เหล้าเบียร์กับผีพราหมณ์พุทธ จากเซ่นสรวงวิญญาณ ถึงข้อห้ามทางศีลธรรม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประเทศไทยเสพสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมอันดับสี่สิบของโลก แต่เฉพาะเหล้ากลั่น เราดื่มเป็นอันดับห้าของโลก)

ในวัฒนธรรมเราเองแต่เดิมเราใช้ทั้งสุรากลั่นและหมักทั้งในพิธีกรรมและดื่มเพื่อบันเทิง ต่อมารับเบียร์จากฝรั่งเข้ามาแล้วกลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมอย่างสูง

การทำเบียร์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผูกขาดไม่กี่เจ้า ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตถูกลง คนพอมีเงินบ้างจึงผลิต “คราฟต์เบียร์” ออกมาได้ แต่งรสไปตามความสร้างสรรค์ แต่ขายไม่ได้เพราะผิดกฎหมายบ้านเรา ที่เปิดช่องเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ ด้วยเกณฑ์การจดทะเบียนวางเงินสูงลิ่ว

ล่าสุดจับกุมกวาดล้างกันไป กลายเป็นประเด็นเดือดในโลกออนไลน์ เพราะชาวเน็ตเห็นกันชัดๆ ว่ามีการผูกขาดธุรกิจนี้

มิหนำซ้ำยังขุดคุ้ยกันว่า ใครต่อใครที่ได้รับเงินเดือนในตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ทั้งๆ ที่ผิดระเบียบราชการ ซึ่งล้วนแต่คนใหญ่คนโตทั้งสิ้น

ท่ามกลางคนที่ถกเรื่องนี้ก็มักมีอีกเสียงดังๆ ว่า กฎหมายทำกำแพงสูงๆ ไว้ดีแล้ว จะได้ไม่ส่งเสริมเบียร์กัน มันผิดศีล

คนบ้านเราซีเรียสเรื่องศีลกันมากครับ ซีเรียสจนผิดปกติทั้งที่ศีลแปลว่า “ปกติ”

ที่จริงประเด็นของผมวันนี้ อยากจะแสดงชี้แจงให้เห็นว่า ทั้งผี พุทธและพราหมณ์ มีทัศนะต่อ “สุรา” ซึ่งผมใช้ในความหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ที่ทั้งหมัก ต้ม กลั่น ง่ายๆ ละกัน

มนุษย์คงค้นพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากของหมักดองก่อน เมื่อกินแล้วมันช่างซาบซ่ามึนเมา ให้ผลเช่นเดียวกับยาเสพติดที่มีผลต่อประสาทอื่นๆ

คือกินแล้วดุจคล้ายติดต่อกับเทพเจ้าและผีบรรพชนได้ นับแต่นั้นสุราจึงกลายเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาผีจึงไม่เคยมีปัญหากับเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้เลย และกลายเป็นของที่ขาดไม่ได้ในพิธี

แม้ทุกวันนี้เครื่องเซ่นผีอย่างง่าย คือต้องประกอบด้วยสามอย่าง อาหารที่มาจากชีวิตสัตว์หรือจากการฆ่า เช่น ไก่สักตัว ข้าว และสุรา ดั่งคำไหว้ครูเก่า เชิญผีเชิญครูมารับ “เหล้าข้าวไชยบาน”

“ไชยบาน” แปลว่า “เหล้า” ครับ “บาน” มาจากคำบาลี-สันสกฤต (ปาน) หมายถึงการดื่มหรือเครื่องดื่ม แต่การเติม “ไชย” ไว้ข้างหน้า นี่น่าสนใจครับ เพราะมันหมายถึงชัยชนะ ความโชคดีมีชัย ฯลฯ

แสดงว่า เจ้าเครื่องดื่มนี้เป็นของดีกินแล้วมีแฮงมีโชคชัย

ศาสนาผีไหนๆ ในโลกก็ใช้เหล้าเซ่นสรวงทั้งนั้น ฝรั่งถึงเรียกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ว่า “สปิริต” (Spirits) ที่หมายถึงมันมีจิตวิญญาณด้วย

ส่วนพราหมณ์กับพุทธนั้นต่างจากศาสนาผี คือมีท่าทีสองอย่างที่ตรงกันข้ามกันต่อสุรา ด้านหนึ่ง ยกย่องสรรเสริญ อีกด้านหนึ่ง รังเกียจ

จำเดิมในสมัยพระเวท พราหมณ์เสพ “น้ำโสม” (Soma) และคั้นถวายเทพเจ้าด้วย เจ้าน้ำโสมที่ว่านี่ยังเถียงกันว่าเป็นหญ้าชนิดหนึ่งหรือเห็ด แต่ที่แน่ๆ คือมีสรรพคุณทำให้ “เมา”

ในคัมภีร์ “สามเวท” ของพราหมณ์ซึ่งรวมบทขับขณะพราหมณ์ถวายน้ำโสม บางบทขณะที่พรรณนาว่าเทพเจ้าเป็นอย่างไรนั้น ก็ต่อท้ายบทด้วยการบอกว่า “หรือข้าพเจ้าจะเมาน้ำโสม”

โสม ซึ่งหมายถึงน้ำคั้นพืชเมาจะคล้ายเลือนความหมายเป็น “พระจันทร์” (ว่ากันว่าพระจันทร์มีโสม) คำนี้ยังเพี้ยนมาเป็น “โหม” [ในภาษาเปอร์เซียโบราณ ส และ ห กลับกันได้ เช่น อสูร เป็น อหูร, สินธู เป็น หินทู (ออกเสียงฮินดู)]

โหม หมายถึงพิธียัญญะ หรือการบูชายัญที่มีการบูชาไฟและบูชายัญสัตว์ สมัยก่อนจะคั้นน้ำโสมต้องกระทำในยัญญพิธีเท่านั้น โหมและโสมจึงสัมพันธ์กันดังนี้

นอกจากน้ำโสม ในอินเดียก็มีการทำน้ำเมาอื่นๆ น้ำเมาเหล้านี้มีทุกแบบ ทั้งกลั่น ทั้งหมัก ในสมัยแรกๆ การดื่มน้ำเมาเหล้านี้ไม่ผิดอะไร แถมยังเป็นน้ำ “อมฤต” อีกด้วย

และถึงขนาดยกขึ้นเป็น “เทวี” มีพระนามว่า “วารุณี” แปลว่า ชายาของพระวรุณซึ่งเป็นเทพแห่งน้ำในปุราณะ นอกนี้ยังมีพระนามว่า สุรา สุราเทวี ฯลฯ

มิน่าเล่า เขาถึงต้องใช้น้ำหรือโซดาเป็นมิกเซอร์ผสมเหล้านี่เอง เทพีวารุณีกับเทพวรุณจะได้เจอกัน (ฮา) อันนี้ผมพูดเล่นนะครับ

ในทางโบราณคดียังมีการพบเทวีวารุณีอยู่รวมกับท้าวกุเวรและพระลักษมี ซึ่ง อาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี ท่านไปพบมาและตีความว่า นี่คือสัญลักษณ์ของความสุขของอินเดียโบราณ คือมีเงินทอง มีโชคและกินดื่มเต็มที่

แต่ต่อมาศาสนาฮินดูพลิกกลับ ทำให้การดื่มสุรายาเมาทั้งหลายกลายเป็นหนึ่งใน “บาปหนัก” ทั้งห้า (ปัญจปาตกบาป) ซึ่งเข้าใจว่าได้อิทธิพลจากพุทธศาสนาอีกทอดหนึ่ง

ทุกวันนี้ในอินเดียการกินเหล้าจึงแอบๆ ซ่อนๆ และบางที่มีกฎหมายควบคุมค่อนข้างมาก

กระนั้นในศาสนาฮินดู การใช้เหล้ายังคงเล็ดลอดไปยังพิธีกรรมของฝ่าย “ตันตระ” ทั้งในฐานะเครื่องบูชาเทพบางองค์ และของที่ต้องดื่มกินทางพิธีกรรมทั้งห้า “ปัญจมการ” (มางสะ เมรัย มุทรา มนตราและเมถุน) ในฐานะ “น้ำอมฤต”

