รัฐวิสาหกิจผวาพิษ “สินบนข้ามชาติ” ตั้งการ์ดสูงรื้อ “จัดซื้อจัดจ้าง” ทั้งกระบิ

ประเด็นร้อนที่เขย่าวงการรัฐวิสาหกิจไทยเวลานี้คงหนีไม่พ้น “สินบนข้ามชาติ” ที่กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา และสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (SFO) ออกมาเปิดโปงข้อมูล บริษัท โรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษ จ่ายสินบนให้ผู้บริหารและพนักงาน บมจ.การบินไทย กับ บมจ.ปตท.

ตามมาด้วยข้อมูลการจ่ายสินบนของ บริษัท เจอเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น ที่พาดพิงถึง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ บมจ.ทีโอที

เรียกว่ามีข้อมูลเปิดโปง “สินบนข้ามชาติ” ออกมาเป็นระลอก

ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งแต่ละปีมีการจัดซื้อจัดจ้างหลายแสนล้านบาท เผชิญแรงกดดันและถูกจับจ้องจากสาธารณชนมากขึ้น

ชัดเจนว่ากระแสข่าวที่ออกมาได้สร้างความปั่นป่วนและความเสียหายต่อภาพลักษณ์รัฐวิสาหกิจไทย สอดคล้องกับที่องค์กรเพื่อความโปร่งใส (TI) ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีคอร์รัปชั่นปีนี้ออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใสลดลงเหลือ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 โดยอยู่ในอันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 76

ขณะที่การติดตามหาตัวผู้กระทำผิดก็ไม่ง่ายและต้องใช้เวลายาวนาน ทั้งยังเป็นที่ถกเถียงว่างานนี้รัฐบาลไทยควรตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบและเจ้าภาพโดยตรงที่เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงออกมาให้กระจ่าง ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละองค์กรที่ถูกพาดพิงรุกขึ้นมาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเอง

“นายบรรยง พงษ์พานิช” ในฐานะกรรมการกลยุทธ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เรียกร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการสอบสวนและให้รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล

เพราะการที่ ปตท. และการบินไทย ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเองอาจไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดี การเปิดโปง “สินบนข้ามชาติ” ครั้งนี้ก็มีผลดีทางอ้อม เพราะถือว่าเป็นการเขย่าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการไทย ที่ทำให้ต้องเข้มงวดและยกเครื่องครั้งใหญ่

เช่นกรณี บมจ.ปตท. ซึ่งมีหลายโครงการถูกพาดพิงว่ามี “คนกลาง” ได้รับสินบนจากบริษัทโรลส์-รอยซ์

โดย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะอุดช่องโหว่ในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของ ปตท.

โดยบริษัทมีแนวคิดจะขึ้นทะเบียนคนกลางหรือนายหน้า ที่มีการซื้อขายกับ ปตท. ทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้มีนโยบายให้ บมจ.การบินไทย ไปทบทวนสัญญาจัดซื้อเครื่องบินทั้งสัญญาเก่าและสัญญาใหม่ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร มีช่องว่างตรงไหนที่ต้องปรับปรุง

อีกทั้งห้ามไม่ให้การบินไทยซื้อตรงกับคู่ค้า ไม่ให้ผ่านตัวแทนคนกลาง

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า “สินบนข้ามชาติ” พ่นพิษการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจไม่เฉพาะองค์กรที่ถูกพาดพิง เพราะมีหลายหน่วยงานกลับมาตั้งหลักทบทวนกระบวนการอย่างเข้มงวด

เช่นกรณีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ หรือเน็ตหมู่บ้านมูลค่า 13,000 ล้านบาท เพื่อติดตั้งโครงข่ายใน 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งเดิมกำหนดให้บริษัทผู้สนใจยื่นซองประกวดราคา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ปรากฏว่าเมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา บมจ.ทีโอทีได้ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาทั้งหมด เพื่อทำให้กระบวนการถูกต้องรัดกุม

แหล่งข่าววงในระบุว่า เหตุที่ต้องยกเลิกการประกวดราคา เนื่องจากตามระเบียบต้องมีการส่งประกาศการประกวดราคาและเอกสารต่างๆ เข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง แต่ปรากฏว่าเกิดความขัดข้องทางเทคนิค ทำให้ไม่ได้มีการส่งเอกสารประกอบประกาศจัดซื้อเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงต้องมีการยกเลิกประกาศประกวดราคา และล่าสุดได้มีการประกาศประกวดราคาใหม่ โดยกำหนดยื่นซองในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

ขณะเดียวกัน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกมาระบุว่า กรณีสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ ตนได้สั่งการเจ้าหน้าที่ให้มีการเรียนรู้ปัญหาจากอดีต เพื่อมาตรวจสอบดูว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันมีรูรั่วอยู่อีกหรือไม่

“เราจะต้องทำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างให้เข้มงวดมากขึ้นอย่างไร แต่จริงๆ แล้วระบบจัดซื้อจัดจ้างปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะ ไม่ได้รั่วไหลได้มากเหมือนอดีต มีการนำระบบสัญญาคุณธรรม (integrity pact) เข้ามาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจด้วย”

สอดคล้องกับที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ผลักดันการออก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับใหม่ ให้บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจด้วย เพื่อช่วยป้องกันการทุจริตในอนาคต รวมถึงการนำสัญญาคุณธรรมมาใช้ รวมทั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็ให้นำเข้าโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น

 

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ อยู่ระหว่างเตรียมประกาศใช้ หลังผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 15 ธันวาคม 2559 โดยทุกฝ่ายหวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยอุดรูรั่วการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องจากกำหนดบทลงโทษทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง หากทุจริตจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ลงโทษผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดด้วย โดยพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ฉบับใหม่ วางหลักไว้ 4 ประการ คือ คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงคุณธรรม

แม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดให้ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง เช่น บมจ.ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ต้องซื้อหัวรถจักร ซึ่งก็อาจมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้เป็นช่องโหว่ได้หรือไม่

แน่นอนว่าการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นคงไม่สามารถที่จะปิดประตูได้ 100% หากประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายยังมองถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

แต่อย่างน้อยประเทศไทยจะได้ใช้บทเรียนราคาแพงแปรวิกฤตเป็นโอกาสยกเครื่องระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อทำให้ “คนโกงไม่มีที่ยืน” หรือมีที่ยืนน้อยลง

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ระบบการตรวจสอบจากทุกฝ่ายทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นด้วย