มุกดา สุวรรณชาติ : ช่วงนี้ไม่มีรัฐประหาร แต่ใช้…สภา…ศาล และ…กล้วย

มุกดา สุวรรณชาติ

สัญญาณการเมือง 5 ประการ
ที่แสดงถึงความมั่นใจของรัฐบาล

1.การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้สำเร็จแต่ไม่กลัวจะแพ้โหวตในสภา แสดงว่ารัฐบาลมีแผนรับมือการต่อสู้ในสภา ที่ดำเนินการไปแล้ว และมั่นใจว่าเสียงในสภาจะชนะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด อาจมีมือที่ถือกล้วย เตรียมยกสนับสนุนในกรณีที่สถานการณ์ยากลำบาก

2. การกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบข้อความตามมาตรา 161 แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังอยู่อย่างมั่นใจ ว่าไม่มีใครทำอะไรได้

3. การบรรยายพิเศษของ ผบ.ทบ. ได้แสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมือง โจมตีความคิดที่เห็นต่างโดยไม่กลัวข้อครหา ท่าทีของ ผบ.ทบ. เป็นเพราะมั่นใจว่ามีความมั่นคงจากแรงสนับสนุน ทุกด้านและมีโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไป

4. การสร้างสัมพันธ์กับมหาอำนาจจีนและอเมริกา รัฐบาลคิดว่าจะไม่มีแรงกดดันจาก 2 มหาอำนาจนี้แล้ว

5. รัฐบาลมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะในทุกๆ เรื่องเมื่อมีการใช้กฎหมายและศาล

ความมั่นใจแบบนี้ จะทำให้เกมการเมืองดำเนินไปแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือมีการต่อสู้ในสภา ในศาล การใช้กฎหมายการโต้ตอบทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ ไม่มีการรัฐประหารเพราะเป็นเรื่องไม่จำเป็น

 

ทำไมบอกว่าไม่มีการรัฐประหารในช่วงนี้

การรัฐประหารโดยมากจะกระทำเพื่อต้องการโค่นล้มคนอื่น หรือเมื่อเกิดความไม่มั่นใจในอำนาจที่ตนเองมีจึงต้องทำเพื่อเป็นการเสริมอำนาจและขจัดจุดอ่อน

สถานการณ์ในวันนี้ ไม่มีกลุ่มอื่นที่มีกำลังพอจะมาโค่นล้มกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้ได้ การปฏิวัติตัวเองก็ยังไม่จำเป็น เพราะถ้าทำจะเกิดผลเสียมากกว่าได้

การปฏิวัติตัวเองเคยมีมาหลายครั้ง เพื่อกระชับอำนาจหรือรวมศูนย์อำนาจไม่แบ่งไปให้ใคร จะเกิดในช่วงประเทศเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เมื่อปกครองต่อไปแล้วไม่อาจทนรอการตรวจสอบ ในระบบรัฐสภาหรือเกิดความไม่มั่นคง ทำให้ต้องรัฐประหาร ยุบสภา

เช่น สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พฤศจิกายน 2494 มีการประกาศรัฐประหารทางวิทยุ โดย สามเหล่าทัพฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 ฉบับอนุรักษนิยมทิ้ง ในขณะที่ตัวเองเป็นนายกฯ ต่อและหันมาใช้รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อที่จะให้ข้าราชการประจำเข้ามาทำงานฝ่ายการเมืองได้

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังปฏิวัติปี 2500 ก็มีการเลือกตั้ง สามารถตั้งรัฐบาลผสม แต่จอมพลสฤษดิ์ต้องไปรักษาตัวที่ต่างประเทศจึงให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรี 29 คน (เป็นนายทหาร 11 คน)

แต่ก็มีปัญหาในการบริหารงาน และเกิดการแย่งตำแหน่งกัน จอมพลสฤษดิ์จึงปรึกษาหารือกับผู้ใกล้ชิดและตกลงกับนายกฯ ถนอมยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 กลับมาเป็นนายกฯ เอง ปกครองแบบเผด็จการเต็มใบ

สมัยจอมพลถนอมนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเสียชีวิตโดยรับตำแหน่งเมื่อ 9 ธันวาคม 2506 ไม่ถึง 1 ปีต่อมาก็ใช้อำนาจมาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต

จากนั้นก็ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานที่สุด ใช้เวลาร่างนาน 9 ปี 4 เดือน มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้เป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลผสม

บริหารประเทศมาได้ 2 ปีกว่า ก็ทนต่อระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ จึงรัฐประหารรัฐบาลตนเอง ยุบสภาและตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้นมาแทน ตนเองเป็นประธานสภา

