวมทั้งเป็นศิลปินผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมดนตรีจากการปล่อยอัลบั้มแบบไม่ง้อขนบเดิมไปเมื่อปี 2013
ตลอด 19 ปีในวงการบันเทิง เธอขายอัลบั้มในฐานะศิลปินเดี่ยวไปกว่า 100 ล้านก๊อบปี้ และในฐานะศิลปินกลุ่ม Destiny”s Child 60 ล้านก๊อบปี้ ส่งผลให้เธอเป็นศิลปินที่มีผลงานขายดีที่สุดตลอดกาลคนหนึ่ง
นอกจากนี้ เธอยังเป็นเจ้าของรางวัลแกรมมี่ 20 รางวัล และเป็นศิลปินหญิงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่ในปัจจุบัน โลกกำลังเฝ้ามองเธอในอีกบทบาท
เรื่องของเรื่องก็คือ เธอเพิ่งออกอัลบั้มใหม่ซึ่งเป็นสตูดิโออัลบั้มที่หกในชีวิตของเธอ ชื่อ Lemonade เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สิ่งที่เธอทำในครั้งนี้คล้ายกับอัลบั้มที่แล้วอย่าง Beyonce ในปี 2013 ก็คือเป็นภาคต่อของ Visual Album ที่ไม่มีการปล่อยข่าวว่าเธอจะวางแผงอัลบั้มนี้แต่อย่างใด (แม้ว่าหลายคนจะเดาได้จากการที่เธอประกาศทัวร์คอนเสิร์ต The Formation World Tour หลังจบการแสดงในซูเปอร์โบล์ว)
จู่ๆ เธอก็วางขายเลยโดยไม่ยึดขนบประเพณีแบบเดิมที่ต้องมี album cycle

สิ่งที่อัพเกรดจากอัลบั้มที่แล้วคือ แทนที่จะทำมิวสิกวิดีโอแยกเป็นเพลงๆ อย่างเดียว คราวนี้เธอนำเอ็มวีเหล่านั้นมาร้อยเรียงกันทำเป็นหนังความยาวเกือบหนึ่งชั่วโมงเสียเลย!
แถมยังฉายพรีเมียร์ใน HBO เสียด้วย นอกจากนี้ เธอยังวางขายอัลบั้มนี้ในมิวสิกสตรีมมิ่ง Tidal (ของสามีนางเอง) ก่อนที่อื่นๆ 24 ชั่วโมง และวางขายบน iTunes และ Amazon ในเวลาต่อมา
มองในแง่ธุรกิจดนตรี Lemonade ถือเป็นการ “disrupt” หรือ “สั่นสะเทือน” รูปแบบการขายและการฟังดนตรีอีกครั้ง เธอมีอิทธิพลถึงขนาดที่ไม่ต้องวางแผนการโปรโมตแบบเดิมๆ เธอมีแพลตฟอร์มการขายอย่าง Tidal ในมือตัวเอง และในยุคที่พฤติกรรมของคนฟังเปลี่ยนไปเป็นฟังทีละเพลง แยกเป็นส่วนๆ เธอยังกึ่งๆ บังคับให้ทุกคนควรจะฟังเป็นอัลบั้ม เพราะเธอนำเอ็มวีทั้งหมดมาต่อกันเป็นหนัง (ซึ่งภาพสวยมาก) หากอยากได้แมสเสจที่เธอต้องการสื่อทั้งหมด ก็ต้องดาวน์โหลดทั้งอัลบั้ม
แต่นั่นเป็นเพียงแค่แรงสั่นสะเทือนเดียวที่บียอนเซ่ได้สร้างเอาไว้ เพราะสื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างสนใจในประเด็นที่เธอกำลังป่าวประกาศไว้ในเพลงมากกว่า
The Guardian ถึงกับมีบทความเกี่ยวกับเธอมากกว่า 3 บทความ รวมไปถึงมีบทความที่ตั้งชื่อว่า How Beyonc?”s Lemonade became a pop culture phenomenon
ประเด็นหลักๆ ที่สื่อสนใจมีด้วยกัน 2 ประเด็น
หนึ่งคือความสัมพันธ์ของเธอกับ เจย์ ซี
สองคือความเป็นเฟมินิสต์และนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนผิวสี ชาติพันธุ์แอฟริกัน-อเมริกัน
เริ่มกันที่ประเด็นแรกกันก่อน

หลายคนพอได้ดูหนัง ฟังเพลง อ่านเนื้อเพลงของเธอ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่มันแต่งเพลงด่าผัวนี่หว่า!” เพราะหลายๆ ท่อนพูดถึงสามีของเธออย่างตรงไปตรงมา
เช่น ประโยคในเพลงแรก Pray You Catch Me ที่ว่า
“You can taste the dishonesty.”
