อภิญญา ตะวันออก : 5 ทศวรรษ “โบแด็ง” ตึกขาวตั้งตระหง่านผ่านยุคสมัย

อภิญญา ตะวันออก

“โบแด็ง” (1)

“เธอรู้จักตึกขาว “โบแด็ง” มั้ย? อาคารอพาร์ตเมนต์หลังแรก ขนาด 468 ห้อง สูง 4 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณแขวงบาสัก ตอนกัมพูชาเพิ่งได้เอกราชยังไม่ถึง 10 ปีเลยด้วยซ้ำ แล้วพนมเปญตอนนั้นก็มีอาคารใหม่ไม่กี่หลังที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลเขมร-สมัยสังคมราชานิยม

“นั่นละ ที่ชาวเขมรเขาเรียกันว่าโบแด็ง จริงๆ แล้วมาจากคำว่า “บิลดิ้ง” (building) ในภาษาอังกฤษ แต่ความที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส เราเลยมีสำเนียงบารัง อย่างคำว่า “ละติน” เราก็เรียกว่า “ละแต็ง” แบบนั้น

“เข้าใจละ ว่าแต่เธอรู้มั้ย มีคนมากมายเรียกโบแด็งของเธอว่าตึกขาว แถมยังเข้าใจผิดว่า เป็นตึกเก่าของชาวรัสเซีย ความจริงนายวลาดิมีร์ โบเดียนสกี้ ที่เป็นชาวรัสเซียคนนั้นแกก็แค่ออกแบบอาคารร่วมกับนายลู บันฮับ ซึ่งท่านวรรณ โมลีวรรณ ให้ร่วมกันดูแลโปรเจ็กต์นี้แทน เพราะตอนนั้นท่านโมลีวรรณมีงานล้นมือ ท่านต้องสร้างอาคารสำคัญๆ ของรัฐทั้งหมด โดยเฉพาะโอลิมปิกสเตเดี้ยม ไหนจะสถานทูตอีก 2-3 แห่งในต่างประเทศ แต่ในที่สุดโบแด็งก็สร้างเสร็จทันในปี 1963” ฉันกล่าวเสริม

“แต่ถึงจะไม่ได้ออกแบบเอง ท่านวรรณ โมลีวรรณ ก็ยังมีอิทธิพลการออกแบบในรูปทรงสถาปัตยกรรมนะ โดยเฉพาะลูกเล่นตรงบันไดในตัวอาคารที่บ่งบอกสไตล์แบบโมลีวรรณ”

“ใช่ ก่อนหน้านี้ ฉันนึกไม่ออกว่ามันคือสไตล์แบบไหน แต่ถ้าเราได้เข้าไปยืนอยู่ในอาคารที่ท่านออกแบบสักหลัง เราก็จะรู้ว่าจุดเด่นของมันคืออะไร ฉันกล้ายืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนที่ฉันไปทำงานที่อาคารหลังหนึ่งในบุรัยกีฬา แล้วอีกหนหนึ่ง ตอนที่ฉันทำคอนเสิร์ตที่อาคารในร่มของโอลิมปิกสเตเดี้ยม เห็นชัดว่าจุดเด่นโบแด็งคือการถ่ายเทของแสงสว่างและทางลมด้วยทางบันไดแบบระนาด”

เนียงสรัยถึงกับอึ้งต่อข้อมูลมากมายของฉัน พยักหน้า และว่า

“ก็โอลิมปิกสเตเดี้ยมนั่นแหละ ที่ทำให้มีโบแด็ง อย่างที่รู้ว่าเสด็จโอว-พระบิดา (นโรดม สีหนุ) ทรงตั้งพระทัยทำโบแด็งเป็นบ้านพักนักกีฬา ตอนนั้นเรากำลังจะมีมหกรรมกีฬาแหลมทอง สมัยนี้ก็คือซีเกมส์นั่นแหละ แต่โชคร้ายมีเหตุที่ทำให้เขมรไม่ได้เป็นเจ้าภาพ โบแด็งเลยกลายเป็นที่พักข้าราชการชั้นผู้น้อยตามประสงค์ของหลวงไป”

“เข้าใจละ ว่านี่คือศูนย์อาคารที่พักของนักกีฬาที่ทันสมัยมากเลยนะตอนนั้น องค์นโรดม สีหนุ สถาปนาตนเป็นประมุขแห่งรัฐ ตามที่ทราบ ด้วยความที่ทรงโปรดปรานงานพิธีและชีวิตความเป็นอยู่แบบยุโรป จึงดำริให้สร้างโบแด็งแห่งนี้”

“แต่ว่า มันกลับตลก ที่คนเขมรตอนนั้นกลับหวาดกลัวโบแด็ง”

