จับสัญญาณปรองดอง “คสช.” ยุทธศาสตร์เฉือนคมการเมือง

ปีสุดท้ายของรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประเด็นให้คอการเมืองต้องติดตามอย่าได้คลาดสายตา เมื่อผู้นำรัฐบาลมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป.

ใน ป.ย.ป. นี้มี 4 คณะกรรมการย่อยรับผิดชอบโดยรองนายกฯ ทั้ง 6 คน

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ให้ นายวิษณุ เครืองาม กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับผิดชอบร่วมกัน

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ รับผิดชอบโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ รับผิดชอบโดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

และ 4. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับผิดชอบ

ที่คอการเมืองจับตา คือ คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี “บิ๊กป้อม” รับผิดชอบดูแลเป็นพิเศษ ก็เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่ คสช. ส่งสัญญาณลงมือทำอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อไหร่ที่นักข่าวถามถึงการสร้างบรรยากาศปรองดอง มักจะได้คำตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลา อย่าเพิ่งมาพูด”

AFP / Jewel SAMAD

นับแต่การจัดตั้งรัฐบาลมีผู้เสนอแนวทางการสร้างความปรองดองหลากหลาย ติดตรงที่จังหวะและเวลา หลากหลายแนวคิดจึงถูกพับเก็บไป เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ นายวันชัย สอนศิริ เมื่อครั้งทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอไอเดียร์บรรเจิด หาทางออกวิกฤตการเมืองโดยการให้ “บิ๊กตู่” พูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่พำนักอยู่ต่างแดน

แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา ต่อให้มีไอเดียเจิดจรัสแค่ไหนก็ต้องพับเก็บไป

และเวลานี้ที่ผู้นำอย่าง “บิ๊กตู่” เห็นว่าเหมาะสม เหตุผลเพราะเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลและ คสช. จึงควรสร้างบรรยากาศความสมานฉันท์ปรองดอง

อีกหนึ่งเหตุผลคือ ในห้วงระยะเวลาการคงอยู่ของรัฐบาล-คสช. ทั้งองคาพยพถูกมองมาโดยตลอดว่า เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง ทั้งที่อ้างว่าต้องการเข้ามาห้ามคนไทยทะเลาะกัน

ดังนั้น การประกาศเดินหน้าปรองดองครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อลดอุณหภูมิร้อนของการเมืองไทย และลดภาพที่ถูกมองในแง่ลบไปในตัว

ครั้นจะทำแต่เรื่องปรองดองก็ไม่ใช่แนวทางของ “บิ๊กตู่” เขาจึงเลือกตั้ง ป.ย.ป. ให้มี 4 คณะกรรมการย่อย เดินหน้าปฏิรูปประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์ และสร้างความปรองดองไปพร้อมๆ กัน

เพื่อสร้างความตื่นตัว “บิ๊กตู่” เลือก “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” ให้เดินสายลุยงาน วางโครงสร้าง ป.ย.ป. และ 4 คณะย่อย

ทำไมถึงเลือก “นายสุวิทย์” และ “นายสุวิทย์” เป็นใคร

“นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งย้ายมาจากเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เขาเป็นศิษย์เอกของ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เชี่ยวชาญงานด้านการตลาด รู้เป็นอย่างดีว่าคนต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร รู้เป็นอย่างดีว่านักข่าวสนใจประเด็นใด และควรหยิบยกประเด็นใดมาเสนอ

ที่สำคัญ “นายสุวิทย์” คนนี้เข้าตา “บิ๊กตู่” เพราะสามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายจนเข้าใจทั่วกัน เขามีความเป็นนักวิชาการค่อนข้างสูง

และสำคัญเหนืออื่นใดเขายังเข้าใจหลักการประชาสัมพันธ์พอๆ ไม่น้อยไปกว่างานด้านการตลาด นั่นเป็นความสามารถในการวางแผนของ “นายสุวิทย์”

