ต่างประเทศ : การโจมตีแหล่งน้ำมันซาอุฯ ชนวนสงครามตะวันออกกลาง?

เวลาราว 03.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นซาอุดีอาระเบียของวันที่ 14 กันยายน ในพื้นที่ตะวันออกของซาอุดีอาระเบียเกิดเสียงระเบิดดังสนั่น ที่บ่อน้ำมันดิบคูราอิส

ก่อนที่อีก 10 นาทีต่อมาโรงงานแปรรูปน้ำมันอับคออิคที่อยู่ไม่ห่างกันนักจะเกิดระเบิดขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิดไฟลุกท่วมพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า

เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะสามารถควบคุมเพลิงให้สงบลงได้

เหตุระเบิดสองครั้งซ้อนที่บ่อน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทอารัมโก บริษัทน้ำมันของทางการซาอุฯ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงริยาดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 165 กิโลเมตร

ในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับกำลังผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียมากถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หรือคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตน้ำมันปริมาณ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันของซาอุดีอาระเบีย

เหตุการณ์นี้ทำให้ซาอุดีอาระเบียสูญเสียกำลังผลิตน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตน้ำมันในตลาดโลก

 

กลุ่มกบฏฮูธี กลุ่มกบฏพันธมิตรกับอิหร่าน ที่ทำสงครามกลางเมืองกับกลุ่มพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบีย ในสมรภูมิประเทศเยเมน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี

กลุ่มกบฏฮูธีเปิดเผยว่า โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันซาอุฯ ด้วย “โดรน” หรืออากาศยานไร้คนขับจำนวน 10 ลำ

สอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยืนยันว่ากลุ่มกบฏฮูธีมีความก้าวหน้าทางการทหารมากขึ้น

สามารถใช้โดรนโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ถึง 1,500 กิโลเมตรแล้วในเวลานี้ ขณะที่จุดเกิดเหตุล่าสุดนี้อยู่ห่างจากฐานที่มั่นของกบฏฮูธีในเยเมนราว 1,000 กิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับรายงานข่าวก่อนหน้าที่ระบุว่ากลุ่มกบฏฮูธีใช้โดรนประสิทธิภาพสูงโจมตีเข้าใส่สนามบินพลเรือนในซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึงเมืองอาบูดาบีและดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หลายครั้ง

แต่ครั้งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นการโจมตีที่สร้างความเสียหายหนักเท่ากับการโจมตีครั้งล่าสุด

 

ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพันธมิตรของซาอุดีอาระเบีย เชื่อว่าอิหร่านนั้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏฮูธีทางด้านการทหารโดยเฉพาะโดรนประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในการโจมตี ข้อกล่าวหาซึ่งอิหร่านและกลุ่มกบฏฮูธีเองก็ปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐเองระบุว่ายังไม่มีหลักฐานว่าการโจมตีดังกล่าวมีต้นตอมาจากประเทศเยเมน แต่กลับพุ่งเป้ากล่าวหาไปที่อิหร่าน ว่าเป็นความพยายามตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

โดยสหรัฐมีการเผยแพร่ภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงให้เห็นความเสียหายของตัวอาคารที่โรงงานแปรรูปน้ำมันซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งชี้ประเด็นว่าทิศทางของการโจมตีนั้นมาจากอิหร่านและอิรัก ไม่ได้มาจากเยเมนที่อยู่ทางทิศใต้แต่อย่างใด

การโจมตีดังกล่าวส่งผลกระทบใหญ่หลวงโดยเฉพาะกับซาอุดีอาระเบียเองที่พึ่งพารายได้ของประเทศส่วนใหญ่จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่บริษัทอารัมโก เจ้าของแหล่งแปรรูปน้ำมันที่ถูกโจมตี เตรียมจะเปิดขายหุ้นสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ ในเร็วๆ นี้

และแน่นอนว่า การเปิดไอพีโอครั้งนี้คงต้องเลื่อนออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นบริษัทน้ำมัน ระบุว่า การโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มักได้รับการรักษาความปลอดภัยระดับสูงครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าในอนาคตโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั่วโลกอาจตกเป็นเป้าจากการโจมตีมากยิ่งขึ้น

สำหรับกลุ่มกบฏฮูธีนั้นเป็นเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่าน เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคระหว่างซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน โดยทั้งสองประเทศปะทะกันผ่านสงครามตัวแทนในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในซีเรีย เลบานอน รวมไปถึงในเยเมน

เหตุโจมตีครั้งใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาน้ำมัน ล่าสุดราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนต์พุ่งขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไปอยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในครั้งเดียวนับตั้งแต่มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในช่วงทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศนำน้ำมันสำรองมาใช้เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปในตลาดโลก

 

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นอีกหากซาอุดีอาระเบียไม่สามารถฟื้นคืนกำลังผลิตน้ำมันให้อยู่ในระดับเดิมได้ รวมไปถึงหากเกิดการเผชิญหน้าทางการทหารขึ้นในภูมิภาค

ซึ่งแน่นอนว่าหากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในอีกแง่หนึ่ง การโจมตีซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้อาจเป็นชนวนให้เกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางขึ้นได้ เมื่อทรัมป์ส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมที่จะตอบโต้ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว เป็นการบอกใบ้ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สหรัฐอาจใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลในการบุกโจมตีอิหร่านได้ในอนาคต

และนั่นอาจเป็นชนวนรอบใหม่ให้เกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางขึ้นอีกครั้ง