ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
การศึกษา
เปิดเส้นทาง 3 บิ๊ก ศธ.
‘ประเสริฐ-อำนาจ-ณรงค์’ กว่าจะถึงซี 11
ในที่สุดก็ได้เห็นโฉมหน้าข้าราชการระดับ 11 ของ ศธ. ที่จะมานั่งแท่น 3 ตำแหน่งสำคัญแทนนายการุณ สกุลประดิษฐ์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
หลังเฟ้นอย่างหนัก เลื่อนเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะไป 3 รอบ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็เสนอชื่อ 3 ตัวจริง
โดยล่าสุด ครม.เห็นชอบตั้งนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ. เป็นปลัด ศธ. นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัด ศธ. เป็นเลขาธิการ กพฐ. และนายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นเลขาธิการ กอศ.
โดยระหว่างนี้ได้ตั้งทั้ง 3 คนเป็นรักษาราชการแทน ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งไปก่อน จนกว่าจะได้รับโปรดเกล้าฯ อย่างเป็นทางการ
การคัดเลือกผู้บริหาร ศธ. ในครั้งนี้ ต้องบอกว่า ‘ครูตั้น’ เอาจริง และใช้เวลาคัดเลือกพอสมควร โดยตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเสมา 1 ในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้ให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบ ส่งประวัติการทำงาน และเชิญผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นซี 11 รวมกว่า 23 คน มาพูดคุยรับฟังวิสัยทัศน์การทำงาน
ก่อนเลือกผู้ที่เหมาะสมออกมาหน้าตา อย่างที่เห็น…
แน่นอนว่า อาจมีการตั้งคำถามกับบางตำแหน่ง โดยเฉพาะเลขาธิการ กอศ. เนื่องจากนายณรงค์เป็นหนึ่งในผู้บริหาร สพฐ.ที่ถูกตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติงบฯ จัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 279 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
และถูก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้น ย้ายออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการ กพฐ. ไปเป็นศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 15 ก่อนย้ายกลับมาเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.
นายณัฏฐพลให้เหตุผลที่เลือกบิ๊ก ศธ.คนใหม่ครั้งนี้ว่า เห็นว่ามีศักยภาพ สามารถตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศได้
ทั้ง 3 คนต่างมีความสามารถที่แตกต่างกัน ที่เลือกนายประเสริฐเป็นปลัด ศธ. เพราะต้องการคนที่มีความคล่องตัว สามารถทำงานในหลายบริบทได้ สามารถตอบสนองและสานต่อนโยบายของตัวเองได้ ที่สำคัญต้องสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับทุกองค์กรหลักของ ศธ.ให้ราบรื่น
ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. จากที่ได้พูดคุยวิสัยทัศน์ พบว่า มีหลายคนที่มีความสามารถด้านวิชาการใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจาก สพฐ.เป็นองค์กรใหญ่ ต้องการคนที่มีความกว้างขวางในการบริหารจัดการคน จึงเลือกนายอำนาจมาทำงานในตำแหน่งนี้
ส่วนที่เลือกนายณรงค์เป็นเลขาธิการ กอศ. เพราะต้องการคนที่สามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชน และต้องการคนที่สามารถบริหารจัดการสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมายที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะพัฒนาสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจ ผมคิดว่าทั้ง 3 คน เหมาะสม
และภายใน 1 ปีนี้จะสามารถขับเคลื่อนการศึกษาตามนโยบายผมได้ และผมต้องการทำอะไรหลายอย่างที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ ศธ.เคยทำ
ส่วนที่นายณรงค์เคยถูกตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 279 ล้านบาท ของ สพฐ.นั้น จากการพูดคุยก็พบว่าผู้เข้ารับการคัดเลือกหลายคน มีเรื่องที่ได้รับการร้องเรียน ซึ่งการร้องเรียนนั้น มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง
ตรงนี้ขอปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการตรวจสอบ ถ้าผลการตรวจสอบพบว่ามีความผิด ตนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนทันที…
โดยนายอำนาจ ว่าที่เลขาฯ กพฐ. บอกทิศทางการทำงานจากนี้ว่า จะเน้นห้องเรียนเป็นสำคัญ ต้องการให้ครูอยู่ในห้องเรียนมากที่สุดเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับความรู้อย่างเต็มที่ทั้งทักษะวิชาการ การดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยโรงเรียนจะต้องรู้รายละเอียดว่า บริบทของตัวเองต้องการอะไร ดังนั้น ผู้บริหารยุคนี้จะต้องเก่ง มีความสามารถทั้งด้านบริหารและวิชาการ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำอีก 2-3 เรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาครูล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการลงโทษเด็ก ก็ควรเป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรงเกินจำเป็น คำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นสำคัญ รวมถึงเรื่องอาหารกลางวัน ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องดูแลเป็นพิเศษ และตนไม่อนุญาตให้นำงบฯ อาหารกลางวันไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โดยผู้บริหารโรงเรียนจะต้องดูให้รอบคอบ ให้เด็กได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
และหากโรงเรียนใดมีปัญหาเกิดขึ้นอีก จะจัดการอย่างเด็ดขาด
ขณะที่นายณรงค์มองปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเป็นโจทย์สำคัญ หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย สอศ.เข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยได้จัดหน่วยอาชีวะอาสา หรือศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ในสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ที่มีจิตอาสาเข้าช่วยเหลือประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยจะเข้าไปซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ เป็นต้น โดยมีจุดให้บริการกว่า 60 จุด ทั่วจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังมอบโจทย์สำคัญที่ สอศ.จะมุ่งเน้นพัฒนาต่อไปคือ การพัฒนาวิชาชีพ ที่ปัจจุบันมีวิชาชีพเกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำให้มีความต้องการแรงงานที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแปรรูปอาหาร เป็นต้น
รวมถึงต้องพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพใหม่ๆ เพราะมีแรงงานที่ตอบสนองความต้องการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และตามบริบทของแต่ละพื้นที่นั้นๆ ไม่เพียงพอ หาก สอศ.พัฒนาสอนวิชาชีพใหม่ๆ ได้จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศด้วย
จากนี้ต้องจับตาว่า 3 บิ๊ก ศธ.ที่ ‘ครูตั้น’ เฟ้นมาเป็นทัพหน้าพัฒนาการศึกษาไทย จะทำงานได้ดี สมตามเป้าหมายที่หวังไว้หรือไม่