หรือคำพูดที่ว่า
“final warning” : “If you try that shit again, you”re going to lose your wife.”
ที่เด็ดที่สุดต้องยกให้เนื้อเพลงจากเพลง Sorry กับท่อนที่ร้องว่า
“He better call Becky with the good hair”
และ
“I regret the night I put that ring on”
จนลือกันสนั่นซอยว่า Becky คือใคร และเชื่อว่า เจย์ ซี ผัวนางนอกใจแน่นอน
แต่ข่าวก๊อสซิปดารานั่นผมไม่แน่ใจจริงๆ เพราะเราก็ยังเห็นภาพ เจย์ ซี มาร่วมงานเปิดตัวอัลบั้ม หรือภาพทั้งคู่จู๋จี๋กันอยู่ แต่ก็นั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลงเพื่อระบายความในใจ
หรือแค่พยายามสร้างข่าวให้เป็นกระแส ก็ต้องยอมรับว่า การใช้เนื้อเพลงที่ล่อแหลมและน่าวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับอัลบั้มนี้มากขึ้นไปอีกหลายเท่า

ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องการเป็นเฟมินิสต์และนักรณรงค์สิทธิของคนผิวสีนั้น คงต้องเท้าความกันนิดนึง
เพราะบางคนที่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงเธอ อาจจะงงๆ ว่า แต่ก่อนก็เห็นเป็นนักร้องสาวสวยที่เพลงเน้นเรื่องเซ็กซ์ ความเย้ายวน หรือความรักมากกว่า อะไรทำให้เธอหันมาพูดเรื่องใหญ่และหนักแน่นแบบนี้
จุดเริ่มต้นของการใช้พลังที่เธอมีมาในทางการเมืองและสังคม เกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อเธอเริ่มใส่นิยามความหมายของเฟมินิสต์ลงไปในเพลง Flawless และเธอยังเขียนคำว่า feminist ในฟอนต์สีชมพูแล้วปิดอยู่ทั่วฮอลล์คอนเสิร์ต
เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Elle ว่า
“ถ้าคุณเป็นพ่อที่อยากให้ลูกสาวมีโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกับลูกชาย คุณก็ถือเป็นเฟมินิสต์แล้ว”
อีกหนึ่งจุดพลิกผันสำคัญคือเพลง Formation ที่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื้อหาและเอ็มวีพูดถึงสถานะของคนผิวสีอย่างเผ็ดร้อน ในซูเปอร์โบล์วเธอยังแสดงสดเพลงนี้พร้อมคอสตูมที่เห็นปุ๊บก็รู้เลยว่าต้องการจะสื่อถึงการครบรอบ 50 ปีของพรรค Black Panther นอกจากนี้ วันนั้นยังอยู่หลังวันเกิดของ เทรวอน มาร์ติน เด็กชายผิวสีผู้โดนตำรวจฆาตกรรมแบบพอดิบพอดี
Billboard ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า Formation เป็นการก้าวออกมาจากตัวเธอเองและออกมาสู่โลกกว้าง
“Formation คือเพลงจากแม่คนหนึ่งซึ่งมีทุกอย่างในชีวิตแล้ว ทั้งครอบครัวที่ดี ชื่อเสียง เงินทอง และอำนาจ แต่ก็ตระหนักได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีค่าเลยเมื่อเทียบกับโลกที่เธอกำลังจะสร้างส่งต่อให้กับลูกสาวของเธอในอนาคต”
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ของเธออย่างกว้างขวาง ผู้หญิงหรือคนผิวสีส่วนใหญ่จะเห็นด้วย และสนับสนุนเธออย่างออกหน้าออกตา ส่วนคนทั่วไปและคนผิวขาว ไปจนถึงกลุ่มผู้สนับสนุนตำรวจ (ที่โดนพาดพิงในเอ็มวี Formation) ก็บอกว่าเธอเป็นแค่เซเลบที่เอาเรื่องสังคมมาหากินต่างหาก