แต่ปกครองต่อไปได้ไม่ถึง 2 ปีก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนเดินขบวนไล่ออกจากประเทศไทย และก็ถูกยึดทรัพย์สินเช่นกัน

 

การรัฐประหาร 6 ตุลา 2519
และ 20 ตุลา 2520

การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการสังหารนักศึกษาไปจำนวนหนึ่ง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ จึงมีภาพที่ไม่ดีหลังจากบริหารงานไปได้ 1 ปี จึงมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง

ซึ่งจริงๆ ผู้นำการรัฐประหารก็เป็นคนชุดเดียวกันกับ 6 ตุลาคม 2519 มันจึงไม่ต่างอะไรกันกับการรัฐประหารตนเอง และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ขึ้นเป็นนายกฯ เอง จากนั้น พยายามเสริมความมั่นคงทางการเมือง โดยการแปลงโฉมให้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2522 โดยมี ส.ว.แต่งตั้งถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. ช่วย โหวตให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น

แม้การรัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ตราบใดที่มีความขัดแย้ง และผู้มีอำนาจไม่เข้าใจวิธีแก้ปัญหาขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย การใช้กำลังจึงกลายเป็นทางออกอย่างหนึ่ง ที่พวกเขาคิดว่า ง่ายกว่า เร็วกว่า

แต่วันนี้ต้องคำนึงถึงผลที่จะติดตามมาว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน กับตนเอง ประเทศชาติ และประชาชน จึงมีการเลือกใช้วิธีอื่นดีกว่า

 

ประชาธิปไตยกับเผด็จการ
ส่งผลต่อประเทศอย่างสำคัญ

ประเทศที่มีการรัฐประหารและถูกยึดอำนาจมาเป็นคณาธิปไตย จะพบว่ามีความแตกต่างกันมากกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย บทเรียนประเทศข้างเคียงที่เห็นได้ชัดก็คือ

พม่า…หลังจากนายพลเนวินทำการรัฐประหารและกลุ่มเผด็จการทหารเข้าครองอำนาจติดต่อกันประมาณ 50 กว่าปี ประเทศจมดิ่งลง ไม่เคยมีการพัฒนาทำให้คนพม่าลำบากยากแค้น ต้องพากันหนีออกมาขายแรงงานทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์

ในอดีตช่วงหนึ่งทำท่าว่าจะพัฒนาแซงหน้าประเทศอื่นถึงขนาดท่านอู ถั่น ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ

แต่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาลทหาร ครึ่งศตวรรษ ชาวบ้านมีแต่ความทุกข์ คนที่ขึ้นมาต่อต้านก็ถูกปราบ ต้องสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

ภายหลังรัฐบาลทหารพม่าก็ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลง ในยุคของออง ซาน ซูจี 2559 แต่การให้โอกาสฝ่ายเผด็จการปกครอง 50 ปีมันมากเกินไป ประชาชนทนทุกข์ยากนานเกินไป การฟื้นตัวจึงทำไม่ง่าย

เกาหลีใต้ เมื่อก่อนก็ต้องปกครองโดยทหาร อ้างภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ประชาชนก็ทุกข์ยากเช่นกัน สุดท้ายเมื่อเผด็จการปักจุงฮี และชุนดูวาน ถูกโค่นล้ม ก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็ได้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย

ภายในเวลาไม่กี่ปี เกาหลีใต้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศแถวหน้าของโลก

ในขณะที่เกาหลีเหนือมีระบบประธานาธิบดีแบบสืบทอดอำนาจแม้วางตัวเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถพัฒนาให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ก็หลุดพ้นจากวงจรรัฐประหารแล้ว และกำลังค่อยๆ พัฒนาก้าวหน้าไปในประเทศของพวกเขา มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดน แต่วันนี้ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะต้องยกเลิกระบอบประชาธิปไตย หลักของความเท่าเทียมถูกนำมาใช้ เราอาจได้เห็นปาเกียวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้

ระบบการปกครอง และนโยบายของผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ชีวิตของชาวบ้านที่กำลังทุกข์ยาก สัมพันธ์กับประชาธิปไตย

ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกต่างหากคือสิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารประเทศจะต้องมีความเข้าใจ ความทุกข์ยากของประชาชนคือสิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารต้องคำนึงถึง

ถ้ามีคนจนจำนวนมากยอมมาแบมือขอเงิน นั่นคือความล้มเหลว ตัวเลขของคนจนที่มาลงทะเบียนยิ่งมากยิ่งเป็นหายนะ การมีบัตรขอทานก็ไม่ใช่หมายความว่าเราได้ควบคุมและแบ่งแยกคนได้สำเร็จ

