อภิญญา ตะวันออก / ชัยวรมันที่ 7 : การแพทย์ตันตระและข้อถกเถียง “พระเจ้าขี้เรื้อน”

อภิญญา ตะวันออก

ต่อการพบพานของสี่เหลี่ยมเชิงซ้อนทรงเรขาคณิต 1 ในนิมิตรูปของ “มณฏะ” สัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนพิธีกรรมและสมาธิอันเร้นลับแห่งภพพลังของพระบริบาลอโรคาและองค์อนุภาคีในพระไภษัชยคุรุ ที่ไม่แน่ชัดว่า ถือกำเนิดมาพร้อมๆ ตันตระเวทย์ในกัมพูชาสมัยนครธมหรือไม่

โดยนอกจากกระบวนเล่นแร่แปรธาตุกลุ่มสารปารต/ปรอท สู่โอสถวัฒนะซึ่งบทกล่าวว่าเป็นที่รู้จักของชาวนครธมแล้วเวลานั้น โดยเชื่อกันว่า ป้องกันมิให้ร่างกายมีการเสื่อมสลาย และบางมิติของความเชื่อนั้นไปถึงขั้นมีส่วนทำให้ชีวิตยืนยาวเป็นอมตะ (ซึ่งไม่แน่ชัดในกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์)

อย่างไรก็ตาม ทั้งพิธีกรรมและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พิสดารสมัยชัยวรมันที่ 7 นี้ มีภูมิปัญญามาจากความเชื่อของนิมิตรูปของสี่เหลี่ยมเชิงซ้อนข้างต้น ซึ่งอีกด้านหนึ่งคือสัญลักษณ์ในองค์พระไภษัชยคุรุที่เกี่ยวกับตัวเลข “๕๑” อันประกอบด้วยจำนวนพระโพธิสัตว์และเหล่าเทวาอารักษ์อันแจกเป็น :

พระไภษัชยคุรุ ๑, พระพุทธรูป ๘, พระโพธิสัตว์ ๑๖, พระติกบาล ๑๐, ยักษา ๑๒, โลกบาลธาตุ ๔ แยกเป็น :

โลกบาล ๔ ทำหน้าที่ปกปักรักษาโลกอีกเป็นตัวแทนของธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ใน “จตุรตันตระเวช” (4-Tantravet)

ยักษา ๑๒ สัญลักษณ์ประทานพร “สัจจะปณิธาน 12 ประการ” ของพระไภษัชยคุรุ

พระติกบาล ๑๐ ผู้พิทักษ์ทิศานุทิศทั้ง 10 ประกอบด้วยทิศหลัก ๔ รอง ๔ และกลาง ๒ ตามองค์นาม ๑๐ คือ พระอินทร์ พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) พระยม พระพิรุณ พระอัคนี พระวายุ พระกุเวร พระไอศนะ (Isana) พระนัยรตะ (Nairrta) โดยคำว่า “บาล” นั้น ภาษาเขมรแปลว่า “ผู้ทำปกปักรักษา” จารึกไซฟงวรรค 23 (ฟิโนต์ : 1915)

พระโพธิสัตว์ ๑๖ ที่รู้จักมากคือ พระมัญชุศรี ๑ พระอวโลกิเตศวร ๑ พระวัชรปาณี ๑ พระศรีเมตไตรย ๑ พระสุรยประภา ๑ และพระจันทรประภา ๑ หรือพระสุริยะไวโรจนาจันทโรศี-พระจันทรไวโรจนาโรหินิจตามจารึกของไซฟง (สิกขาจักร : 86)

ปริศนาความหมายจำนวน “๕๑” ที่ถูกตีความจำนวนอโรคยาศาลานี้ นอกจากจะบ่งถึงความก้าวหน้าของแพทย์สายพุทธมหายานสมัยชัยวรมันที่ 7 แล้ว

ยังถอดความได้ถึงปมพิศดารบางประการที่พบว่าคลุมเครืออยู่ในบทความ โดยเฉพาะประเด็นปริศนาว่าด้วยความเป็นอมตะและการเอาชนะความตาย

กระนั้นก็มีบางอย่างที่ชัดเจนมากจากงานวิจัยชิ้นนี้ นั่นคือ

วิธีพยากรณ์โรคแบบการจับชีพจร

 

พระเจ้าขี้เรื้อน

กระบวนแพทย์แบบตันตระว่าด้วยการจับชีพจรนี้มีมาแต่อินเดียโบราณ เผยแพร่สู่ทิเบต จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิโอซาต : 1937)

แต่เมื่อมาถึงยุคกลางของอาณาจักรขอมนี้ ซึ่งปราชญ์เมธีด้านขอมวิทยายุคแรกๆ เริ่มค้นคว้าศึกษาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จอร์จ เซเดส คือผู้มีผลงานด้านจารึกเผยแพร่จำนวนมาก จึงไม่แปลกที่งานวิจัยของเขาจะถูกโต้แย้งต่อมาโดยนักวิจัยรุ่นหลัง

ประเด็นแรก เขาถูกกล่าวหาว่าให้ความสำคัญต่อฮินดูเทวะ แต่ละเลยประเด็นองค์รวมอื่นๆ โดยเฉพาะตันตระวิทยาสมัยพระนครธม ซึ่งถือเป็นความรู้ทางแพทย์สมัยใหม่ ที่ถือเป็นความก้าวหน้าของอาณาจักรยุคกลางกัมพูชา โดยแม้แต่ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก็ยังล้าหลัง

สำหรับเฌ็ม เคียด ฤทธี ที่เห็นว่าการที่เซเดสตีความผิดพลาดต่อจารึกและงานประติมากรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อน โดยเฉพาะ “การจับชีพจรของแพทย์กับผู้ป่วย” ที่ปรากฏบนภาพประติมากรรมนูนต่ำปราสาทบายนนั้น ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่ไม่ได้รับการชำระสะสางยาวนานหลายทศวรรษ

โดยหลักฐานที่นำมาหักล้างประเด็นนี้คือความเชื่อที่ว่า ช่างฝีมือสมัยนั้นจะไม่มีวันแกะสลักบุคคลระดับพระมหากษัตริย์โดยปราศจากเครื่องทรงเกียรติยศอันบ่งบอกฐานะ อาทิ เศวตฉัตร พระแท่น พัดโบก อื่นๆ (สิกขาจักร : 83)

ดังนี้ “คนไข้” ในภาพสลักหินชิ้นนั้น จึงเชื่อว่าเป็นเพียงบุคคลสามัญ หาใช่พระมหากษัตริย์หรือพระบาทชัยวรมันที่ 7 ไม่

ทว่าข้อโต้แย้งนี้ยังรวมไว้ด้วยเรื่องประติมากรรมลอยตัวของ “เสด็จค่มล้ง” หรือ “พระเจ้าขี้เรื้อน” (Leper King) ที่เซเดสและนักวิชาการฝรั่งเศสบางคนตีความคลุมเครือว่าเป็นพระบาทชัยวรมันที่ 7 ซึ่งก็ถูกหักล้างว่า “ไม่ใช่” อีกคำรบหนึ่ง

ถ้าเช่นนั้น “เสด็จคุ่มล้ง” เป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับพระบาทชัยวรมันที่ 7 หรือไม่ และลำดับไหน? ทว่าการมีคำนำหน้าเป็นถึง “เสด็จ/กษัตริย์” อีกเมื่อเป็นรูปปั้นสมัยพระนครธมแล้ว ย่อมมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชัยวรมันที่ 7 มิทางใดก็ทางหนึ่ง

ซึ่งฉันก็ตั้งความคิดมโนไปว่า

ฤๅจะเป็นบุพการีพระบิดาพระบาทชัยวรมันที่ทรงประชวรด้วยโรคร้าย? จนพระองค์อุทิศสร้างปราสาทถวาย?

 

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อการรักษาโรคเรื้อนสมัยชัยวรมันที่ 7 เต็มไปด้วยกระบวนวิธีบางอย่างอันน่าจดจำ

มิฉะนั้น ภาพสลักหินนูนต่ำนายแพทย์การจับชีพจรผู้ป่วยดังกล่าวจะไม่มีวันบังเกิด เฉกเดียวกับ ประติมากรรมลอยตัว “พระเจ้าขี้เรื้อน”

อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากับวิบากโรคเรื้อนที่ระบาดสมัยนั้น นับเป็นความเลวร้ายที่สร้างความหวาดกลัวต่อชาวพระนครยิ่งนัก

กล่าวคือ แม้แต่เขมรอินโดจีนในทศวรรษ 1930 โรคเรื้อนก็ยังเป็นความหวาดกลัวที่หลอกหลอน ที่พบว่า แม้แต่สถาบันหลุยส์ปลาสเตอร์เมืองไซ่ง่อนก็ยังระบุเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม (ดัชนีสิกขาจักร : 16)

อย่างไรก็ดี เห็นได้ทีเดียวว่าโรคร้ายชนิดนี้ได้คุกคามชนชั้นปกครองเขมรยุคนั้นไม่มากก็น้อย แลท่ามกลางความวิทยาการอันรุ่งเรืองโอฬารของราชธานีขอมเวลานั้น ความพยายามที่จะเอาชนะต่อภัยพิบัตินี้ย่อมมีอยู่ มิทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีตำรับการรักษาหนึ่ง

กล่าวถึงการห้ามมิให้จับเนื้อต้องตัวหรือนวดเฟ้นผู้ป่วย

การปรุงพืชสมุนไพรบางชนิดที่สามารถนำไปผสมกับน้ำ “มูตรวัว” หรือปัสสาวะโค

นอกจากนี้ การใช้ยาพื้นบ้านบางประเภทแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับแพทย์ตันตระนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การรักษา “อาโปธาตุ” หรือธาตุน้ำในร่างกายอย่างสมดุล มีส่วนสำคัญในการบรรเทาอาการ

รวมทั้งการฟื้นฟูร่างกายด้วยการฝึก “โยคะ และวิปัสสนา” เพื่อปรับสมดุลธาตุทั้งสี่ในร่างกาย (ศรุตะสังหิตา : 2000)

 

และนั่นคือวรรคทองที่ฉันตื่นเต้นจากบทความชิ้นนี้ โดยเฉพาะ ประจวบกับความเชื่อส่วนตัวที่ว่า นอกจากวิปัสสนาแล้ว พระบาทชัยวรมันที่ 7 น่าจะฝึกฝนด้านโยคะอย่างอุกฤษฏ์

เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น

ประติมากรรมลอยตัวท่าประทับนั่งสมาธิที่พิพิธภัณฑสถานกรุงพนมเปญดูจะบ่งบอกถึง โครงสร้างทางร่างกายที่ผ่านการฝึกฝนดังกล่าว

นอกเหนือจากความเลื่อมใสที่มีต่อพระไภษัชยคุรุ ผู้เต็มไปด้วยตรรกวิทยาอันลึกลับด้านตันตระแล้ว ความสนใจในพุทธมหายานอย่างล้ำลึกส่วนพระองค์

โดยเฉพาะความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับความตายในรูปความเป็นอมตะนิรันดร์แห่งความเป็นพระโพธิสัตว์และสมมติเทพ ซึ่งคือสิ่งอันเหนือกฎธรรมชาตินั้น

เชื่อว่าพิธีกรรมบูชาในอาศรมเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อขั้นตอนบรรลุอันสูงส่ง

โดยมิว่า กระบวนแพทย์วิทยา พิธีกรรมบูชาต่างๆ ที่ดำเนินไปทุกประการ ทว่าลำดับสุดท้ายคือการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ ซึ่งพระองค์เท่านั้นต้องฝึกฝนมันด้วยตนเอง และก่อนจะไปถึงขั้นบรรลุวิปัสสนานั้น โยคศาสตร์คือด่านสำคัญในการฝึกฝนลมหายใจ

ซึ่งอัศจรรย์ว่า รูปปั้นศิลาแลงไร้ชีวิตของพระองค์จำนวนมาก กลับมักปรากฏร่องรอยของใบหน้าที่สุขสงบ

ประหนึ่งลมหายใจแห่งสมาธินิรันดร์นั้นมีอยู่