ภาวะ ‘ไม่ราบรื่น’ จากปัจจัย ‘ลี้ลับ’

สภาพการณ์ของ “รัฐบาลชุดปัจจุบัน” ดูแปร่งปร่าอย่างไรชอบกลอยู่

ภายหลังการปรับ “ครม.เศรษฐา 1/1 และ 1/2” เรื่องที่คิดว่าควรจะ “ได้” กลับกลายเป็น “เสีย” หรือแทนที่จะสามารถ “เดินหน้าลุยต่ออย่างราบรื่น” รัฐบาลกลับมีอาการ “สะดุดล้ม” ติดต่อกันจนน่าสงสัย

ถ้ากรณีการลาออกทันทีทันควันของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีต รมว.ต่างประเทศ และ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” อดีต รมช.คลัง อาจถูกปัดเป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องการแบ่งงาน เรื่องของความขัดแย้งภายในพรรค/ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือเป็นเรื่องของความคิดเห็น วิถีปฏิบัติ โลกทัศน์ ที่ไม่ต้องตรงกัน

เคสการลาออกล่าสุดของ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คล้ายจะมีอาการน่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น

ในเชิงการบริหารงาน เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่า เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” นั้นขาดแคลน “มือกฎหมาย” ประจำ ครม. แต่พอได้ “รัฐมนตรีมือกฎหมาย” เข้ามาทำงานปุ๊บ เขากลับอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งเดือน แถมยังต้องจากไปเพราะปัญหาเรื่องข้อกฎหมายนั่นเอง

ในเชิงการเมือง เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าปมปัญหาในอดีตของพิชิตคือ “บาดแผล” ที่นำมาบดขยี้ซ้ำได้จาก “ฝ่ายตรงข้าม” แต่สุดท้าย ทางพรรคเพื่อไทยก็ยังลองเสี่ยง จนเรื่องราวลุกลาม เห็นได้จากการออกฤทธิ์ออกเดชโดยมรดกทางการเมืองที่จับต้องได้อย่างเป็นทางการชิ้นท้ายๆ ของ คสช. อย่าง “ส.ว.ชุดที่เพิ่งหมดวาระ”

ตลอดจนผลกระทบที่ไม่เพียงสั่นสะเทือนต่อเก้าอี้รัฐมนตรีของพิชิต แต่ยังคุกคามเสถียรภาพความมั่นคงของตัวนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน”

นี่คือการหาเรื่องวุ่นวายปวดหัวให้ตัวเองได้อย่างน่าประหลาดใจ

 

สถานการณ์ปรวนแปรข้างต้นบ่งบอกว่า “ดุลอำนาจทางการเมืองไทย” นั้นยังไม่นิ่งสงบ “ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ” (โดยตัด “ก้าวไกล” ออกไป) ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ทว่า มีการคัดง้างประลองกำลังกันตรงหลังฉากอยู่ตลอดเวลา ระหว่างคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่พยายามขัดฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนจากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 มาด้วยกัน

รัฐนาวาชุดปัจจุบันจึงมิได้เผชิญคลื่นลมต่างๆ นานา ในรูปของปัญหาทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ที่ปรากฏชัดเจนต่อสายตาของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป หากยังระหกระเหินไปตาม “ปัจจัยทางอำนาจลับๆ” ที่ไม่เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของอดีตรัฐมนตรี “พิชิต ชื่นบาน” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีทางจะทราบได้ว่า ทำไมรัฐบาลจึงยังยืนกรานเสนอชื่อเขาในการปรับ ครม.รอบที่ผ่านมา? และอะไรคือเหตุผลหลักที่บีบให้พิชิตต้องลาออก ทั้งๆ ที่เพิ่ง “ประกาศสู้” เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น?

จะนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าสุดท้าย รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถทำอะไรใหญ่ๆ ได้สำเร็จเลย เพราะต้องถูกล้มกระดานไปก่อน ผ่าน “เกมอำนาจ” ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยแม้แต่น้อย

 

อย่างไรก็ดี ถ้าลองประเมินด้วยสายตาของฝ่ายอนุรักษนิยม-ขวาจัดที่พอมีเหตุผลหน่อย การจะยุบพรรคก้าวไกลและเปลี่ยนหัวรัฐบาลเพื่อไทยไปพร้อมๆ กัน นั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก และดูสุ่มเสี่ยงเกินไป ในภาวะที่พวกเขาก็ไม่ได้มีต้นทุนให้เสียเยอะแยะ

ด้วยเหตุนี้ การมีรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย การมีนายกฯ ชื่อเศรษฐา จึงยังน่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ย่ำแย่เกินไป และปลอดภัยสูงสุดสำหรับสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

แต่ทุกคนต่างก็ทราบกันดี จากสภาพการณ์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่า รัฐบาลและดุลอำนาจทางการเมืองไทยยังอาจสั่นคลอนปริร้าวได้ทุกเมื่อ

โดยที่ความผันผวนดังกล่าวมิได้มีความข้องเกี่ยวกับผลงานของรัฐบาลและศักยภาพของผู้นำประเทศสักเท่าใดนัก •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน