อภิญญา ตะวันออก : ตันตระเวทย์ในโรงพยาบาล 102 ยุคชัยวรมันที่ 7

อภิญญา ตะวันออก

ทําไมประติมากรรมเทวรูปนั่งพระวัชรธร (Vajradhara) ในมือถือกระดิ่ง ประดิษฐานบริเวณเทวาลัยอโรคยาศาลาฝั่งตะวันออกของปราสาทบายนจึงถูกนำไปโยงกับพระไภษัชยคุรุ ที่เป็นเสมือนคุรุเทพ รวมทั้งนิมิตรูป 51 เทวโลกบาลใน “มณฏะ/manฺdฺala” (ภาษาเขมร-มณฑล) นั้น ความซับซ้อนนี้ ยังไม่เท่านั้น

แต่คีธ ฤทธี เฌ็ม หรือเฌ็ม เคียด ฤทธี (เขียนแบบเขมร) นำทั้งหมดไปผูกไว้กับสัญลักษณ์ “๑๐๒” ที่เกี่ยวโยงกับโลกธาตุวิทยาว่าด้วยและเทวโลกบาล ๕๑ องค์ และโรงพยาบาล 102 แห่งของชัยวรมันที่ 7

ความพยายามพิสูจน์ทั้งหมดที่มาจากเหล่าโลกบาลเทวดา ๕๑ องค์นี้ มิต่างจากโลกธาตุสถิตอยู่ในพระไภษัชยคุรุอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็น่าสนใจว่า มีหลักฐานฝ่ายกันที่สนับสนุนว่า พระบาทชัยวรมันที่ 7 คงถือเอาคตินิมิตรูปนี้ไว้เล่า?

มากกว่านั้น ข้อสันนิษฐานของเฌ็ม เคียด ฤทธี นักวิจัยใน 8 ศตวรรษหลังที่ประมวลว่า พระบาทชัยวรมันที่ 7 ทรง (น่าจะ) ใช้วิธี “ทบทวี” จำนวนจาก “๕๑” เป็น “๑๐๒” หรือ ๕๑ x ๒ ซึ่งเท่ากับจำนวนโรงพยาบาล 102 แห่งของพระองค์พอดี (สิกขาจักร : 81)

ดูจะเป็นวิธีคิดที่ขาดเหตุผลอื่นๆ มารองรับ

อาทิ แล้วทำไมต้องเป็น “๑๐๒” เล่า? ทำไมจึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของตัวเลขอย่าง “๑๐๘” ที่มีการยอมรับอยู่ในคติความเชื่อแบบมหายานและเถรวาท? และอันที่จริงแล้ว ตันตระเวทย์แบบพุทธมหายานเช่นทิเบตนี้ มีข้อพิสูจน์ถึงจำนวน “๕๑”

และสนับสนุนว่า จำนวน 102 แห่งอโรคยาศาลาสมัยนครธมนี้ มาจากทฤษฎี “ทบทวี”

 

เป็นสมมติฐานที่ข้ามประเด็นซับซ้อนไปสู่ศูนย์กลางอำนาจของชัยวรมันที่ 7 โดยตรง กระนั้น ก็น่าสนใจว่า เหตุใดจึงไร้ซึ่งหลักฐานหนาแน่นใดๆ ที่พอประมวลให้นักวิจัยรุ่นก่อนและรุ่นกลางต่อมาเห็นสาระสำคัญของตันตระวิทยาสมัยชัยวรมันที่ 7

ทว่ามิได้มีสิ่งเหล่านี้เลย

กระทั่ง 8 ศตวรรษต่อมา ความพยายามของเฌ็ม เคียด ฤทธี ได้ทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตว่า เฌ็มลงลึกแต่เฉพาะหลักฐานในเมืองพระนคร และละเลยหลักฐานที่อาจเชื่อมโยงตันตระศาสตร์ทางการแพทย์ เช่น จารึกอโรคยาศาลาในประเทศไทย ที่อาจทำให้ทฤษฎี “ทบทวี” มีมิติที่ลึกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความบรรเจิดของทฤษฎีทบทวีนี้ ทำให้เกิดมิติความคิดอันฉับพลัน ที่ทับซ้อนเล็กน้อยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พระบาทชัยวรมันที่ 7 มิได้ “ทบทวี” โลกบาลเทวดาทั้ง “๕๑” ใดๆ ลงไปในโครงการอโรคยาศาลาของพระองค์ไม่ แต่ทรง “จำแนก” ไว้เป็นคู่ เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างปราสาทสำคัญ 2 หลังเพื่ออุทิศถวายแด่บุพการี

ในที่นี้คือปราสาทตาพรหมและปราสาทพระขรรค์ ซึ่งก็พบว่า ปราสาททั้ง 2 นี้มีจารึกที่เกี่ยวกับกระบวนแพทย์แบบตันตระของพระไภษัชยคุรุด้วย

ทบทวนด้วยว่า ปราสาททั้งสองยังเป็นที่มาของกระบวนรักษาโรคร้ายในบุพการีทั้งของพระองค์

และด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมปราสาททั้งสองจึงเต็มไปด้วยจารึกอันเกี่ยวกับพระไภษัชยคุรุและตันตระแพทย์แบบมหายาน ตามมาด้วยการสร้างโรงพยาบาล, ทฤษฎีทบทวีโลกบาลเทวดาทั้งห้าสิบเอ็ดที่พาไปสู่ตัวเลข-102

ด้วยเหตุนั้น อาจมีความเป็นไปได้ว่า ทรงนำวิธีสร้างปราสาทคู่เพื่ออุทิศแด่พระบิดาและมารดา แม้จะมิพักว่า โรงพยาบาล 102 หลังนี้ เป็นไปเพื่อบุพการีทั้งสองอีกหรือไม่?

 

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของทฤษฎี-102 หรือจำนวนทบทวี หรืออะไรดังกล่าว ก็ยังไม่น่าสนใจเท่ากับวิทยาการแพทย์แผนใหม่ที่ก้าวหน้า ต่อการบรรลุถึงสุดยอดความปรารถนาสูงสุดของความเป็นมนุษย์ นั่นคือ ความเป็น “อมตะ” และทั้งหมดนี้มีอยู่ในการธาตุโลหะชนิดหนึ่งซึ่งเขมรเรียกว่า “ปารต”

อนึ่ง กระบวนเล่นแร่แปรธาตุทางอายุรเวชนี้ ประกอบด้วย วิธีที่สามารถนำไปพัฒนาดุลภาพระหว่างกายและจิต ทั้งนี้ เพื่อชุบชูความมีชีวิตชีวาแก่ผู้ปฏิบัติ

และในที่นี้ การฝึกฝนโยคะและเจริญภาวนา คือสิ่งที่เชื่อว่านำไปสู่ดุลยภาพแห่งการมีชีวิตที่เบิกบานและยืนยาว

มีนัยยะว่า นอกจากการต่อสู้กับโรคเรื้อนที่ระบาดในสมัยของตนแล้ว พระบาทชัยวรมันที่7 ยังก้าวไปสู่ขั้นที่สูงที่เป็นสุดยอดความปรารถนาของมนุษย์ทั่วไป ซึ่งแม้กระบวนดังกล่าวนี้ หรือที่เรียกว่า “ศรุตะ สังหิตา” (Susruta Samฺhita) จะไม่ปรากฏในจารึกก็ตาม แต่ก็พบว่า วิธีดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่พบในวิทยาลัยนาลันทาของอินเดีย ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 11 ต่อมาแพร่ไปในทิเบต จีน ศรีลังกา เอเชียอาคเนย์ และอาณาจักรขอมราวคริสต์ศตวรรษที่ 12

ส่วนโลหะธาตุนั้น นัยทีคือ “ปารตสาร” ที่น่าจะหมายถึงสารปรอท อันตรงกับที่พบอยู่บนข้อความจารึกตอนหนึ่งของปราสาทตาพรหมความว่า

“พระบาทชัยวรมันที่ 7 ทรงพระราชทานอุปกรณ์และโลหะวัตถุแก่คุรุแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยสารปรอท, กำมะถัน ตลอดจนภาชนะประเภทโถทองคำ” ที่เชื่อว่า สำหรับปรุงและแปรธาตุ (สิกขาจักร : 81)

สอดคล้องกับการมาถึงของคณะทูตจีนโดยจู ต้ากวน ใน ค.ศ.1296

จู ต้ากวน ระบุถึงสิ่งที่คณะได้นำ “บรรณาการ” ไปถวายในจำนวนนั้นมีวัตถุบางอย่างอาทิ “สารปรอท กำมะถัน ตลอดจนโลหะเงินและทองที่บรรทุกมาจากเมืองจีน” (Pelliot : 1951)

อนึ่ง วัสดุอุปกรณ์เครื่องถวายเหล่านี้ คือสิ่งที่ใช้ในกระบวนวิธี “เล่นแร่แปรธาตุ” เพื่อ “ความเป็นอมตะนิรันดร์และเหนือกฎธรรมชาติ” นั่นเอง

 

