คนมองหนัง | 50 ปี “Scooby-Doo” จาก “แน็ก ชาลี” ถึง “Once Upon a Time… in Hollywood”

คนมองหนัง

“แน็ก-ชาลี ปอทเจส (ไตรรัตน์)” อดีตดาราเด็กจากหนังดัง “แฟนฉัน” เมื่อ 16 ปีก่อน กลับมาโด่งดังอีกครั้ง จากสถานะหนุ่มเซอร์ ผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยคำพูดคำจาที่ทั้งชวนงุนงง ตลก ตรงไปตรงมา ห่ามๆ ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง

พร้อมกันนี้ ผลงานเพลง “สคูบี้ดู” ของเขา ซึ่งผสมผสานท่วงทำนองดนตรีไพเราะติดหูเข้ากับคำร้องที่ฟังไม่เป็นภาษาคน แต่ละม้ายคล้ายเสียงสุนัขครางหอนก็ได้รับความนิยมจนน่าทึ่ง หากพิจารณาจากยอดชมคลิปมิวสิกวิดีโอดิบๆ ถ่ายทำง่ายๆ ที่ทะลุหลักหลายล้านวิวไปแล้ว

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเพลงฮิตอันบ้าบอและแปลกประหลาดของ “แน็ก ชาลี” นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าตัวการ์ตูนสุนัข “สกูบี้-ดู”

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เว็บไซต์ The Conversation ได้เผยแพร่บทความหัวข้อ “ความเชื่อมโยงอันแปลกประหลาดระหว่างมรณกรรมของบ๊อบบี้ เคนเนดี้ กับสกูบี้-ดู” ที่เขียนโดย “เควิน แซนด์เลอร์” รองศาสตราจารย์สาขาภาพยนตร์และสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตต เมื่อวันที่ 10 กันยายน

แซนด์เลอร์เขียนบทความชิ้นนี้ ในวาระที่ “Scooby-Doo” หรือ “สกูบี้-ดู” ตัวการ์ตูนที่เป็นอมตะที่สุดรายหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดจากอุตสาหกรรมโทรทัศน์สหรัฐ มีอายุครบรอบ 50 ปีในวันที่ 13 กันยายน

“สกูบี้-ดู” เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ “ฮันน่า-บาร์เบร่า โปรดักชั่นส์” ซึ่งถูกผลิตขึ้นเพื่อออกอากาศในโปรแกรมช่วงเช้าวันเสาร์ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส

ซีรี่ส์แรกสุดของตัวการ์ตูนสุนัขรายนี้คือ “Scooby-Doo, Where are You!” เริ่มแพร่ภาพทางทีวีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1969 โดยเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครวัยรุ่นสี่รายที่มีหน้าที่คลี่คลายเงื่อนปมลึกลับต่างๆ พร้อมสุนัขพันธุ์เกรทเดนชื่อ “สกูบี้-ดู”

คนส่วนใหญ่อาจจดจำได้เพียงความน่ารัก-ตลก-สนุกสนานของการ์ตูนตัวนี้/เรื่องนี้ แต่แซนด์เลอร์เสนอว่า แท้จริงแล้วซีรี่ส์การ์ตูนชุดนี้มิได้มีบ่อเกิดมาจากสถานการณ์เปี่ยมสุขใดๆ หากถือกำเนิดขึ้นในฐานะการเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบโต้ต่อความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและภาวะปั่นป่วนฉุกเฉินทางการเมืองเมื่อปลายทศวรรษ 1960

พูดให้ชัดกว่านั้นคือ การสร้างสรรค์เจ้า “สกูบี้-ดู” มีความข้องเกี่ยวกับระลอกความชุลมุนวุ่นวายทางสังคมและการสังหารนักการเมืองคนสำคัญในปี 1968

ย้อนกลับไปสู่ทศวรรษ 1960 ภาพยนตร์การ์ตูนที่ได้รับความนิยมในจอโทรทัศน์อเมริกัน มักมีเนื้อหาเวียนวนอยู่กับหน่วยสืบราชการลับ การท่องอวกาศ และเหล่าซูเปอร์ฮีโร่

ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1966 สามเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐคือ ซีบีเอส, เอบีซี และเอ็นบีซี ต่างพร้อมใจกันออกอากาศซีรี่ส์การ์ตูนแนวต่อสู้-ผจญภัยในช่วงเช้าวันเสาร์มากมายถึง 9 เรื่อง

ซีรี่ส์การ์ตูนเหล่านั้นเต็มไปด้วยฉากต่อสู้ชนิดไม่หยุดหย่อน และมักจบลงด้วยความรุนแรง เมื่อฮีโร่ของเรื่องทำการปราบปรามหรือสังหารเหล่าร้าย

