นิธิ เอียวศรีวงศ์ | The Last Czars

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยความเอื้อเฟื้อของครอบครัวอาจารย์ชัชวาลย์ ปุญปัน ผมเลยได้ดูหนังชุด The Last Czars สมหวัง ตลอดเวลานับแต่หนังเรื่องนี้เริ่มฉาย มีแต่คนบอกผมให้ดูให้ได้ เพราะดีเหลือเกิน

ก็ไม่ผิดหวังนะครับ เพราะสนุกจนทำให้ตรึงตาไปตลอดเรื่อง ความสนุกมักมีอานุภาพให้เรายอมรับการตีความของผู้สร้างโดยไม่ทันระวังตัว ยิ่งเอานักวิชาการมาบรรยายแทรกการแสดง ก็ยิ่งทำให้เราจำนนต่อการตีความนั้นอย่างราบคาบไปเลย

แต่เป็นไปได้หรือที่ราชวงศ์เก่าแก่ถึงสามร้อยกว่าปีของรัสเซียจะล่มสลายลงเพียงเพราะซาร์ที่อ่อนแอเพียงพระองค์เดียว (รวมรัสปูติน, พระบรมวงศานุวงศ์และกลุ่ม “ผู้ดี” ที่ไม่ยอมสละอภิสิทธิ์ของพวกตนแม้บางส่วน, และซารินาที่มีโลกแคบเท่าราชสำนัก) ทั้งๆ ที่ราชวงศ์นั้นได้ผูกมัดชาวนาและเจ้าที่ดินทั้งประเทศให้ต้องสยบต่อระบอบซาร์ได้อย่างราบคาบ

อีกทั้งหากไม่นับเยอรมันแล้ว มหาอำนาจในเวลานั้น ต่างพอใจที่จะให้ยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียหลับใหลอยู่ในระบอบซาร์ตลอดไปด้วย

สันดานของนักเรียนประวัติศาสตร์ก็อดไม่ได้ที่จะมองหาเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งอยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ใหญ่ขนาดนั้น หนังพูดถึงเหมือนกันแต่อย่างหยาบๆ บรรทัดสองบรรทัด เช่น นิโคลัสที่ 2 เป็นซาร์องค์แรกที่ได้ขึ้นครองราชย์เหนือรัสเซียซึ่งมีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้น จึงมีประชากรในกลุ่มแรงงานอยู่จำนวนไม่น้อย

ก็เข้าใจได้ไม่ยาก คิดจะทำหนังให้คนดูสนุก แล้วมานั่งเล่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะเหลือคนดูสักกี่คน ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของบุคคล และบทบาทหลักคือ ถึงไม่เป็นเหตุทั้งหมดของความล่มสลายของราชวงศ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นพยานของความล่มสลายนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นซาร์องค์สุดท้าย

ราชวงศ์โรมานอฟไม่ได้ถูกพวกบอลเชวิกล้มล้าง แต่ร่วงหล่นลงมาเหมือนผลไม้สุกงอมซึ่งต้องพายุปั่นป่วน ทั้งจากภายในและภายนอก เพราะในท่ามกลางการจลาจลที่ทหารไม่ยอมปราบ ซาร์ถูกกองทัพบังคับให้เหลือทางเลือกเดียวคือสละราชสมบัติ โดยทุกฝ่ายก็เข้าใจดีว่า ไม่อาจฟื้นฟูระบอบซาร์กลับคืนมาในรัสเซียได้อีกแล้ว และในท่ามกลางฝุ่นตลบต่อมาอีกเกือบ 1 ปี พรรคบอลเชวิกสามารถช่วงชิงอำนาจจากกลุ่มอื่นได้ในที่สุด

และด้วยเหตุดังนั้น ทั้งเรื่องจึงไม่มีเลนินเลย นอกจากอ้างถึงชื่อในตอนใกล้จบ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟในหนังเรื่องนี้จึงอยู่ที่ราชสำนัก หรืออยู่ที่ชีวิตและบทบาทของบุคคลในราชสำนักเพียงไม่กี่คน ที่ทำให้เกิดพายุปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมือง

และแม้จะเจาะ “ตัวละคร” เพียงไม่กี่ตัว ผมก็รู้สึกว่าเจาะได้ไม่ลึกเท่าไรนัก ขอยกตัวอย่างเพียงตัวเดียวคือรัสปูติน ซึ่งหนังให้ความสำคัญเสียจนเหมือนเป็นเหตุใหญ่ที่ทำให้ราชวงศ์ล่มสลาย

หนังแสดงว่ารัสปูตินเป็นคนที่ผูกใจคนอื่นได้เก่ง โดยเฉพาะผู้หญิง สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้โดยการสัมผัสปลอบโยน และ “สวด” ถึงพระเมตตาและฤทธานุภาพของพระเจ้า จนคนเจ็บหายป่วยได้ในบัดดลอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันรัสปูตินก็มีแรงขับทางเพศรุนแรงและมักมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงชั้นสูงในแวดวงราชสำนักอยู่เสมอ

หนังอธิบายแรงดึงดูดอันรุนแรง ทั้งทางเพศและทางอื่นแก่หมู่คนในราชสำนักอย่างไร ชนชั้นสูงรัสเซียสมัยนั้นอธิบายว่าเป็นเวทมนตร์คาถา แต่น่าประหลาดที่นักวิชาการซึ่งออกมาให้คำอธิบายแทรกในหนังบางคนพูดว่า ที่ปลายนิ้วของรัสปูตินมีกระแสไฟฟ้า (สถิต?) ที่ทำให้สัมผัสของเขามีพลัง กลายเป็นวิทยาศาสตร์แบบเวทมนตร์คาถาไป

อันที่จริงหนังก็ยอมรับว่าบุคลิกของรัสปูตินนั้นมีความอบอุ่นมาก ทั้งในการพูดและสัมผัส รัสปูตินจึงสื่อความสัมพันธ์เยี่ยงมนุษย์แก่ข้าราชสำนักได้อย่างประทับใจ สำนึกของความเป็นมนุษย์เช่นนี้แหละที่ขาดหายไปในชีวิตของข้าราชสำนัก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกันล้วนเป็นการแก่งแย่งแข่งดี สวมหน้ากากเข้าหากัน โดยต่างฝ่ายต่างก็รู้ถึงความไม่จริงใจของอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา ชีวิตที่เครียดเช่นนี้ย่อมพร้อมจะเปิดรับความอบอุ่นของความสัมพันธ์เยี่ยงมนุษย์ที่รัสปูตินนำมาให้

น่าสังเกตด้วยว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่รัสปูตินรักษาหายได้นั้น ล้วนน่าจะมีสาเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากความป่วยไข้ทางจิตใจ แม้แต่โรคเฮโมฟีเลียหรือเลือดไหลไม่หยุดของเจ้าชายรัชทายาท ถึงรัสปูตินไม่อาจรักษาให้หายขาด แต่สามารถระงับอาการได้ ก็อาจอธิบายได้จากด้านจิตวิทยาเช่นกัน

แต่ไม่ว่ารัสปูตินจะ “ชั่วร้าย” สักเพียงไร ความ “ชั่วร้าย” นั้นก็ไม่อาจทำร้ายราชสำนักได้ขนาดนั้น หากซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่อ่อนแอถึงขั้นไม่อาจตัดสินพระทัยเองได้สักเรื่อง ความอ่อนแอนี้เปิดให้การแข่งขันกันแสดงความจงรักภักดีของเหล่าข้าราชบริพาร กลายเป็นกรีฑาประจำชาติ อันเป็นเหตุที่ค่อยๆ กีดกันผู้มีความรู้ประสบการณ์จริง และมีความเคารพตนเอง (ซึ่งเป็นที่มาของความซื่อสัตย์สุจริตและสำนึกรับผิดชอบ) ให้หลุดจากลู่วิ่ง เหลือแต่พวกที่ถนัดแต่การประจบประแจงปรากฏตัวในการแข่งขันให้ทอดพระเนตร

ด้วยเครื่องมือการปกครองที่เฟะฟอนเช่นนี้แหละ ที่ซาร์นิโคลัสใช้ในการเผชิญกับภยันตรายรอบด้านที่ราชสำนักและรัสเซียต้องเผชิญอยู่

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยกล่าวเตือนไว้นานแล้วว่า ในโลกสมัยใหม่เมื่อราชวงศ์ใดล่มสลายลง ก็จะไม่มีราชวงศ์ใหม่มาแทนที่ แต่ตัวระบอบจะเปลี่ยนไปเลย ผมได้ยิน (อ่าน) ครั้งแรกก็รู้สึกเฉยๆ เพราะมันเห็นประจักษ์อยู่แล้วในประวัติการล่มสลายของราชวงศ์หลายราชวงศ์ในยุคสมัยใหม่ ต่อเมื่อนานหลายปีจึงเริ่มเข้าใจนัยยะของคำกล่าวนี้มากขึ้น

เรามักพูดถึงประวัติศาสตร์อยุธยาว่าเต็มไปด้วยเรื่องการชิงราชสมบัติและการเปลี่ยนราชวงศ์ แต่หลักฐานฝรั่งที่เคยเข้ามาอาศัยในกรุงศรีฯ เป็นเวลานานๆ มักกล่าวว่า การแย่งชิงราชสมบัติจนถึงล้มล้างราชวงศ์ของอยุธยา มักสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาอันสั้นและไม่ค่อยมีเหตุการณ์รุนแรงอะไรนัก ขุนนางซึ่งเคยรับใช้ราชวงศ์เก่าก็หันมาถือน้ำพระพิพัฒน์ฯ รับราชการกับราชวงศ์ใหม่ ในตำแหน่งเดิมเสียด้วยซ้ำ