“ใช่ ยิ่งคนรุ่นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยายที่คุ้นเคยกับชีวิตในชนบทด้วยแล้ว เหมือนถูกลงทัณฑ์และรู้สึกอับอาย โดยเฉพาะเทศกาลงานบุญไหว้บรรพบุรุษ”

“นี่เธอกำลังบอกว่า โบแด็งเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับชาวเขมรยุคนั้นหรือ? ทั้งๆ ที่ผู้นำ-เจ้าเหนือหัวของประเทศขณะนั้นทรงตั้งใจจะให้เป็นสัญลักษณ์ของความศรีวิไลและการเปลี่ยนแปลง จากสังคมที่ล้าหลังไปสู่ความทันสมัย”

“ก็คงเหมือนการเปลี่ยนแปลงมากมายในสมัยนั้น เริ่มจากที่ทรงสละราชสมบัติเพื่อลงมาเล่นการเมืองในตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แบบเดียวกับประธานาธิบดีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีพระบิดาเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระองค์ พอบิดาเสด็จสวรรคตก็ให้พระมารดาครองราชย์แทน”

“แต่ชาวเขมรก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหานะ ความแปลกปลอมที่มาพร้อมกับความทะเยอทะยานนะ ทรงฉลองและเรียกระบอบนี้อย่างภูมิใจว่า “สังคมราชานิยม” ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

 

ก่อนปี 1963 สมัยนั้น ตะกอนดินโคลนที่ถูกพัดพาลงมาจากแม่น้ำโขงบริเวณสตึงแตรง-กระแจะ และค่อยๆ ลดความรุนแรงบริเวณปากแม่น้ำตนเลบาสัก ที่ความสมบูรณ์ของดินตะกอนจำนวนมหาศาลจะไหลมาทับถมกันบริเวณนี้

ไม่แน่ใจว่า การพร่ำพรรณนาถึงจำนวนดินตะกอนที่ไหลลงมาทับถมกันจนกลายเป็นผืนดินที่กว้างใหญ่แขวงหนึ่งของพนมเปญและโบแด็งก็เป็นสิ่งปลูกสร้างยุคแรกๆ ผ่านไปกึ่งชั่วอายุคนแลดินตะกอนชุดใหม่ที่ไหลมาทับถมและงอกเป็นแผ่นดินผืนงาม และการมาถึงของ “เกาะเพชร”-ศูนย์กลางแห่งความบันเทิง-กาสิโนที่พัฒนา ปลูกสร้างบนดินตะกอนของบาสักในยุค 2

“ช่างเป็นความแตกต่างเหมือนขาวกับดำ ที่ตอกย้ำให้ตึกขาวโบแด็งเป็นเหมือนส่วนเกินที่แปลกปลอมของพนมเปญ”

ดูเหมือนการเกริ่นยกสองของบทสนทนาที่ยืดยาวจะเริ่มต้นอย่างซับซ้อน พรั่งพรูและเมามันส์ด้วยพลังงานจลน์อันลื่นไหล

“เถอะ ก่อนจะไปสู่โศกนาฏกรรมทางความคิดของนักเล่าเรื่องเรื่อยเปื่อยอย่างฉัน ต่อการถูกรบกวนด้วยตึกขาวโบแด็งอยู่ซ้ำๆ โดยเฉพาะตอนที่เจ้าอาคารแห่งนี้ถึงกาลอวสานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ตอนที่มันถูกทุบทำลายไปพร้อมๆ กับคนเขมรจำนวนหนึ่งที่หัวใจแตกสลาย”

นั่นคือการสิ้นสุดของตึกขาวในปี 2019 และตัวตนของชาวโบแด็งที่ถูกฌาปนกิจความต่ำต้อยด้อยค่าไปในคราเดียวกันในสมัยฮุน เซน

เป็นไทม์ไลน์ที่หม่นหมอง หากมองย้อนไปในยุคสีหนุคิสต์ปี 1963 ที่ตึกแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมา หลังจากนั้นเพียง 7 ปี ระบอบสีหนุคิสต์-สังคมราชานิยมก็ล่มสลายด้วยฝีมือนายพลลอน นอลที่ร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์บางคน ยังผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกยกเลิก กัมพูชาประกาศการปกครองใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน “เขมรสาธารณรัฐ”

และมันคือระเบิดเวลาสงครามที่จริงเสียยิ่งกว่าระเบิดนาปาล์มที่ปูพรมลงมาทางตะวันตกของประเทศ

 

