คนของโลก : “มาร์ติน ชูลซ์” คู่ท้าชิงผู้หาญทาบ “อังเกลา แมร์เคิล”

AFP PHOTO / EMMANUEL DUNAND

หลังช่วงเวลาหลายปีของการฝึกปรือขัดเกลาทักษะทางการเมืองในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อดีตประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) มาร์ติน ชูลซ์ วัย 61 ปี ได้เดินทางกลับบ้านเพื่อลงแข่งขันชิงตำแหน่งบริหารสูงสุดของเยอรมนี

โดยเขาถูกมองว่าเป็นผู้ชายคนเดียวที่มีคะแนนนิยมมากเพียงพอที่จะต่อกรกับหญิงเหล็กอย่าง อังเกลา แมร์เคิล

ในย่างก้าวอันน่าประหลาดใจ ซิกมา กาเบรียล ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม ว่า เขาตกลงหลีกทางให้ชูลซ์รับตำแหน่งประธานพรรคเอสพีดีแทนเขาและลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนพรรค

ชูลซ์ อดีตคนขายหนังสือที่ครั้งหนึ่งเคยถูก ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีเปรียบเทียบว่าเหมือนผู้คุมค่ายกักกันนาซี เพิ่งจะประกาศเมื่อ 2 เดือนที่แล้วว่า จะก้าวลงจากตำแหน่งในฐานะประธานของหน่วยงานเพียงแห่งเดียวของอียูที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง เพื่อกลับสู่แวดวงการเมืองในประเทศบ้านเกิด

และด้วยคะแนนความนิยมของกาเบรียล รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ค่อยๆ ตกต่ำดำดิ่งลงเรื่อยๆ ทำให้ดูเหมือนโชคชะตาจะช่วยผลักดันให้ชูลซ์ผงาดขึ้นมาบนเวทีใหญ่อย่างรวดเร็ว

AFP PHOTO

แม้จะมีภาพลักษณ์ของการเป็นคนวงในสุดๆ ของฝ่ายบริหารในบรัสเซลส์ ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า ชูลซ์มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ เทียบเท่ากับแมร์เคิลที่ดูเหมือนว่าไร้เทียมทาน

และแม้ผลสำรวจจะให้พรรคร่วมแนวทางอนุรักษนิยมของแมร์เคิล มีคะแนนนำห่างเอสพีดีมาโดยตลอด แต่กาเบรียลบอกว่า ชูลซ์มีโอกาสดีกว่าอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กันยายนปีนี้

นักสังเกตการณ์จำนวนมากระบุว่า การที่ชูลซ์ได้รับความนิยมมายาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขายังคงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศในระหว่างช่วงเวลาหลายปีของการปฏิบัติหน้าที่บนเวทียุโรป ขณะที่ยังลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นรายวันได้อีกด้วย

ในการกำหนดแนวทางการหาเสียงในประเทศที่พรรคเอเอฟดีซึ่งมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและคัดค้านการรวมตัวของสหภาพยุโรป อยู่บนเส้นทางที่จะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศ

ชูลซ์ประกาศกร้าวว่า จะต่อสู้กับนโยบายที่เป็นคำตอบง่ายๆ อย่างประชานิยม

ชูลซ์เติบโตขึ้นบริเวณชายแดนที่ติดกับทั้งเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ในช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งหนึ่ง เขาใฝ่ฝันไว้ว่าจะเป็นนักฟุตบอล แต่ต้องล้มเลิกไปหลังได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า

หลังเรียนจบจากโรงเรียนคาทอลิก ชูลซ์เปิดร้านขายหนังสืออยู่ที่ชานเมืองอาเคนจนถึงปี 1994 แต่ด้วยความชื่นชอบทางการเมือง เขาได้เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดีตั้งแต่อายุ 19 ปี

ชูลซ์ได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเวอร์เซเลน เมื่อตอนอายุ 31 ปี ทำให้เขากลายเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่ได้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสูงสุดของเมืองในรัฐนอร์ธไรน์เวสต์ฟาเลีย ที่มีประชากรมากที่สุดในเยอรมนี

และดำรงตำแหน่งอยู่เป็นเวลา 11 ปี

 

ชูลซ์เป็นที่สนใจในวงกว้างเมื่อปี 2003 จากการทะเลาะเบาะแว้งกับแบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลีในขณะนั้น ในการโต้เถียงครั้งนั้น ชูลซ์อภิปรายถึงเรื่อง “การแพร่ระบาดของไวรัสผลประโยชน์ทับซ้อน” ในแวดวงการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการโจมตีแบร์ลุสโคนี มหาเศรษฐีที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง ส่งผลให้เกิดการตอบโต้ที่น่าอับอายออกมา

“ผมรู้จักผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในอิตาลีที่สร้างหนังเกี่ยวกับค่ายกักกันนาซี คุณน่าจะเหมาะกับบทผู้คุม” แบร์ลุสโคนีกล่าว

ขณะที่ชูลซ์กล่าวว่า “ด้วยความเคารพที่ผมมีต่อเหยื่อของนาซีทำให้ผมไม่สามารถที่จะตอบโต้ได้” ซึ่งเป็นการตอบอย่างสุขุมที่ได้รับคำชมเป็นอย่างมาก

และเมื่อปี 2012 ชูลซ์ได้รับตำแหน่งประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป ที่เขาผลักดันให้สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปมีสิทธิมีเสียงและส่วนร่วมมากขึ้นในการบริหารงานในอียู