ยิ่งถ้ามีคนเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ กิจการขนาดกลางฆ่าตัวตายบ่อยขึ้นแสดงว่าวิกฤตได้ลามออกไปทั่วประเทศ อาจไม่มีปัญหาที่สะท้อนในรูปความอดอยากมาให้เห็น แต่ในโลกปัจจุบันความต้องการของคนไม่ได้อยู่แค่มีข้าวพอกิน โลกเปลี่ยนไปมากคนที่ฆ่าตัวตายจำนวนมากยังมีข้าวกิน แต่พวกเขาสูญสิ้นความหวังในชีวิต บางครั้งทำให้ถึงกับฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว

วันนี้การพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อคัดเลือกคนที่มาเป็นตัวแทนทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าทำอย่างไรจึงจะได้ตัวแทนที่มีคุณภาพทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะสามารถปฏิบัติภาระหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขได้ แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกแต่งตั้งมา ไม่เข้าใจความทุกข์ของประชาชน ไม่มีความสามารถทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ คดโกง และไม่ยุติธรรม

คนที่รับปัญหาหนักๆ จึงสิ้นหวัง ไม่รู้จะพึ่งใคร

 

ประชาชนรู้ว่าผู้ทำรัฐประหารแล้วรวยทุกคน

ในการรัฐประหารแต่ละครั้งจะอ้างเพื่อส่วนรวม แต่พอผ่านไประยะหนึ่งคนก็รู้ว่าคนที่เข้ามาไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคาดหวังและไม่ได้ทำตามคำพูดที่คุยเอาไว้ สุดท้ายเมื่อผู้เผด็จการเหล่านั้นจากไปก็จะพบว่าช่วงเวลาที่เขาอยู่สามารถกอบโกยร่ำรวยและมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

บางคนก็จะถูกรัฐบาลปล่อยยึดทรัพย์ฟ้องร้อง เรื่องเปิดเผยถูกเปิดโปงขึ้นมา

เช่น การยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตเป็นจำนวน 2,874 ล้าน (ในสมัย พ.ศ 2506 มากกว่า 4,000 ล้าน สมัย 2535 หลายเท่า) จอมพลถนอมก็โดนยึดเช่นกัน

แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์จะพบว่าผู้ที่ทำรัฐประหารไม่มีใครเคยถูกลงโทษตามกฎหมายความมั่นคงที่มีโทษถึงประหารชีวิต จึงทำให้มีผู้กล้าทำรัฐประหารซ้ำซาก ส่วนผู้ที่สนับสนุนก็จะได้ประโยชน์ บางคนก็แฝงตัวเข้าสนับสนุนทุกกลุ่มที่มีอำนาจโดยไม่สนใจว่าจะได้อำนาจมาจากไหน ด้วยวิธีใด เพราะทุกครั้งที่ผู้นำเผด็จการทุกคนล้ม คนเหล่านี้ก็จะแอบหลบซ่อนเร้นตัวไปพักหนึ่งแล้วก็กลับเข้ามาในวังวนอำนาจรัฐใหม่ การปล่อยให้ผู้ทำผิดลอยนวลวันนี้สภาพสังคมจึงกลับตาลปัตรกลายเป็นว่า

คนที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ผิด คนที่จะขอแก้รัฐธรรมนูญโดยยื่นผ่านสภากลับถูกกล่าวหาว่าผิดและมีการขัดขวางไม่ให้แก้

คนที่ต่อต้านการรัฐประหาร คนที่มีปฏิกิริยาต่อต้านการโกง ต้องการปราบโกง ต้องการเลือกตั้ง ถูกตั้งข้อกล่าวหาจับกุมคุมขัง ถูกปรับทัศนคติ ตั้งแต่ยุคคุณอุทัย พิมพ์ใจชน 2514 จนถึงปัจจุบัน แต่คนที่สนับสนุนการรัฐประหารจะได้ดี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการต่างๆ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสภานิติบัญญัติหรือกรรมการอื่นๆ มีเงินเดือนเป็นแสนๆ

ประชาชนยิ่งจนลง แต่รู้ข่าวสารมากขึ้น จะต่อต้านการรัฐประหารมากขึ้น

 

นโยบายต่อจีนคอมมิวนิสต์และอเมริกา

วันนี้ยิ่งมีความสับสนมากขึ้น ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีการรณรงค์ต่อต้านอย่างหนักที่หนุนโดยอเมริกา ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม จอมพลประภาส เกิดสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.)