ไม่ว่าคุณจะมองเรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ นี่คืออัลบั้มที่ดีมากๆ อัลบั้มหนึ่ง แค่ดูรายชื่อศิลปินที่มาร่วมงานด้วยก็น่าสนใจแล้ว เช่น James Blake, Kendrick Lamar, the Weeknd หรือ Jack White
ยิ่งถ้าดูจากความหมายของชื่ออัลบั้ม Lemonade ก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะมีที่มาจากผู้หญิง 2 คน คนแรกคือยายของเธอที่มักจะทำน้ำมะนาวให้ดื่ม ส่วนคนที่สองมาจากย่าของ เจย์ ซี ที่พูดในงานวันเกิดครบรอบ 90 ปีว่า
“ชีวิตฉันมีทั้งขึ้นและลง แต่ฉันมักจะค้นพบความแข็งแกร่งที่ฉุดให้ฉันลุกขึ้นทุกครั้ง มีคนเอามะนาวมาให้ฉัน แต่ฉันเป็นคนทำน้ำมะนาวด้วยตัวเอง”
น้ำมะนาวของบียอนเซ่ช่างเปรี้ยว กลมกล่อม และเข้มข้น

กลับมาที่คำถามที่ว่า “คุณพอจะจำได้ไหมว่า ช่วงไหนของชีวิตที่คุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีพลังที่แท้จริง”
บียอนเซ่ตอบว่าแบบนี้ครับ
“ฉันค้นพบพลังของตัวเองตอนทำอัลบั้มแรกกับ Destiny”s Child ทางค่ายเพลงไม่เชื่อว่าเราจะเป็นป๊อปสตาร์ที่ดีได้ พวกเขาดูถูกเรา ดังนั้น จึงปล่อยให้เราได้เขียนเพลงและเอ็มวีเอง นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเมื่อเราได้เป็นศิลปินที่ทำทุกอย่างเอง เราไม่ต้องแคร์ว่าใครจะคิดยังไง แต่เราสนใจแค่ว่าเราอยากเห็นอะไร อยากสร้างอะไรจริงๆ”
“ฉันเพิ่งรู้ตอนนั้นเองว่า พวกเรามีพลังที่จะสร้างทุกๆ สิ่งที่เราอยากเห็นด้วยตัวเราเอง”
ผมไม่รู้ว่า การที่บียอนเซ่เดินมาถึงจุดนี้ได้นั้นประกอบด้วยปัจจัยอะไรมากมายบ้าง แต่อย่างน้อย สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญ นั่นก็คือ เธอได้เริ่มลงมือทำผลงานเพลงด้วยตัวเธอเอง
หากเธอยังเป็นแค่นักร้อง รอคนมาแต่งเพลงให้ เขียนเนื้อร้องให้ ออกแบบเอ็มวีให้ เธออาจจะไม่มีวันเป็นผู้ทรงอิทธิพลแบบวันนี้
เธอยังบอกอีกว่า ในอนาคตเธออยากสร้างงานศิลปะที่ช่วยเยียวยาผู้คน
“ฉันอยากสร้างศิลปะที่ทำให้คนภูมิใจกับความยากลำบากของตัวเอง ทุกคนย่อมต้องเคยเจอความเจ็บปวด แต่บางครั้งคุณต้องเปลี่ยนแปลงความเจ็บปวดนั้นให้เป็นพลัง ความเจ็บปวดไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่หากฉันไม่รู้ว่าการคลอดลูกนั้นเจ็บปวดแค่ไหน ฉันก็คงไม่สามารถที่จะกอดลูกได้อย่างภูมิใจ!”
แล้วผมก็ได้พบคำตอบว่า คนยิ่งใหญ่เอาพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกมาจากไหน
คำตอบนั้นง่ายมาก แต่หลายคนกลับไม่กล้า
คือการลงมือทำ ลงมือสร้างสรรค์ในสิ่งที่คุณอยากเห็นด้วยตัวคุณเอง
เมื่อนั้นคุณอาจจะพบว่าตัวเองมีพลังมากกว่าที่คิด
เหมือนกับน้ำมะนาวของบียอนเซ่ก็เป็นได้