“ฮันน่า-บาร์เบร่าฯ” คือสตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแนวนี้ที่โด่งดังหลายๆ เรื่อง ระหว่างปี 1966-1968

ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะถูกที่ถูกทางไปหมด เมื่อการ์ตูนเช้าวันเสาร์ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงขึ้น เขย่าขวัญยิ่งขึ้น นำไปสู่เรตติ้งความนิยมที่พุ่งสูงขึ้น

ดังที่ “โจ บาร์เบร่า” ผู้บริหารของ “ฮันน่า-บาร์เบร่าฯ” เคยอธิบายเอาไว้ว่า สตูดิโอของตนเองไม่ได้มีทางเลือกในการผลิตงานมากนัก เพราะการ์ตูนแนวต่อสู้-ผจญภัยเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ต้องการ ดังนั้น ถ้าอยากอยู่รอดทางธุรกิจ ทุกสตูดิโอก็จำเป็นจะต้องผลิตซีรี่ส์การ์ตูนแบบนี้

ด้านหนึ่ง มีผู้วิจารณ์ว่านับแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ภาครัฐและสาธารณชนอเมริกันนั้นเข้าไปกดดันหรือควบคุมเนื้อหาของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กน้อยลง บรรดาสถานีโทรทัศน์จึงได้โอกาสกอบโกยกำไรทางธุรกิจให้ตนเองและบรรดาผู้ลงโฆษณา

สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้รายการเด็กในจอทีวีเต็มไปด้วยความรุนแรง มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และไร้ซึ่งความหลากหลาย

ปริมาณทะลักล้นของซีรี่ส์การ์ตูนแนวต่อสู้-ผจญภัย กลายเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกวิพากษ์อย่างหนัก พร้อมๆ กับที่มีภาคประชาสังคมบางองค์กรนิยามว่าช่วงเวลาดังกล่าว คือยุคเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์อเมริกัน

ความวิตกกังวลทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความรุนแรงในสื่อที่อาจส่งผลกระทบต่อเยาวชน กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงมากขึ้นในช่วงต้นปี 1968

คู่ขนานไปกับการรายงานข่าวสงครามเวียดนามในจอโทรทัศน์, การรวมกลุ่มประท้วงของนักศึกษา รวมถึงการก่อจลาจลภายหลัง “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” ถูกลอบสังหาร

โทรทัศน์กลายเป็นสื่อซึ่งฉายภาพให้เห็นถึงภาวะอนาธิปไตยที่ (อาจ) เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน

แต่ซีรี่ส์การ์ตูนแนวต่อสู้-ผจญภัยที่ปักหลักในโปรแกรมช่วงเช้าวันเสาร์ของสถานีโทรทัศน์เจ้าใหญ่มาร่วมทศวรรษ กลับได้รับ “ก้อนอิฐ” อย่างหนักหน่วงจริงจัง เมื่อ “โรเบิร์ต (บ๊อบบี้) เอฟ. เคนเนดี้” ถูกลอบสังหาร

นอกจากจะเป็นสมาชิกในตระกูลการเมืองใหญ่ของประเทศ “บ๊อบบี้” ยังเป็นพ่อของลูกๆ จำนวน 11 คน เขาดำเนินโครงการช่วยเหลือเยาวชนที่ยากจน และในฐานะอัยการสูงสุด เขาเข้าไปทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลาง เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

หลังการเสียชีวิตของ “บ๊อบบี้ เคนเนดี้” ประธานาธิบดี “ลินดอน บี. จอห์นสัน” ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแสวงหาสาเหตุและวิธีการป้องกันความรุนแรง แต่สาธารณชนต้องรอจนถึงปลายปี 1969 คณะกรรมาธิการชุดนั้นจึงจะเผยแพร่รายงานผลการศึกษาออกมา

ท่ามกลางการรอคอยและอาการ “ตื่นตระหนกทางศีลธรรม” ที่แผ่ปกคลุมสังคมอเมริกัน แนวทางการควบคุมกันเองระหว่างสมาชิกในสังคมและการเฝ้าระวังความรุนแรงในสื่อ จึงค่อยๆ ทวีความเข้มข้นเข้มแข็งขึ้น

ภาคประชาชนสังคมหลายกลุ่มออกมาโจมตีความรุนแรงที่ปรากฏในซีรี่ส์การ์ตูนช่วงเช้าวันเสาร์

มาตรการการกดดันทางสังคมที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บีบให้เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ต้องหันเหนโยบาย จากการมุ่งผลิตการ์ตูนแนวต่อสู้-ผจญภัยในรูปแบบนิยายวิทยาศาสตร์ มาสู่การสร้างการ์ตูนแนวตลกขบขัน

ด้วยเหตุนี้ ตัวการ์ตูนเอกที่ทั้งนุ่มนวลและอ่อนโยนอย่าง “สกูบี้-ดู” จึงอุบัติขึ้นในจอทีวี

แม้ซีรี่ส์ “Scooby-Doo, Where are You!” ที่เริ่มเผยแพร่ในปี 1969 จะยังมีส่วนผสมของเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้และการผจญภัย แต่เหล่าตัวละครนำก็ไม่เคยเผชิญหน้าหรือต้องสุ่มเสี่ยงกับภยันตรายจริงจังใดๆ การ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ที่คอยพิทักษ์โลกจากมนุษย์ต่างดาวและปีศาจ

ตรงกันข้าม นี่คือการ์ตูนที่นำเสนอเรื่องราวของแก๊งเด็กเนิร์ดเซ่อๆ และสุนัขคู่ใจ ซึ่งต้องช่วยกันคลี่คลายปริศนาอันเกิดจากมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ปลอมแปลงตนเป็นปีศาจ

จะว่าไปแล้ว “สกูบี้-ดู” ก็มีความเกี่ยวพันกับ “Once Upon a Time… in Hollywood” ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “เควนติน ทาแรนติโน” ยอดผู้กำกับฯ อเมริกันร่วมสมัยอย่างแยกไม่ออก

หนังเรื่องหลังวางโครงสร้างอยู่บนการ “ปลอมแปลง” ประวัติศาสตร์กรณีฆาตกรรมนักแสดง/นางแบบสาว “ชารอน เทต” ผู้เป็นภรรยาของ “โรมัน โปลันสกี” ผู้กำกับฯ ชื่อดัง จากน้ำมือสมาชิกลัทธิ “ครอบครัวแมนสัน” ซึ่งก่อตั้งโดย “ชาร์ลส์ แมนสัน”

หลายคนอาจมองว่า ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของทาแรนติโนพูดถึงความตกต่ำของดารา (สมมุติ) ผู้หนึ่ง

บางคนตีความว่า นี่เป็นภาพยนตร์ของคนรัก/ทำหนังที่โหยหารำลึกถึงยุครุ่งเรืองห้วงสุดท้ายของฮอลลีวู้ด

แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ประเด็นหลักอีกข้อหนึ่งที่หนังกล่าวถึง คือการสร้างภาพความรุนแรงโดยสื่อโทรทัศน์ในทศวรรษ 1960 ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มฆาตกรฮิปปี้โรคจิตผู้บ้าคลั่งลัทธิประหลาด พยายามลงมือสังหารดาราทีวีตกอับรายหนึ่งในโลกความจริง (เสมือน)

ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะใช้อำนาจและมนตราแห่งภาพยนตร์ตอบโต้ฆาตกรเหล่านั้น ผ่านการผลิตซ้ำความรุนแรงในขั้นที่สาม

“Once Upon a Time… in Hollywood” มีตัวละครสมทบตัวหนึ่งเป็นเจ้าสุนัขพิตบูลชื่อ “แบรนดี้” มันคือสัตว์เลี้ยงเพื่อนยากของสตันต์แมนผู้กำลังจะตกงานชื่อ “คลิฟฟ์ บูธ” (รับบทโดย “แบรด พิตต์”)

“แบรนดี้” มีชีวิตอยู่ในปี 1969 มันจึงเป็นเพื่อนสุนัขรุ่นราวคราวเดียวกับ “สกูบี้-ดู” อย่างไม่ต้องสงสัย แถมยังมีนิสัยแสนรู้-สร้างความตลกขบขันได้เหมือนๆ กัน

ที่สำคัญ ทั้งคู่ล้วนถือกำเนิดขึ้นในบริบทอันทับซ้อนระหว่างความบันเทิงกับความรุนแรงคล้ายคลึงกัน

ต่างกันตรงที่ สุดท้ายแล้ว “แบรนดี้” ได้กลายเป็นหมาขาโหดหรือส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำความรุนแรงในภาพยนตร์ ขณะที่ “สกูบี้-ดู” คือผลลัพธ์ของความพยายามที่จะหลีกหนีหลุดพ้นออกมาจากวงจรดังกล่าว

ผู้สนใจสามารถอ่านบทความ “The strange connection between Bobby Kennedy”s death and Scooby-Doo” โดย “เควิน แซนด์เลอร์” ได้ที่ https://theconversation.com/the-strange-connection-between-bobby-kennedys-death-and-scooby-doo-119264