แต่พิธีกรรมเช่นนี้เป็นของ “ลับๆ” ไม่เปิดเผยก็เพราะทัศนะของเมรัยในสังคมกลายเป็นลบไปแล้ว

แต่ทั้งนี้ตันตระมองว่า “ความรื่นรมย์” เป็นศักยะของเทพ เราจึงไม่ควรปฏิเสธความรื่นรมย์ แต่กลับไปสัมพันธ์กับความสุขตามธรรมชาติ โดยขยายมิตินี้ออกไปไม่ให้คับแคบเพียงตัวเราและเข้าถึงทิพยภาวะให้ได้โดยอุบายวิธีต่างๆ

ในทัศนะแบบนี้เหล้าจึงมิได้เลวร้ายในตัวมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสัมพันธ์กับมันอย่างไร

ส่วนพุทธศาสนาก็มีทัศนะต่อสุราไปสองแบบเช่นกัน ทางหนึ่งพุทธศาสนายืนยันหลักศีลห้า โดยถือว่าเป็นคุณธรรมพื้นฐาน เหล้าและสุราจึงไม่ควรดื่มกินเพราะเป็นเหตุให้ขาดสติท่านว่างั้น

แสดงว่า แม้แต่พุทธศาสนาเองก็ไม่ได้มองเหล้าในฐานะสิ่งเลวร้ายโดยตัวมันเอง พุทธศาสนาไม่มีบาปบุญแบบเทวโองการ แต่บาปบุญสัมพันธ์กับประโยชน์ทางกายใจ จึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ปราศจากที่มาที่ไป

ดังนั้น เหล้าควรงดเว้นเพราะมันนำไปสู่การขาดสติ แต่หากไม่ขาดสติก็พึงพิจารณาให้แยบคาย

ด้านการห้ามนี้ในนิกายเถรวาทเน้นมาก อาจารย์ศิริพจน์วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า หรือทางหนึ่งศีลข้อนี้คือปฏิกิริยาที่มีต่อ “น้ำโสมของพราหมณ์” คือต่อต้านพิธีกรรมและความเชื่อพราหมณ์ไปในตัว

อีกด้าน พุทธศาสนาในนิกายอื่นๆ ไม่ได้มองเหล้าในแง่ลบแต่เพียงอย่างเดียว มีทั้งดื่มเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะเภสัช เช่น ในญี่ปุ่น หรือมีตัวอย่างของภิกษุฉันเหล้าแต่นับถือกันว่าเป็นอรหันต์ในตำนานพื้นบ้านจีน อย่างจี้กง

ทางหนึ่งตำนานจี้กงสะท้อนความหลงยึดติดรูปแบบการปฏิบัติของพระในจีน ความเคร่งวินัยโดยปราศจากการไตร่ตรองและอิสรภาพที่ควรถูกเน้นกว่ารูปแบบที่แสดงออกมาอย่าง “ตอแหล” จี้กงจึงต้องฉันเหล้าฉันเนื้อโชว์ซะเลย

ในฝ่ายวัชรยานซึ่งมีเทคนิควิธีการแบบตันตระนั้น เหล้าถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม สำหรับถวายพระธรรมบาลและเจ้าที่เจ้าทาง รวมทั้งใช้ในพิธีปรุง “อมฤต” และการชุมนุมที่เรียกว่า “คณจักร” ด้วย แต่มิได้แปลว่า ทั้งพระและผู้ปฏิบัติจะกินเหล้ายากันเมามายทุกวัน แต่กินในทางพิธีกรรมและใช้เป็นอุปายะ

ซึ่งมีทัศนะคล้ายๆ ตันตระฮินดู แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างออกไปบ้าง

ทั้งหมดนี้มิใช่ผมส่งเสริมให้คนกินเหล้านะครับ แต่บ้านเรานั้นเวลานึกจะห้ามอะไรก็ถามหาเหตุผลไม่ค่อยเจอ ครั้นเจอเหตุผลก็ชอบนึกว่าเหตุผลนั้นเป็นข้อสรุปสูงสุด เช่น เรื่องห้ามคนกินเหล้า

ที่สำคัญคือชอบพาลเอาไปห้ามคนอื่นเสียด้วย