การศึกษา / เช็กกระแส กยศ. ปล่อยกู้ ‘เด็กอัจฉริยะ’

การศึกษา

 

เช็กกระแส กยศ.

ปล่อยกู้ ‘เด็กอัจฉริยะ’

 

ประเด็นติดตามทวงหนี้ผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นประเด็นที่สร้างความหนักใจให้แก่ผู้บริหาร กยศ.มาโดยตลอด จนต้องขุดมาตรการหนักและเบามาจัดการ ทั้งการฟ้องร้อง การร่วมมือกับองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนหักเงินเดือนโดยนำร่องกับหน่วยงานรัฐแล้ว หรือมาตรการเบาๆ อย่างลดเบี้ยปรับ พักชำระหนี้ เป็นต้น

ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีว่าปีนี้ยอดการชำระหนี้น่าจะสูงถึง 30,000 ล้านบาท

จนเป็นที่มาที่ทำให้ กยศ.ประกาศที่จะปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาได้โดยไม่กำหนดโควต้า

ต่างจากเดิมที่จะต้องมาคำนวณว่าสามารถปล่อยกู้ให้ผู้กู้รายใหม่ได้เท่าไหร่

โดย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ.เผยว่า ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป กยศ.จะสามารถปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาได้ตามความต้องการ แบบไม่กำหนดโควต้า

เนื่องจาก กยศ.สามารถติดตามทวงหนี้ได้มากขึ้น

คาดว่าในปี 2562 นี้จะมีเงินรับชำระหนี้สูงถึง 30,000 ล้านบาท สูงที่สุดเท่าที่เคยเก็บหนี้มา

เมื่อ 10 ปีก่อนเงินชำระหนี้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปี 2561 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท

การเก็บหนี้มากขึ้นทำให้รัฐบาลไม่ต้องจัดสรรงบประมาณให้ กยศ.เพื่อนำมาปล่อยกู้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

ผลจากการตื่นตัวชำระหนี้ ประกอบกับการหักชำระหนี้ผ่านเงินเดือน ส่งผลให้การชำระหนี้สูงขึ้น คาดว่าปีนี้จะสามารถปล่อยกู้ได้ถึง 600,000 คน จากปีที่ผ่านมาปล่อยกู้ได้ 500,000 คน

แบ่งเป็น ลูกหนี้รายใหม่ประมาณ 200,000 คน รายเก่าประมาณ 300,000 คน

โดยล่าสุด หักเงินเดือนชำระหนี้ไปแล้ว 400,000 คน ปีหน้าหักเพิ่มเป็น 700,000 คน

คาดว่าในปี 2564 เมื่อหักเงินเดือนครบ 1.2 ล้านคน จะทำให้เงินชำระหนี้จากการหักเงินเดือนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท หรือปีละ 12,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ กยศ.ปล่อยกู้ไปแล้ว 5.6 ล้านราย ในจำนวนนี้อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3.51 ล้านราย คิดเป็น 63% ของการปล่อยกู้ไปทั้งหมด

ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1.05 ล้านราย คิดเป็น 19%

อยู่ในระหว่างการปลอดหนี้ (ยังศึกษาไม่จบ) 976,000 ราย คิดเป็น 17% และเสียชีวิต ทุพพลภาพ 56,700 ราย หรือคิดเป็น 1%

ในจำนวนลูกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ทั้ง 3.51 ล้านรายนั้น เป็นลูกหนี้ผิดนัด 58% และลูกหนี้ที่ชำระหนี้ปกติ 42%

ปัจจุบัน กยศ.ได้ฟ้องดำเนินคดีผู้กู้ไปแล้ว 1.7 ล้านคดี เฉพาะปีนี้ฟ้องไปแล้วราว 100,000 ราย

 

นอกจากนั้น กยศ.ยังสร้างความฮือฮาด้วยการเตรียมวางหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้แก่เด็กเก่งอัจฉริยะประเภท Born to be หรือ Gifted ซึ่ง กยศ.เชื่อว่ามีเด็กเก่งอัจฉริยะอยู่มากมายและกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เคยศึกษาพบว่ามีเด็กอัจฉริยะอยู่ราว 1-3% ของประเทศ

