สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา กับ วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อย เหมือนในยุคหลัง

วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวัดพระเวฬุวันพระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองคฤห์

“วัด” ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละเข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาหาร ปราสาท (แปลว่าเรือน หรือตึก) ด้วย

คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า สุทัตตะ เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น

ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า

คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมอย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถาม ได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนหัวลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ

น้องเขยบอกว่าพรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

 

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยจะหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงเช้าไม่ไหวจึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับก่อนรุ่งแจ้ง

ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธองค์ดำรัสว่า “สุทัตตะมานี่สิ” เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท

พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพีกถา” (เทศนาอันว่าด้วยทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา

เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ “เข้าสู่กระแสพระนิพพาน”

สุทัตตะได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ ตลอดชีวิตโดยอัญเชิญเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานที่คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขยตลอด 7 วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

 

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด”

เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับด๊อกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์จะทรงเสด็จไปประทับ ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน

กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ

เจ้าเชตไม่อยากขาย จึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว

แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่า ให้เอาเหรียญกษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอ้โฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์ จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน 18 โกฎิ (มากแค่ไหน ผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)

เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนั้น จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก 18 โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ

ใช้เวลาสร้างนานเท่าไร ตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า “วัดพระเชตวัน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหนเป็นคนเดียวกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลความเอาว่า “เศรษฐีใจบุญ” (benefactor, benevolent)

 

ใครที่ไปไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติ อยู่ที่เนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการ พระเชตวัน

จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึกและกุฏิของพระสาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง

นอกนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดิน และอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น “เจดีย์” กราบไหว้ แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน

ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า “อานันทโพธิ” (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

วัดพระเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ “วัดบุพพาราม” ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่ามีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เพราะฉะนั้น วัดพระเชตวันจึงมิเพียงเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย

จึงนับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง