อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : กำไรอาจไม่ใช่เงิน

ฉันมองกองของฝากด้วยหลากความรู้สึก ดีใจที่ได้ของกินถูกใจ ทั้งเกรงใจ ทั้งอิ่มใจที่มีลูกค้ามาพักในเดือนกันยายน เดือนซึ่งพ่อค้าแม่ขายเตือนว่า จะเงียบกว่าเดือนอื่น ปกติเป็นอย่างนั้น แต่กันยายนปีนี้ต้องถือเป็นเดือนแห่งความสงัด

เงียบ นิ่ง กระทั่งได้ยินเสียงท้องร้อง

“ทำไมเยอะจัง” ฉันว่า

“หนูเพิ่งกลับจากใต้ค่ะ เครื่องแกงพวกนี้ แกงได้เลย พร้อมลงหม้อ แม่ยืนยันว่าอร่อย มีทั้งแกงคั่ว แกงกะทิ แกงส้ม อย่างละกิโล”

อย่างละหนึ่งกิโลกรัม ฉันทวนคำในใจ มันเยอะมาก น้องขนมาตั้งไกล ไหนจะไตปลา ปลาเค็ม ลูกประอีกล่ะ

“เย็นนี้กินข้าวด้วยกันนะ” ฉันบอก เป็นทางเดียวที่จะทำให้ความเกรงใจลดลง

น้องพยักหน้า

“เดี๋ยวพี่ทำน้ำพริกอ่องกับแกงผักให้กิน มาเชียงรายทั้งที ต้องกินอาหารเหนือ”

“ยังไม่หมดนะคะพี่” น้องหยิบห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ออกมาแกะ ข้างในเป็นถุงพลาสติก

“เคยเหรอ ทำไมดูแฉะๆ สีอ่อนด้วย” ฉันถาม

“ฉลูค่ะพี่ คล้ายเคย แต่ทำไม่กี่วัน ไม่เค็มมาก กลิ่นไม่แรง ทำอาหารได้หลายอย่าง แม่หนูชอบเอามาผัดกับหมู”

ฉันไม่เคยกินฉลู แต่พอจินตนาการได้ ฉลูผัดกับหมูน่าจะคล้ายหมูผัดเคย แต่นุ่มนวลอ่อนโยนกว่า

“งั้นพี่จะทำให้กินด้วยนะ” ฉันบอกน้อง ก่อนหอบของฝากออกจากห้องพักมาหาที่เก็บ

 

ฉลูจำเป็นต้องอยู่ในตู้เย็น ไม่อย่างนั้นมันจะเค็มขึ้นเรื่อยๆ

เครื่องแกงและลูกประก็ควรอยู่ในตู้เย็น มันคือของล้ำค่าสำหรับฉัน น้องเลือกสรรมาอย่างดี แกงอร่อยอยู่แล้ว ส่วนลูกประ ฉันไม่ได้กินกี่ปีแล้วล่ะ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี น้องต้มมาเรียบร้อย พร้อมกิน ถ้าเป็นแบบดิบ ฉันจะเอามาคั่ว แล้วทำน้ำพริกลูกประ อร่อยที่สุดในบรรดาน้ำพริก ฉันไม่ได้กินนานมาก แต่ไม่เคยลืมรสชาติ

ที่พักสามห้อง ไม่ได้ทำรายได้มากมาย แต่เราทุ่มเทแรงกายแรงใจ รวมทั้งเงินเท่าที่มี โดยไม่เคยคำนวณ ว่าเมื่อไรจะได้ทุนคืน

หากเราไม่ทำ มันก็คือห้องเช่ารายเดือนที่ทรุดโทรม หม่นหมอง เราอยากให้ดินพื้นที่เปล่งประกาย อยากให้ต้นไม้สวย อยากให้บ้านสะอาด เราคิดว่า ถ้าไม่จ้างใคร และไม่คิดถึงเงินที่ลงทุนไป อย่างไรก็ไม่ขาดทุน

ไม่ได้หวังกำไร แต่เราก็ได้กำไร มันไม่ได้มาในรูปแบบตัวเลข มันคือความสงบ ความภาคภูมิใจ และเราได้โบนัสเป็นน้ำใจของผู้คน

เราเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่เพียงเล็กมาก แต่ยังโชคดีที่สุดด้วย

แขกของเราไม่เคยทำห้องพักเลอะ ไม่เคยทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และมักมีของมาฝากเรา คล้ายว่าพวกเขามาเยี่ยมเรา และมาเยือนเชียงรายไปพร้อมๆ กัน

ฉันจะทำอาหารให้สุดฝีมือเพื่อตอบแทนน้อง น้ำพริกอ่อง แกงผักเชียงดา และหมูผัดฉลู สามอย่างก็น่าจะพอ

 

ฉันเห่อฉลูมาก มีหมูสามชั้นอยู่หนึ่งเส้นงาม มีพริกขี้หนู มีตะไคร้ ฉันเลยตัดสินใจทำหมูผัดฉลู ก่อนไปตลาด

หั่นสามชั้นเป็นชิ้นพอดีคำ ต้มในน้ำ ครั้นน้ำเดือดก็ช้อนฟองทิ้ง ลดไฟอ่อน แล้วตั้งทิ้งไว้ราว 20 นาที

กับสามชั้น ฉันชอบทำให้สุกก่อนผัด เพื่อน้ำมันจะไม่ถูกดึงออกมา ทั้งหนังหมู และเนื้อหมูก็จะนุ่มนวล กินง่าย

ปอกหัวหอมลงครกเยอะหน่อย ใส่ตะไคร้ลงไปสักนิด ตำให้ละเอียด แล้วเติมฉลู ฉลูไม่ใช่เคย เค็มไม่มาก เราใส่เยอะได้

หันมาเด็ดพริกขี้หนู ใส่ทั้งเม็ด คำไหนอยากเผ็ด ก็ตักพริกติดมากับหมูด้วย หั่นต้นหอมเป็นท่อนใส่ถ้วยรอ และสุดท้าย คือตะไคร้ ซอยให้ละเอียดที่สุด ตะไคร้จะทำให้จานนี้สดชื่นขึ้นมาก

ครบ 20 นาที ฉันเอาหมูขึ้นจากน้ำ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันไปนิดหน่อย พอกระทะเริ่มร้อน ก็ใส่หัวหอม ตะไคร้และฉลูที่อยู่ในครกลงไป ผัดให้หอมจัด แล้วค่อยเอาหมูลงผัด เร่งไฟขึ้นนิด ผัดต่ออีกสักหน่อย ปรุงรสด้วยน้ำปลา และน้ำตาล ตักน้ำในหม้อต้มหมูใส่ลงกระทะสองทัพพี น้ำจะช่วยพารสชาติเข้าไปในหมู

ผัดต่อจนน้ำแห้ง ค่อยใส่ต้นหอมซอย พริกขี้หนู และตะไคร้ เร่งไฟ ควงตะหลิวอีกสัก 10 หน

และสุดท้าย ปิดเตาด้วยรอยยิ้ม

 

คนรักของฉันไม่ชอบหมูผัดกะปิ หรือกระทั่งหมูผัดเคย เพราะต่อให้ใส่เคยน้อย เคยย่อมมีกลิ่นของเคย ซึ่งเขารู้สึกว่ามันรุนแรงไปสำหรับผัดกับหมู

อืม…ฉลูอาจเป็นข้อยกเว้น

ฉันลองตักใส่ถ้วยเล็กไปให้เขาชิม ถ้าเขายังไม่ชอบ ฉันก็คงจนใจ

“เหมือนตัวอ่อนของเคย หอม และมัน พอรวมกับตะไคร้ก็อร่อยเลย หมูนุ่มมากด้วย”

เย้ ภารกิจประสบความสำเร็จ

เดินกลับเข้าครัว เก็บหมูผัดฉลูไว้ในตู้กับข้าว ล้างมือล้างไม้ เตรียมลุยตลาด

ก่อนติดเครื่องมอเตอร์ไซค์ ฉันหันไปมองบ้านซึ่งฉันทำเป็นที่พัก มันเปลี่ยนไปมาก จากวันแรกที่ฉันก้าวเข้ามา

และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งผลกำไร