กระทรวงคุณครู ฟื้นคืนชีพ “โรงเรียนไอซียู” จับข่ายอาการ “โคม่า” ให้รอดพ้นวิกฤต

หลัง “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็เดินหน้าสานต่อนโยบายเร่งด่วนในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในช่วงเวลายังที่เหลืออยู่ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

โดยประกาศเดินหน้าสานต่อนโยบายของ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” องคมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

รวมถึงการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ข้อ ประกอบกับต้องเร่งทำกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้

การเตรียมคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปการศึกษา

การเตรียมกองทุนการศึกษา

เป็นต้น

1ในนโยบายที่ นพ.ธีระเกียรติ เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ “โครงการยกระดับโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน” หรือ “โรงเรียนไอซียู” ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ ได้ดำเนินการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสให้ ศธ. แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

โดย นพ.ธีระเกียรติ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนที่มีอาการโคม่า และต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

เบื้องต้น 3,000 โรง เข้ามารับการรักษา จากที่คาดกันว่าจะมีโรงเรียนที่อยู่ในข่ายโรงเรียนไอซียูประมาณ 10,000 โรง

โดยให้ สพฐ. วิเคราะห์ว่าโรงเรียนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง และเรื่องใดที่โรงเรียนต้องการให้ช่วย เช่น ขาดครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เด็กไม่มาเรียน เด็กติดยาเสพติด เป็นต้น

สำหรับโครงการโรงเรียนไอซียูนั้น เป็นการเดินตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสให้เริ่มต้นแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนไอซียูก่อน ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ มองว่าเรื่องนี้ถือเป็นพรที่ประเสริฐที่สุด

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 ทยอยทำมา 155 โรง และ ศธ. ได้สานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน อีกทั้งเป็นเรื่องที่อยู่ในยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ และบางโรงเรียนยังอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้วย

โดยทาง ศธ. ได้วางแผนไว้ว่าในปี 2560 จะต้องแก้ปัญหาให้ได้ 3,000 โรง และทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดไป โดยคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3,000 โรงในปี 2561

นพ.ธีระเกียรติ ได้แจกแจงถึงแนวทางการคัดเลือกโรงเรียนไอซียูว่า จะลงไปดูแลโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะเป็นนโยบายที่ให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นในระดับโรงเรียน โดยให้ สพฐ. ไปสำรวจโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ 3,000 โรง กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยขอให้ดูในภาพรวม ไม่ใช่เลือกจากโรงเรียนที่คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ดูปัญหาเรื่องกายภาพ การขาดแคลนครู รวมถึงโรงเรียนที่มีปัญหานักเรียนลาออก เพราะผู้ปกครองไม่ไว้ใจส่งบุตรหลานมาเรียน

จากนั้น สพฐ. จะต้องวินิจฉัยว่าโรงเรียนแต่ละแห่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ซึ่งแต่ละที่จะแตกต่างกัน โรงเรียนไหนขาดอะไรก็ช่วยดูแลตามนั้น โดยโรงเรียนไอซียูจะเป็นโรงเรียนคนละกลุ่มกับโรงเรียนประชารัฐ และโรงเรียนดีใกล้บ้าน เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกโรงเรียนจะต้องยืดหยุ่น และไม่ใช้มาตรวัดอันเดียวกัน

“ศธ. จะเข้าไปดูแลโรงเรียนเหล่านี้ โดยจะต้องเกลี่ยงบประมาณ และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยแต่ละโรงเรียนจะต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้ ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนใดพาตัวเองออกจากภาวะไอซียูได้ ก็ควรจะมีรางวัลตอบแทน”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว

 

ขณะเดียวกัน กรณีโรงเรียนส่วนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่เสียหายบางส่วน และเสียหายมาก ทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน หนังสือเรียน โต๊ะ เก้าอี้ รวมถึงห้องเรียน และอาคารเรียน

ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานตัวเลขสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ที่ได้รับความเสียหายมีทั้งหมด 2,334 แห่ง แบ่งเป็น สังกัด สพฐ. 1,865 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 19 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 309 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 3 แห่ง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 138 แห่ง

เบื้องต้นประมาณการความเสียหายอยู่ที่ 817 ล้านบาท

โดยโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในทางกายภาพ คือ อาคารเรียน อาคารประกอบ ถนน รั้วโรงเรียน ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เห็นควรพิจารณาโรงเรียนของ สพฐ. ที่มีปัญหา และเสียหายจากน้ำท่วม เข้าร่วมโครงการโรงเรียนไอซียู

ซึ่ง “นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษา ระบุว่า โรงเรียน สพฐ. ได้รับความเสียหายมากที่สุด ฉะนั้น การพิจารณาโรงเรียนทางภาคใต้เข้าร่วมโครงการไอซียู จะเน้นที่มีปัญหากายภาพ

ส่วนรายชื่อโรงเรียนไอซียู อยู่ระหว่างให้ สพฐ., สอศ. และ กศน. กลับไปทบทวนใหม่ เพราะหลายแห่งอาการไม่หนักพอที่จะเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ ศธ. ยังได้เตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาหนังสือเรียน และหนังสือเข้าห้องสมุดให้กับโรงเรียนเหล่านี้บ้างแล้ว

รวมทั้งยังมีหน่วยงานเอกชนอย่าง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่จัดโครงการมติชน 40 ปี ฟื้นฟูการอ่าน ระดมทุนช่วยห้องสมุดโรงเรียนใต้ ระดมทุนเพื่อซื้อหนังสือเรียน และหนังสืออ่านนอกเวลาต่างๆ ให้โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม

ล่าสุด มีโรงเรียนที่เสนอชื่อขอเข้าร่วมโครงการไอซียูแล้ว 4,518 โรง จากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 30,717 โรงเรียน แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 4,206 โรง คิดเป็น 93.06% สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 312 โรง คิดเป็น 6.91% เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรียน เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ 610 โรง โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 368 โรง ที่เหลือเป็นโรงเรียนในพื้นที่ทั่วไป 3,540 โรง

หากจำแนกตามสภาพปัญหา พบว่า เป็นโรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพ 679 โรง งบประมาณ อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ 2,490 โรง ด้านบุคลากร 1,040 โรง ด้านการบริหารจัดการ 103 โรง ด้านโอกาสทางการศึกษา 155 โรง ด้านยาเสพติด มลพิษ 165 โรง และอื่นๆ 57 โรง

“นายการุณ สกุลประดิษฐ์” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากนี้คณะทำงานคัดกรองโรงเรียนไอซียู จะวิเคราะห์ข้อมูลของโรงเรียนแต่ละแห่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเรียงลำดับความสำคัญเข้าร่วมโครงการซึ่งคณะทำงานที่มาจากทุกกลุ่มจังหวัด หรือคลัสเตอร์ อาจเสนอข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนที่เห็นว่าต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้เสนอชื่อเข้าคัดเลือก จากนั้นเสนอให้นายชัยพฤกษ์พิจารณารายเอียด ก่อนสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เห็นชอบ ซึ่งจะรวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จะถูกนำมาพิจารณาในครั้งนี้ด้วย

ต้องติดตามว่าโรงเรียนที่เข้าขั้น “โคม่า” และอยู่ในข่ายจะได้รับเลือกเข้าโครงการ “โรงเรียนไอซียู” เฟสแรก จะมีกี่โรง และ ศธ. จะช่วยให้โรงเรียนเหล่านี้ รอดพ้นจาก “วิกฤต” ได้จริงหรือ!!