ลึกแต่ไม่ลับ : จับอาการ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่คิดยิงแฮตทริก อยู่ยาว 8 ปี?

จรัญ พงษ์จีน

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ” พระราชทานคืนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม ก้าวต่อไปเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ” หรือ “11 อรหันต์ ” ประกอบด้วย

1. “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน 2. “นายอภิชาติ สุขัคคานนท์” รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 3. “นายอัชพร จารุจินดา” 4. “นายนรชิต สิงหเสนี” กรธ.

5. “นายพรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภา สนช. 6. “นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

7. “นายอำพน กิตติอำพน” อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 8. “นายวีระพล ตั้งสุวรรณ” ประธานศาลฎีกา 9. “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” อัยการสูงสุด 10. “นายดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 11. “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี

เป็น 11 กูรูด้านกฎหมายเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย ที่จะมาแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ยกร่างเฉพาะมาตรา 2.ตรวจสอบให้เป็นไปตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน”

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ประเด็น” ที่จะมีการแก้ไข มีทั้งหมด 4 มาตรา เป็นไปตามร่างที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอมา ขอปรับปรุงถ้อยคำในมาตรา 3 ให้เกิดความชัดเจน

จากเดิมระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

เป็น “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

และเพื่อให้เกิดความชัดเจน ปฏิบัติได้จริง จะเพิ่มถ้อยคำในมาตรา 4 จากเดิมระบุว่า

“ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน”

เป็น “ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติตามข้อสังเกตพระราชทานและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันได้”

ตามคิวการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ จะเริ่มต้นนับหนึ่งทันทีพลันที่พระราชทานคืนร่างฯ คือมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม โดยจะครบกำหนดตามกรอบเวลา 30 วัน ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

ขั้นตอนต่อไป ทันทีที่ “คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ” แก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่นายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ครั้งใหม่

ขั้นตอนแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” กรอบเวลา 30 วัน ขั้นตอนทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน นับหนึ่งจากจุดเริ่มต้น 20 มกราคม ไป 120 วันหรือ 4 เดือน เท่ากับวันที่ 17-18 พฤษภาคม โดยประมาณการ

ก้าวถัดไป จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” จำนวน 10 ฉบับ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขกรอบเวลา 240 วันหรือ 8 เดือน

“กฎหมายลูก 4 ฉบับ” ที่ผูกพันกับการเลือกตั้ง ได้แก่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง, พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พ.ร.บ.ที่มา ส.ส. และ พ.ร.บ.ที่มา ส.ว. ทาง “กรธ.” ต้องเร่งคีย์ตีจังหวะให้เสร็จก่อน อาจจะใช้เวลาแค่ 150 วันหรือ 3 เดือน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยกรอบเวลา 90 วัน

ภายใน 60 วันหรือ 2 เดือน หลังจากนั้นสามารถขยับโปรแกรมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งได้

ยกกรอบเวลาของแต่ละคาบช่วงมาตั้ง ขั้นตอนแรก 4 เดือน ขั้นตอนที่ 2 “กฎหมายลูก” ย่นระยะทางจาก 8 เดือนเหลือ 5 เดือน และขั้นตอนทูลเกล้าฯ 90 วันหรือ 3 เดือน บวกด้วยขั้นตอนสุดท้ายคือ ศึกเลือกตั้ง 2 เดือน

4+5+3+2 เท่ากับ 14 เดือน ดังนั้น รวดเร็วที่สุด ราวเมษายน-พฤษภาคม 2561 จะมีเลือกตั้งใหญ่ อีกไม่กี่อึดใจแล้วที่ “คนการเมือง” จะได้หายคลั่ง

ทีนี้ลองมาประเมินสถานการณ์ว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไป” รูปร่างหน้าตาจะออกมาตัวเป็น-เป็นอย่างไร หล่อเหลา หรือขี้ริ้วขี้เหร่ประมาณไหน

เต็งหนึ่ง เต็งจ๋า ไม่ว่าจะวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ ใช่เลย หวยจะออกที่ “คนนอก” ผู้มีนามตามท้องเรื่องว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เวลานี้ถือว่าองคาพยพครบเครื่องที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดคือ ผลโพลจากทุกสำนักที่สำรวจความนิยม “ตัวบุคคล” ปรากฏว่า “บิ๊กตู่” นำลิ่ว ไร้เทียมทานทุกผลสำรวจ

ชั่วโมงนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาทองคำของ “พล.อ.ประยุทธ์”

“แต่” เมื่อจับตาดูอาการของ “บิ๊กตู่” ดูเหมือนจะเบื่อๆ อยากๆ เต็มประดาแด

“พล.อ.ประยุทธ์” นำคณะนายทหารในนามของ “คสช.” ปฏิวัติ ยึดอำนาจโค่นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรลื่นไหล ศึกเลือกตั้งใหญ่จะได้ชิงชัยกันราวเดือนพฤษภาคม 2561 พอดิบพอดี เท่ากับว่า “บิ๊กตู่” อยู่ในตำแหน่ง 4 ปีเต็ม มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เลือกตั้งแล้วเสร็จ กลางปี 2561 “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นเชนคัมแบ็กกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็ปาเข้าไป 8 ปีเต็ม

“อำนาจ” เสพเข้ามากๆ นานๆ ก็เบื่อเป็นเหมือนกัน

สรุปเหตุและผลที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่คิดยิงแฮตทริก เพราะ “เบื่อ”