สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ… บริการหลังการขาย (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เมื่อตอนตามคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปเยี่ยมครูดีที่กัมพูชา ได้ฟัง รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธานมูลนิธิ แนะนำการดำเนินงานของมูลนิธิต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬากัมพูชาว่านอกจากคัดเลือกครูผู้ได้รับรางวัลระดับนานาชาตินี้แล้วไม่จบเพียงแค่นั้น แต่มีกิจกรรมต่อยอดที่เรียกว่าบริการหลังการขายต่อไปอีก

เช่น เวที Mini PMCA FORUM ให้ครูโรงเรียนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยพระราชทานความช่วยเหลือ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ผมเลยเก็บเรื่องมาเล่าทิ้งท้าย ยั่วให้รอติดตามกิจกรรมบริการหลังการขายอีกโครงการ น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน

เพราะน่าจะเป็นต้นแบบของโมเดลการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของการปฏิรูปการศึกษาไทยในลำดับต้นๆ ทีเดียว

บริการหลังการขายที่ว่านี้ก็คือ โครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันฝึกหัดครู

 

ครับ เริ่มต้นซีรี่ส์การศึกษาใหม่สัปดาห์นี้ ได้จังหวะนำเรื่องราวที่ได้ไปเห็นมากับตา ได้ยินมากับหู มาเล่าสู่กันฟังต่อ เผื่อว่าผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการปฏิรูปครูของไทยเกิดความสนใจ นำแนวคิด รูปแบบ วิธีการไปขยายผลให้กว้างขวางต่อไปบ้าง

อย่างน้อยตามไปดูก็ยังดี ว่านักศึกษาที่จะก้าวไปเป็นครูในอนาคต ครูของครูในมหาวิทยาลัยสถาบันผลิตครู กับครูประจำการในโรงเรียน ที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ปลูกฝังบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครูตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ที่มาของโครงการ เกิดจากกรรมการมูลนิธิ มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน เห็นร่วมกันว่าภารกิจของมูลนิธิและครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลไม่ควรจบลงแค่ได้รับรางวัลและป่าวประกาศยกย่องให้เป็นครูตัวอย่าง จบแล้วจบกันสองปีครั้งเท่านั้น แต่ควรจะเกิดประโยชน์มากกว่านั้น

เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ความรู้ ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ครูควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำประสบการณ์ ความรู้ ความคิดที่มีทั้งหมดมาหลอมรวมเป็นพลังเพื่อการพัฒนาทั้งตัวเองและเพื่อนครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาของทุกประเทศ ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ถามว่า แล้วจำนวนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมีมากพอที่จะทำภารกิจใหญ่นี้หรือ ในเมื่อการคัดเลือกทำสองปีครั้ง ได้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งละคน หากรวมครูจากประเทศอาเซียนและติมอร์เลสเตด้วย ครั้งหนึ่งได้ 11 คน คัดเลือกมาแล้ว 3 รอบ ปี 2558 2560 และ 2562 มีทั้งหมด 33 คน

แต่สำหรับประเทศไทย กระบวนการคัดเลือก ประกาศผล ยกย่องและให้รางวัล ไม่ได้มีเฉพาะครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ดีเด่นที่สุดเท่านั้น แต่มีรางวัลระดับรองๆ ลงไปอีก

กระบวนการคัดเลือก สรรหาครูดีเด่นจากทุกจังหวัด เปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อครูอย่างกว้างขวาง โดยศิษย์เก่ามีสิทธิ์เสนอชื่อครูของตนเข้ารับการพิจารณา

รายชื่อครูที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดจะส่งไปยังคณะกรรมการวิชาการของมูลนิธิ พร้อมประวัติและหลักฐานต่างๆ นอกจากนี้ องค์กรระดับชาติที่ยกย่องครูด้วยการให้รางวัลแก่ครูอย่างสม่ำเสมอก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อครูที่เคยได้รับรางวัลขององค์กรให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาด้วย

จากนั้นคณะกรรมการวิชาการจะพิจารณารายชื่อครูจำนวนประมาณ 170 ชื่อ ที่เสนอมาจากจังหวัดและองค์กร คัดเลือกให้เหลือ 20 ชื่อเพื่อเสนอคณะกรรมการมูลนิธิพิจารณาขั้นสุดท้าย

 

นอกจากรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 1 รางวัลที่รับพระราชทานร่วมกับครูจากอีก 10 ประเทศแล้ว มีรางวัลระดับรองลงมาอีก 3 รางวัล สำหรับครูไทยรวมเป็น 4 ระดับรางวัล

1. รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 1 รางวัล ในจำนวน 11 รางวัลของครูในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครูแต่ละคนจะได้รับพระราชทานเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐ เหรียญทองรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติและโล่เกียรติบัตร

2. รางวัลคุณากรจำนวน 2 รางวัล จะได้รับเหรียญเงิน เข็มเชิดชูเกียรติ และเกียรติบัตร มอบให้ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ 2 และลำดับที่ 3 จากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิ

3. รางวัลครูยิ่งคุณ จำนวน 17 รางวัล จะได้รับเหรียญทองแดง เข็มเชิดชูเกียรติ และเกียรติบัตรมอบให้ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ 4 ถึงลำดับที่ 20 จากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิ

4. รางวัลครูขวัญศิษย์ จำนวน 144 รางวัล จะได้รับเข็มเชิดชูเกียรติและเกียรติบัตร มอบให้ครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดและองค์กรระดับชาติ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการ

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ 3 คน รองลงไปรางวัลลำดับ 2 3 4 รวมปีละ 163 คน 3 รุ่น จะเป็นครูทั้งสิ้น 489 คน ครั้งต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

ครูไทยทั้งหมดและครูเทศจากอาเซียน มูลนิธิส่งเสริมให้รวมตัวเป็นเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อให้ครูมีโอกาสพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ดึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มาหลอมรวมกัน ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปอีกในการสร้างครูรุ่นใหม่และพัฒนาครูประจำการที่ยังทำหน้าที่อยู่ทั่วประเทศหลายแสนคน จึงเป็นที่มาของกิจกรรมบริการหลังการขายรูปแบบต่างๆ

หนึ่งในนั้นก็คือโครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันฝึกหัดครู

แนวคิด กระบวนการดำเนินงานเพื่อสร้างครูรุ่นใหม่ รายละเอียดเป็นอย่างไร และตัวละครที่เกี่ยวข้องเป็นใคร

ตัวอย่างต้นแบบเกิดขึ้นแล้วที่ 3 มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตครูโดยตรง

ที่ไหนบ้าง ตอนหน้าค่อยฟังคำเฉลย