กยศ.จะส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้สามารถใช้ความเป็นเลิศของตนเองให้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในอนาคตคนเหล่านี้อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งของประเทศ และมีส่วนในการช่วยประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้

โดยปัจจุบันหลักเกณฑ์การให้กู้เพื่อการศึกษา กำหนดว่าต้องเป็นเด็กที่ขาดแคลน คือมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี/ครอบครัว

ส่วนกรณีที่กู้เพื่อไปศึกษาในสาขาวิชาที่ประเทศต้องการ เช่น วิศวะ แพทย์ เป็นต้น จะไม่จำกัดในเรื่องรายได้ของครอบครัว เนื่องจากเป็นสาขาที่ประเทศต้องการ

นอกจากนี้ กยศ.จะขยายสาขาวิชาที่สามารถกู้ได้โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องรายได้ของครอบครัว คือ สาขาวิชาที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติ เช่น ดนตรีไทย นาฏศิลป์ วรรณคดี และประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ด้าน นายเสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะรองเลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ระบุว่า โดยหลักการเห็นด้วยที่จะส่งเสริมและให้โอกาสเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือเด็ก Gifted และให้โอกาสเด็กที่เรียนในสาขาขาดแคลน เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการหารือและสะท้อนปัญหาการกู้ยืมเงิน กยศ. พบว่าการกำหนดเพดานรายได้ครอบครัวอยู่ที่ 200,000 บาท ต่อไปอาจจะต่ำเกินไปในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

เพราะบางครอบครัวอาจมีรายได้ต่อปีเกินกว่าเพดานที่กำหนด แต่มีลูกมาก

ดังนั้น หากขยายฐานรายได้ครอบครัว ก็จะสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนได้มากขึ้น

 

ขณะที่ นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) ระบุว่า ในการช่วยเหลือ ควรให้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

ส่วนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือเด็ก Gifted หากเป็นเด็กพิเศษที่ขาดโอกาส ก็ควรได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

ซึ่ง กยศ.เป็นหนึ่งในกองทุนที่ให้โอกาสทางการศึกษา

ขณะเดียวกันกับเด็กกลุ่มนี้ ก็ควรมีมาตรการในการส่งเสริมในช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะอนาคตจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

   นายพรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ระบุว่า เห็นด้วยกับหลักการนี้ เพราะถือเป็นการช่วยให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา กยศ.ค่อนข้างทำงานดีอยู่แล้ว เช่น ประสานนายจ้างภาครัฐและเอกชนหักเงินเดือนจากรายได้ของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของ กยศ.ไปให้ กยศ.โดยตรง ซึ่งขณะนี้เริ่มนำร่องในภาคเอกชนแล้ว ดังนั้น ถือเป็นหน่วยงานที่สร้างโอกาสทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มองว่า การปล่อยกู้ให้กับเด็กเก่ง โดยไม่จำกัดเรื่องรายได้ของครอบครัวนั้น ถูกต้องตามหลักการที่ กยศ.กำหนดไว้หรือไม่

หากถูกต้องตามหลักเกณฑ์และจุดประสงค์ของ กยศ. ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาอนาคตของประเทศ

 

น่าสงสัยว่าการปล่อยกู้ให้แก่เด็กเก่งอัจฉริยะนั้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แท้จริงของกองทุนหรือไม่

ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้โอกาสเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ขณะที่ปัจจุบันยังมีเด็กยากจนที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาจนต้องหลุดจากระบบจำนวนหลายแสนคน

โดยเฉพาะกลุ่มที่ครอบครัวมีรายได้เกิน 200,000 บาทต่อปี

แต่มีลูกหลายคนทำให้ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ กยศ.ได้ส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้เต็มที่หรือยัง ควรขยับเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มนี้หรือไม่

ส่วนเด็กอัจฉริยะที่คาดว่าจะมี 1-3% ของประเทศนั้น ปัจจุบันมีทุนจากหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนอยู่แล้ว

อาทิ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นต้น ที่สนับสนุนจนถึงระดับปริญญาเอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

กยศ.จึงควรทำภารกิจเดิมให้สมบูรณ์ก่อนที่จะขยายบทบาทหน้าที่หรือไม่