ทําไม “บิ๊กตู่” ถึงเลือก “บิ๊กป้อม” ให้เดิมเกมนี้

นั่นเพราะที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” เป็นมือประสาน 10 ทิศ มีเครือข่ายและสายสัมพันธ์ทั้งในแวดวงนักการเมือง ธุรกิจ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ เรียกว่ารู้จักคนอย่างกว้างขวาง ดีลกับคนหลายกลุ่มได้ด้วยการยกหูโทรศัพท์ ถ้าพบว่ามีปัญหาอุปสรรคที่ดูแล้วจะทำให้งานเดินหน้าลำบากยากเย็น เขาสามารถดีลได้ตลอดเวลา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “บิ๊กตู่” จะไว้วางใจ “พี่ใหญ่” ให้เดินหน้าสานงานปรองดอง

ขณะที่ “บิ๊กตู่” คุมงาน ป.ย.ป. ในระดับนโยบายทั้งเรื่องปฏิรูป ยุทธศาสตร์ และการสร้างความปรองดอง เป็นงานระดับสั่งการวางกรอบ ส่วน “บิ๊กป้อม” ลงไปลุยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง เป็นรูปธรรม มี “นายสุวิทย์” ที่ปราศจากภาพลักษณ์ของการเมืองคอยประสานงาน

พร้อมกับโยนประเด็นซึ่งอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความปรองดอง ตามโรดแม็ปของ “บิ๊กตู่” ที่ระบุออกมาล่าสุดว่า “ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน เมื่อศาลตัดสินและรับโทษแล้วพอสมควร ถึงจะเข้าสู่กระบวนการลดโทษ รวมทั้งการนิรโทษกรรม ซึ่งควรเป็นแนวทางอย่างนี้ ไม่ใช่จะให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มานิรโทษกรรมนั้นทำไม่ได้ ต้องถามประชาชนก่อนด้วย”

แม้สัญญาณที่ “บิ๊กตู่” ส่งมาล่าสุดจะออกมาในแนวโยนหินถามทาง นักการเมือง กลุ่มการเมืองและคู่ขัดแย้งว่าจะมีท่าทีอย่างไร

ซึ่งสอดรับกับแนวทางการปรองดองของ “บิ๊กป้อม” ที่แต่งตั้ง “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานอนุกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี ผบ.เหล่าทัพ เป็นหน่วยเสริม ช่วยกันกำหนดแผนงานเตรียมการ ก่อนเชิญคู่ขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลุ่มการเมืองอย่าง นปช. และ กปปส. มาพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกัน จุดหมายปลายทางคือบรรลุข้อตกลง “สัญญาประชาคม”

แม้จะยังหาคำตอบไม่ได้ว่าการพูดคุยนั้นรัฐบาลมีธงอยู่แล้วหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ยุทธศาสตร์ 20 ปี แนวทางการปฏิรูปประเทศ

แต่อย่าลืมว่าจังหวะและเวลาขณะนี้ รัฐบาลถือว่ากุมความได้เปรียบ เพราะเป็นฝ่ายที่ชูประเด็นปรองดอง สร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งเป็นภาพที่คนไทยต่างรอคอยมานานแสนนาน

ถ้านักการเมืองไม่เอาด้วย นั่นย่อมจะเสียเครดิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

AFP PHOTO

“บิ๊กป้อม” มีความมั่นใจว่าเมื่อเชิญชวนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เข้ามาพูดคุยแล้วจะบรรลุถึงเป้าหมาย

เพราะอย่าลืมว่าประเด็นที่เกิดขึ้นหลังการตั้งรัฐบาล เช่น แนวทางการปฏิรูปประเทศ ทั้งที่มาจากรัฐบาล สปช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยุทธศาสตร์ 20 ปี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ยังไม่เคลียร์ และดูเหมือนจะเป็นปัญหาในอนาคต

การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่ทำความเข้าใจระหว่างกันของคู่ขัดแย้ง ทว่า ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุย

ถ้าสามารถเคลียร์ด้วยกระบวนการสร้างความปรองดองครั้งนี้ ทุกอย่างก็จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ไม่มีเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจ แต่ถ้าผลออกมาตรงกันข้าม

แน่นอนฝ่ายการเมือง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกเป็นเป้าว่าขัดขวางการปรองดอง

นี่จึงเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ล้ำลึกเกินกว่าใครจะคาดถึงของ “คสช.”