ตอนนั้นสงครามการเมืองเพิ่งจะเริ่ม และการต่อสู้ของสองฝ่าย-กองทัพรัฐบาลนายพลลอน นอล กับกองทัพประชาชนปฏิวัติที่นำโดยสีหนุและของพล พต ค่อยๆ ทวีความรุนแรงยาวนานและมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของกรุงพนมเปญ จากโครงสร้างพื้นฐานที่สวยงามของระบอบสีหนุคิสต์ที่สร้างไว้ กลายเป็นเขตพักพิงการอพยพหนีภัยสงครามจากชาวเขมรทั่วประเทศ โบแด็งก็อยู่ในข่ายนี้

ชาวเขมรหัวเมืองทยอยเข้ามาจับจองเป็นที่พักอาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมีลักษณะอาคารที่เหมาะต่อชุมชน แต่มิใช่ชุมชนศรีวิไลอย่างเสด็จสีหนุทรงตั้งพระทัย

โบแด็งและพนมเปญเกือบทั้งหมดคือที่พักพิงแหล่งสุดท้าย และดูเหมือนว่าโบแด็งจะเป็นชุมชนของคนยากที่ปลอดภัยจากการตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของการวางระเบิด ที่เกิดขึ้นแทบจะรายวันในกรุงพนมเปญ ตั้งแต่โรงภาพยนตร์ ทำเนียบรัฐบาลไปยันโรงเรียน

นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจระหว่างเขมรสาธารณรัฐกับสังคมราชานิยม และระหว่างประชาชนสองฝ่ายอย่างงั้นรึ?

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อที่ว่า เมื่ออเมริกันถอนทหารจากเวียดนาม-ลอน นอลพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสีหนุ ทว่าการปรากฏตัวของคณะกัมพูชาประชาธิปไตยหรือพล พต ในเดือนเมษายนของปี ค.ศ.1975 พลัน คำตอบแห่งความว่างเปล่าก็เข้ามาจู่โจมอย่างงงงัน

ประชาชนทุกคนถูกบังคับให้ทิ้งบ้านเรือนและออกเมืองหลวงด้วยเสบียงจำเป็นอันเล็กน้อย ชาวโบแด็งทั้งหมดก็เช่นกัน

ในการออกไปครั้งนี้ พวกเขาคาดหวังแต่เพียงว่าจะได้กลับมาอีกครั้ง ทว่ามันยาวนานถึง 3 ปี 8 เดือน 11 วัน หรือยาวนานกว่านั้น เมื่อรวมกับเวลาอีก 5 ปีของสงครามกลางเมือง ชาวเขมรแทบจะสูญสิ้นความเชื่อในคำนิยาม “เขตพักพิงอันอบอุ่น” ของกรุงพนมเปญ

ตรงกันข้าม มันกลับเป็นเหมือน “ตำบลลวงโลม” หรือหลอนลวงกันแน่? เป็นเวลาถึง 9 ปีทีเดียวที่ผู้คนต้องทุกข์ทนล้มตายไปกับการถูกบดขยี้ที่มาจากระบอบการปกครองที่สุดโต่งใน 3 แบบและ 3 ยุค (สีหนุ-ลอน นอล-พล พต)

และพนมเปญปีนั้นก็เป็นอย่างนี้ ไม่แปลกอะไรที่โบแด็งจะเป็นชุมชนเสื่อมโทรม

 

ฉันเองก็อยู่ในข่ายนั้น การใช้เส้นทางตัดผ่านอาคารโบแด็งทุกๆ วันหลังหกโมงเย็นเป็นเวลายาวนานระยะหนึ่งระหว่างปี 1997-1999 คือสัญญาณบางอย่างอันผูกพัน แม้ว่าคนใกล้ชิดส่วนใหญ่จะเตือนฉันอย่างหวังดีว่ามันเป็นพื้นที่อันตราย

ตราบใดที่คุณไม่ได้เป็นคนในนั้น คุณก็จะมองที่นั่นแบบนี้ โบแด็งจึงไม่ใช่ที่ที่จะต้องจินตนาการอะไรอีก เมื่อจักรยานฉันหาย ฉันก็แกะรอยจนพบที่นี่ ไม่มีอะไรที่จะต้องคิดมาก สำหรับ ตัวอย่างตึกอาคารแห่งความศรีวิไลที่กลายเป็นอดีต และสภาพแบบนั้น ก็เห็นกันอย่างดาดระดาแบบนั้น

และเพื่อให้โครงสร้างความเสื่อมโทรมทำนองนี้หายไปจากพนมเปญ พร้อมกับจำนวนเงินมหาศาลที่เข้าไปอยู่ในคนของรัฐบาล

โบแด็งคือ 1 ในโครงการแห่งการสำเร็จโทษที่โหดร้าย และกว่าเราจะเรียนรู้ในตัวตนของตึกนี้ เขตพักพิงอันอบอุ่นหรือตำบลแห่งลวงโลมของเขมรผู้ยากไร้ก็กลายเป็นสุสานไปอีกครั้ง

และอย่างถาวรอีกด้วย