ที่ราชวงศ์หนึ่งๆ จะตั้งขึ้นและอยู่ในอำนาจได้ ย่อมต้องสร้างเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ชนที่มีศักยภาพจะก่อการกบฏหรือแข็งข้อขึ้นจำนวนหนึ่ง ผู้คนในเครือข่ายและกลุ่มตระกูลของพวกเขาย่อมได้ส่วนแบ่งของอำนาจและผลประโยชน์ ที่มากับราชวงศ์ซึ่งตนเลือกจะยอมสวามิภักดิ์ และถ้าคิดให้เลยออกไปจากผู้คนในเครือข่ายโดยตรง ยังมี “เครือข่ายของเครือข่าย” ที่ได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งติดไม้ติดมือไปด้วย รวมแล้วจำนวนคนที่ได้ประโยชน์จากราชวงศ์หนึ่งๆ ก็อักโขอยู่

แต่การเปลี่ยนราชวงศ์ในสมัยโบราณ ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนระบอบ ดังนั้นหากราชวงศ์ใหม่หรือเครือข่ายสามารถโอนย้ายความสวามิภักดิ์ให้มาอยู่กับอำนาจใหม่ได้ การฆ่าล้างผลาญหรือการต่อสู้เอาเป็นเอาตายกันอย่างรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

ไม่เฉพาะแต่อยุธยา แต่ประวัติศาสตร์โบราณของเกือบทั้งโลกก็มีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นอยู่บ่อยบ้างไม่บ่อยบ้างเสมอ ในประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์บางคนสรุปว่ามีคนอยู่สองพวกที่อาจล้มล้างราชวงศ์หรือช่วยสถาปนาราชวงศ์ คือเหล่าบัณฑิตขงจื๊อและชาวนา จะมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และตลอดประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน ก็มีการผลัดราชวงศ์กันหลายราชวงศ์ แต่ไม่เคยเปลี่ยนระบอบเลยจนการปฏิวัติชาตินิยมของ ดร.ซุนยัตเซน

ดังนั้น คำเตือนของอาจารย์เบนจึงหมายความ (แก่ผมด้วย) ว่า การล่มสลายของราชวงศ์หนึ่งๆ ในโลกยุคใหม่นั้น มักเกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรง และต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันมาก เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่า เมื่อราชวงศ์หนึ่งๆ ล้มไปแล้ว ก็จะไม่มีทางที่บ้านเมืองจะกลับไปเหมือนเดิมอีก ไม่เฉพาะแต่ราชวงศ์มลายหายสูญไปเท่านั้น แต่โครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยอยู่กับสังคมมาเนิ่นนานนั้นก็พังสลายลงพร้อมกัน

ราชวงศ์โรมานอฟร่วงหล่นลงเหมือนผลไม้สุกงอมก็จริง แต่กว่าจะร่วงหล่นจากขั้วก็ได้ฆ่าล้างผลาญประชาชนไปไม่รู้จะกี่แสนกี่ล้าน ครั้นร่วงหล่นไปแล้ว กว่า “ระเบียบใหม่” ของพรรคคอมมิวนิสต์จะถูกสถาปนาขึ้นอย่างเรียบร้อยได้ ก็ต้องฆ่าล้างผลาญกันไปอีกเหลือคณานับเหมือนกัน

กรณีรัสเซีย (และจีน) นั้นเห็นได้ชัด แต่ผมเชื่อว่าหากศึกษาลงลึกกับกรณีราชวงศ์โฮเอินซอลเลินของเยอรมัน, หรือราชวงศ์เนปาล, ก็จะพบความรุนแรงนองเลือดในการเปลี่ยนผ่านอยู่มากเหมือนกัน

ราชวงศ์ล่มสลายลงโดยไม่เกิดการนองเลือดอย่างรุนแรงได้ ก็ต้องมี “ระเบียบใหม่” เข้ามาแทนที่ได้ทันกาล ซึ่งอาจเป็นระเบียบใหม่ที่จักรวรรดินิยมสร้างขึ้น หรือนักกู้ชาติสร้างขึ้นก็ได้ เช่น พม่า, ชวา, มหาราชาในอินเดีย, ราชินีในฮาวาย ฯลฯ แม้กระนั้นก็เกิดสงครามต่อต้านระเบียบใหม่ ซึ่งทำให้เสียเลือดเนื้อไปไม่น้อยเหมือนกัน แต่ไม่เท่ากับการร่วงหล่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังไม่มีระเบียบใหม่ใดๆ รองรับ