พคท.สลายตัวไปนานแล้ว แต่มีคนถูกผู้นำทหารกล่าวหาว่า ยังมีคนเป็นคอมมิวนิสต์ นิยมคอมมิวนิสต์ กำลังทำให้ประเทศเสียหาย

ในขณะนี้รัฐบาลกำลังเชื่อมสัมพันธไมตรีกับ พคจ.อย่างแน่นแฟ้น และยังกล้าซื้ออาวุธจากประเทศจีนเป็นหมื่นๆ ล้าน ภาพเก่าที่มีการบุกเข้าไปฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม และยึดธงชาติจีนออกมาโชว์ เพื่อกล่าวหาว่านักศึกษาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เหมือนจะถูกทำให้ลืมไป

แต่ขณะเดียวกันสถานทูตจีนแถลงเตือนว่านักการเมืองไทยไปถ่ายรูปร่วมกับโจชัว หว่อง เกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนม็อบฮ่องกงต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์

ตกลงนักการเมืองและกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหา…ต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรือนิยมคอมมิวนิสต์กันแน่

ท่าทีของจีนเป็นไปตามปกติ เพื่อผลประโยชน์ของจีนที่มีคน 1,400 ล้าน ทำให้ต้องดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อตนเอง

ในอดีตจีนเคยหนุน พคท.ในฐานะพรรคร่วมอุดมการณ์ แม้ไม่มีนักการเมืองจีนมาถ่ายรูปกับ พคท. แต่จีนก็สนับสนุนอาวุธ เสบียง และสถานีวิทยุ เพียงแต่ไม่ได้ส่งทหารมาช่วย พคท.

เป็นที่เข้าใจได้ว่า จีนหนุนทั้งคอมมิวนิสต์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เพราะใช้เป็นแนวป้องกันการรุกและปิดล้อมของอเมริกา

เมื่ออเมริกาถอนไปแล้ว จีนกลับมองเวียดนามเป็นศัตรู เพราะเวียดนามมีโซเวียตรัสเซียหนุนหลัง

แต่ พคท.ตามจีน จึงต้องแตกกับลาวและเวียดนาม ถูกไล่ออกจากลาวปี 2522-2523 รัฐบาลไทยรุกต่อรองกับจีนทันที แม้จะเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เคยทำงานด้วยกันมาหลายสิบปี พอถึงเวลาจำเป็น พคจ.ก็สลัด พคท.ทิ้ง และหันมาคบกับรัฐบาลไทย สถานีวิทยุ สปท.ถูกปิด การสนับสนุนอื่นๆ ก็ยุติ พคท.ที่อิงจีนมาตลอดก็พังทันที

รัฐบาลนี้ไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์อะไรกับ พคจ. ทุกเรื่องจะยืนอยู่บนผลประโยชน์ จึงต้องเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างละเอียด จีนรักษาผลของเขา เราก็ต้องรักษาของเรา

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ไทยเป็นจุดเชื่อมกลางของอาเซียน มีแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร เป็นทางผ่านของเส้นทางจากจีนลงไปใต้สุดถึงสิงคโปร์ เป็นทางเชื่อมระหว่างตะวันออก ตะวันตกจากจีนผ่านลาวไปพม่า

ดังนั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล จีนสนับสนุน โดยไม่คำนึงถึงระบบการปกครองว่าเป็นแบบไหน สิทธิเสรีภาพเป็นอย่างไร นาทีนี้จีนแนบแน่นกว่าอเมริกา แต่ยืนยันอีกครั้งว่าจะดูใจจีนต่อประเทศเพื่อนบ้าน ให้ดูการใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน

การคบกับจีนคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องดี แต่ไม่ต้องตามจีน และต้องรู้จักต่อรอง

นโยบายและการปฏิบัติทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ในระดับเป็นมิตรที่ดี แต่ถ้าทำได้ขนาดนั้นแล้วก็ไม่ควรมาระแวงคนเล็กคนน้อย ชาวบ้านที่ไร้กำลัง เมื่อว่ายน้ำไปกับปลาฉลามก็ไม่ต้องกลัวฝูงปลากระบอก

ส่วนการต่อสู้ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะดำเนินไปในสภา การเลือกตั้งซ่อมไม่มีผลต่อเสียง ส.ส. แต่อนาคตใหม่ต้องชนะเลือกตั้งซ่อมด้วยเสียงประชาชนมากที่สุด เพราะการใช้กฎหมาย ศาล และกล้วยเป็นความมั่นใจของฝ่ายรัฐบาล