ต่างประเทศ : “ฮัลโหลยูเครน” อีกปมร้อนคลอนขาเก้าอี้ “ทรัมป์”

เรียกว่ามีประเด็นร้อนให้เจ้าตัวต้องออกโรงโต้แก้ต่างได้ไม่หยุดหย่อนสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกอัยการนิวยอร์กสอบสวนกรณีถูกกล่าวหาว่าให้ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความส่วนตัว จ่ายเงินค่าปิดปากให้กับผู้หญิงอย่างน้อย 2 รายที่อ้างว่าเคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วยกับตนเองก่อนที่จะได้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว

การปฏิเสธที่จะเปิดเผยการคืนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของตนเอง

หรือการถูกสอบกรณีมีการรับเงินบริจาคจากต่างชาติมาใช้ในการจัดงานพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 หรือไม่

และโดยเฉพาะกรณีที่ทรัมป์ถูกสภาคองเกรสตั้งคณะทำงานสอบสวนกรณีถูกกล่าวหาว่าทีมงานหาเสียงของทรัมป์สมคบคิดให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 จนเป็นผลให้ทรัมป์มีชัยชนะเหนือฮิลลารี่ คลินตัน คู่แข่งตัวเก็งจากพรรคเดโมแครตไปในที่สุดหรือไม่

 

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ประกาศเดินหน้ากระบวนการไต่สวนอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีการอิมพีชเมนต์หรือการพิจารณาเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่ต่อทรัมป์

ในปมประเด็นร้อนใหม่ที่มีการกล่าวหาว่าทรัมป์พยายามโน้มน้าวให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า ซึ่งดูจะเข้าอีหรอบเดียวกับกรณีที่ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าสมคบรัสเซียให้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐก่อนหน้านี้

โดยเพโลซีประกาศว่า คณะกรรมาธิการ 6 ชุดในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งยังคงกำลังสอบสวนในข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อทรัมป์ทั้งการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจโดยมิชอบ การสอบสวนทางการเงิน การระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งและข้อกล่าวหาอื่นๆ

จากนี้ต่อไปจะอยู่ภายใต้กระบวนการไต่สวนเพื่อการอิมพีชเมนต์ผู้นำสหรัฐอย่างเป็นทางการ

 

การเดินหน้ากระบวนการขั้นเด็ดขาดนี้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ที่อาจจะทำให้ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐที่เผชิญหน้ากับกระบวนการพิจารณาถอดถอนต่อจากประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 1868 และประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 1998 ส่วนประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ชิงลาออกไปในเดือนสิงหาคมปี 1974 ก่อนที่เขาจะถูกอิมพีชเมนต์นั้น มีขึ้นหลังจากผู้ให้เบาะแส (whistleblower) ที่นิวยอร์กไทม์ส สื่อหัวแถวในสหรัฐอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุโรปและการเมืองยูเครนซึ่งครั้งหนึ่งเคยประจำอยู่ในทำเนียบขาวด้วย ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านคำร้องที่เขายื่นต่อไมเคิล แอตคินสัน ผู้ตรวจการของกระทรวงยุติธรรมว่าประธานาธิบดีสหรัฐกำลังใช้อำนาจในตำแหน่งโน้มน้าวให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐปี 2020

ซึ่งข้อมูลนี้ที่เขาได้ล่วงรู้มาจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลอย่างน้อย 6 คน ที่ถือเป็น “ข้อห่วงกังวลเร่งด่วน” ที่อาจทำให้ความมั่นคงของชาติตกอยู่ในความเสี่ยงภัยได้

ข้อมูลในคำร้องที่ผู้ให้เบาะแสยื่นร้องต่อผู้ตรวจการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ก่อนเรื่องจะถูกรายงานต่อไปยังสภาคองเกรสซึ่งมีการเปิดเผยในภายหลังอ้างถึงการโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ระบุกล่าวอ้างว่า ทรัมป์ได้ร้องขอให้ผู้นำยูเครนเปิดการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐและคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์จากพรรคเดโมแครต และฮันเตอร์ ลูกชายของไบเดนผู้เคยนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของยูเครน ในการสอบสวนที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น

ต่อประเด็นนี้พรรคเดโมแครตกล่าวหาว่าทรัมป์พยายามใช้อิทธิพลอำนาจในการกดดันพันธมิตรทางการเมืองให้สร้างความเสื่อมเสียให้กับคู่แข่งทางการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบให้กับตนเอง

ขณะที่มีรายงานว่าการยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำยูเครนในวันนั้นมีขึ้นหลังจากทรัมป์ได้ระงับเงินช่วยเหลือทางทหารมูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับยูเครน ก่อนที่ทรัมป์จะยอมปล่อยเงินช่วยเหลือก้อนนั้นให้กับยูเครนในภายหลัง

โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทรัมป์ใช้เงินก้อนนั้นเป็นเครื่องมือกดดันยูเครนเพื่อให้ร่วมมือกับตนเอง

 

ทรัมป์ปฏิเสธคำครหาทั้งหมด แต่ยอมรับว่าเขาได้โทรศัพท์หารือกับผู้นำยูเครนเกี่ยวกับนายไบเดนจริง แต่ไม่มีการกดดันนายเซเลนสกีให้ทำการสอบสวนคู่แข่งทางการเมืองของตนเองแต่อย่างใด

ไม่ว่าข้อเท็จจริงเบื้องลึกในประเด็นร้อนเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คณะกรรมาธิการทั้ง 6 ชุดที่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของอดัม ชิฟ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้าทีมในการสอบสวนเพื่ออิมพีชเมนต์ทรัมป์จะทำหน้าที่สอบสวนค้นหาข้อเท็จจริง ก่อนที่กระบวนการอิมพีชเมนต์จะถูกขับเคลื่อนต่อไป

โดยตามขั้นตอนของกระบวนการอิมพีชเมนต์ในสภาคองเกรสสหรัฐ แบ่งออกเป็นขั้นตอนในสภาผู้แทนราษฎร และสภาซีเนตหรือวุฒิสภา โดยเมื่อมีสมาชิกคนใดในสภาผู้แทนราษฎรเสนอมติให้อิมพีชเมนต์ประธานาธิบดีในข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดในฐานความผิดใดๆ แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำการโหวตว่าจะสนับสนุนให้มีการอิมพีชเมนต์หรือไม่

ในขั้นตอนนี้จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก คือ 51 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจากเสียงในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่มีทั้งสิ้น 435 เสียง ถึงจะเดินหน้าขั้นตอนต่อไปได้ นั่นคือกระบวนการไต่สวนเพื่ออิมพีชเมนต์ในวุฒิสภา

โดยประธานศาลสูงสุดจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่เป็นอัยการ และวุฒิสมาชิกจะทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนในการวินิจฉัยความผิด

ก่อนที่สมาชิกวุฒิสมาชิกจะโหวตตัดสินว่าประธานาธิบดีมีความผิดจริงหรือไม่ เพื่อให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 เพื่อให้การอิมพีชเมนต์หรือการถอดถอนออกผู้นำสหรัฐมีผล

สำรวจเสียงในสภาคองเกรสสหรัฐตอนนี้ กระบวนการอิมพีชเมนต์ทรัมป์อาจจะผ่านมติเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตของเสียงข้างมากอยู่ไปได้

แต่เชื่อว่าจะต้องไปสะดุดตอใหญ่ในสภาซีเนตอย่างแน่นอน เพราะพรรครีพับลิกันของทรัมป์ครองเสียงข้างมากอยู่

เว้นเสียแต่ว่าจะมีสมาชิกพรรครีพับลิกันคนใดไม่เอาด้วยกับทรัมป์!