โดยกล่าวว่า ภายในราชธานีเมืองพระนคร ซึ่งระดะระดาไปด้วย “สังฆสถาน” อันเป็นที่แน่ชัดว่า บรรดาชาวราชสำนักแห่งเมืองพระนครนี้จะต้องอาศัยและใช้อาศรม “ไสยวิท” (Shaivite) หรือสำนักเหล่านี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมโดยมีสิทธะ (Siddha) โยคีผู้ประกอบการเล่นแร่แปรธาตุ ผ่านทาง “ภาสุภัตตะ” (Pasupata) ผู้เป็นเสมือนตัวแทนในการประกอบพิธีอีกชั้นหนึ่ง

เกี่ยวกับตัวตนและการมีอยู่จริงของเหล่าโยคิน หรือโยคีสมัยนครธมนี้ มีปรากฏในจารึก ซึ่งทำให้เชื่อว่ามีการใช้ “สารปรอท” อย่างกว้างขวางทั้งทางการแพทย์และเพื่อศาสตร์อื่นๆ

ดังที่ปรากฏว่า เกี่ยวกับสารโลหะต่างๆ สมัยนครธม มีให้เห็นถึงวิทยาการทางเทคโนโลยีขั้นสูงของยุคสมัยนั้น อาทิ การใช้ทองแดง สัมฤทธิ์และโลหะผสมอื่นๆ เช่น สารปรอท ตามโกรสลิเยร์ นักโบราณคดีรุ่นบุกเบิกเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1921

ยืนยันว่า แร่สารปรอทนี้เป็นที่แพร่หลายในราชสำนักขอมมาแต่ยุคนั้น แม้จะไม่พบ “กระบวนวิธี” การแปรธาตุสารเพื่อนำไปใช้ในการรักษาอย่างเป็นหลักฐานก็ตาม

กระนั้น ผ่านไปกว่าหลังการล่มสลายของนครธมไปแล้วในหลายศตวรรษต่อมา พบว่า บรรดานิทานปรัมปราและมุขปาถะต่างๆ ของกัมพูชายังมีการกล่าวถึง “กระบวนเล่นแร่แปรธาตุโลหะ” หรือสารปรอท ที่พบอยู่ในคัมภีร์ใบลาน (ศาสตรา) และอื่นๆ

เหล่านี้ มีส่วนให้เชื่อว่า การประสมและแปรธาตุ “ปารต” หรือ “ปรอท” นี้น่าจะมีวิวัฒนาการมาแต่สมัยดังกล่าว รวมทั้งการแปรสภาพของสารโลหะผสมชนิดนี้ ที่สามารถระเหิดไปในอากาศ และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งทางการแพทย์และพิธีกรรมทางศาสนา

จึงไม่เพียงแต่ใช้สารปรอทในวัดวาอาศรมและพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับพิธีบูชาเท่านั้น หากแต่เชื่อว่ามีการพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาโรคบางชนิด รวมทั้งนำไปใช้เพื่อการผลิตโลหะสัมฤทธิ์อีกด้วย

ที่นี้ จากบันทึกของเฌ็ม เคียด ฤทธี ระบุถึงการนำผง “เธียด/ธาตุ” หรือสารชนิดหนึ่งไปจุดเพื่อให้เกิดการระเหย อันถือเป็นหนึ่งในกระบวนเล่นแร่แปรธาตุ ทั้งแบบวิทยาศาสตร์ โบราณวิทยาและประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมาก ในสมัยพระบาทชัยวรมันที่ 7

กล่าวคือ เป็นสารหลักที่โยคีใช้ประกอบพิธีกรรม ไม่ต่างจากการจุดผงชาดกำยาน 1 ในเครื่องเซ่นบูชา 8 ชนิด ที่ใช้สักการะต่อพระไภษัชยคุรุตามความเชื่อแต่โบราณ

ที่ไม่เพียงแต่ถูกใช้ไปในพิธีกรรมบูชาเท่านั้น ในสมัยนครธม แต่ด้วยคุณสมบัติที่สามารถ “ระ-สา-ยะ-นะ” หรือระเหิดได้นี้เอง ที่ทำให้เชื่อว่า “ปารต” คือสารสำคัญในการนำไปผสม และเปลี่ยนแปรสภาพธาตุ/สารอื่นๆ ที่เชื่อว่าเป็นวิทยาการที่ก้าวหน้า

โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการกระบวนแปรธาตุเป็นโอสถอายุวัฒนะ จากความเชื่อที่ว่า เป็นองค์ประกอบสำคัญของแร่สารที่นำไปใช้ทางการแพทย์ ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการเสื่อมสลาย

และความเชื่อว่าด้วยอมตะนิรันดร์อันเหนือกฎธรรมชาติในสมัยชัยวรมันที่ 7