โลกร้อนเพราะมือเรา : “คาร์บอนลอว์” กฎฟื้นโลก

คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน [email protected]

“ผู้คนบนโลกใบนี้จำนวน 92 เปอร์เซ็นต์มีชีวิตอยู่ในท่ามกลางมลพิษทางอากาศเกินระดับปลอดภัย

อย่างน้อย 1,800 ล้านคน ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด

ปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึก ร้อนกว่าช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก 1.2 องศาเซลเซียส หมายความว่า มหาสมุทรและป่าไม้เสื่อมโทรมลง

นี่เป็นตัวเลขแสดงถึงความเลวร้ายของสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และทุกๆ เดือน ดูเหมือนว่ามีตัวเลขใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา”

รอส เชนนี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิตอลของเวทีประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เกริ่นในบทความที่ชื่อว่า เราจะหลีกเลี่ยงมหันตภัยโลกร้อนได้อย่างไร?

“เชนนี่” ไปค้นหาคำตอบจาก “อัล กอร์” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นนักรณรงค์ต้านโลกร้อนคนดังและบุคคลสำคัญๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อัล กอร์ บอกว่า ห้วงเวลานี้ ทุกคนต้องเร่งแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อนเพราะในชั้นบรรยากาศโลกเป็นเหมือนถังขยะใบใหญ่ที่ชาวโลกต่างโยนมลพิษใส่เข้าไปวันละ 110 ล้านตัน

“เรากำลังเข้าสู่ห้วงวิกฤตในหลายๆ ด้านที่ไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้อีก ฉะนั้น การปล่อยก๊าซพิษในปริมาณต่ำๆ แล้วหันมาทำธุรกิจใหม่ๆ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน คือทางหลีกเลี่ยงวิกฤตนี้ได้”

“อัล กอร์” บอกว่า รัฐบาลและชาวโลกเริ่มตระหนักถึงภัยร้าย ปัจจัยหลายๆ อย่างที่เป็นสัญญาณบอกว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เช่น ต้นทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่ำลง การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งแบตเตอรี่และระบบการเก็บพลังงานได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า

หลายประเทศหันมาสู่แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ “a low carbon econ-omy” เน้นควบคุมการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก

มีการพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้นทั่วโลก เทคโนโลยีรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าก้าวหน้าไปมากเช่นกัน แต่ยังต้องลงทุนในการพัฒนาเทคโลยีเหล่านี้ต่อเนื่องเพื่อผลักดันโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจพลังงานสะอาด

ด้าน แคเธอรีน แม็ก เคนนา รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของประเทศแคนาดาบอกกับ “เชนนี่” ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องน่าวิตกมาก ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ก็เป็นเรื่องท้าทายของโลก ประเทศแคนาดาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ปัญหา

“รัฐบาลแคนาดาร่วมกับจังหวัด มณฑล และเทศบาลทุกแห่ง เพื่อวางรากฐานนำไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด เราจะเป็นผู้นำเรื่องนี้ในทุกระดับ”

อีริก โชลไฮม์ หัวหน้าสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้สร้างแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

“เราไม่ได้ขาดแคลนเทคโนโลยีหรือการเงิน แต่ที่เราขาดนั่นคือความมุ่งมั่นทางการเมืองซึ่งรัฐบาลสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ความมุ่งมั่นจะส่งผลไปยังประชาชน เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำให้รัฐบาลและประชาชนพูดเป็นภาษาเดียวกัน เข้าใจกันและมุ่งเป้าในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่าง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับมลพิษในอากาศ ทุกคนเห็น ได้กลิ่นและรู้สึกได้ ถ้าให้ทุกคนลดการปล่อยก๊าซ เป็นหนทางเยียวยาสภาวะแวดล้อม”

“โซลไฮม์” สรุปว่า ความมุ่งมั่นทางการเมืองจะสร้างบรรทัดฐานความยั่งยืน แต่ถ้ารัฐบาลทุกประเทศไม่หยิบยกเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยหารือกัน เราก็ล้มเหลวเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ศาสตราจารย์จิม ลีป แห่งสถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมวู้ดส์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่าเราต้องหาทางผลักดันให้โลกเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน สังคมร่วมกันรับผิดชอบในการควบคุมการปล่อยก๊าซพิษและอนุรักษ์ป่าไม้รวมถึงการดูแลแหล่งน้ำใต้ดิน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หมายถึงการสร้างสรรค์เครื่องมือแนวคิดใหม่เครื่องมือใหม่ด้านการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ อีกทั้งการค้า ผู้ซื้อผู้ขาย ผู้บริโภคได้รับการบริหารจัดการที่ดีขึ้น จะช่วยให้ชาวโลกดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด

โยฮัน ร็อกสตรอม ผู้อำนวยการศูนย์พึ่งพิงแห่งสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2559 เปรียบเหมือนสัญญาณเตือนภัยชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถิติอุณหภูมิที่สูงพุ่งพรวด เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคม ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วแต่อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเพิ่มสูงจนน่าตกใจ แผ่นน้ำแข็งละลาย

ร็อกสตรอมชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2513 เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วชนิดก้าวกระโดดเป็นไปตามกฎของมัวร์ (Moore”s Law)

กฎของมัวร์ คือคำทำนายของ กอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล ผลิตแผงวงจรไฟฟ้าหรือไอซีในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บอกว่า ทุกๆ ช่วงเวลาหนึ่งไอซีจะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงมากเป็นสองเท่า

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โลกจะถูกผลักเข้าสู่กฎว่าด้วย “คาร์บอน” (Carbon Law)

ในทุกภาคส่วนและทุกประเทศจะต้องหั่นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปครึ่งหนึ่งในทุกๆ สิบปีจนกระทั่งเหลือศูนย์ในปี 2593

เวลานี้ ชาวโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 40 กิ๊กกะตัน หรือจีทีซี (GTC : Gigationes of carbon dioxide) ถ้าใช้กฎว่าด้วยคาร์บอน จะต้องลดก๊าซพิษให้เหลือ 20 จีทีซี ปี 2573 หั่นอีกครึ่งเหลือ 10 จีทีซี

หาก “คาร์บอน ลอว์” ใช้ได้ผล หมายความว่า กระบวนการผลิตพลังงานโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะเท่ากับศูนย์ในต้นๆ ทศวรรษ 2030 ถัดไปอีกสิบปี ชาวโลกเลิกใช้น้ำมัน

ร็อกสตรอม ให้ข้อสรุปว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่โดยใช้กฎคาร์บอน ไม่เพียงทำให้โลกใบนี้ได้รับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพเท่านั้น หากเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน