วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/พิมพ์ดีดกับนักเขียน (2)

วิลเลียม เอส. โบโรส์

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับนักเขียน (2)

 

สําหรับนักพิมพ์ดีด แอร์เมสไม่ใช่ชื่อกระเป๋า แต่เป็นชื่อเครื่องพิมพ์ดีดที่โด่งดังและมีประวัติยาวนาน ผลิตโดย E. Paillard & Company ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคยทำนาฬิกาและมิวสิกบอกซ์มาตั้งแต่เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว แต่หันมาทำพิมพ์ดีดในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต่อมากลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในยุโรป

ที่ผมมีคือ แอร์เมสรุ่นเบบี้ (Hermes Baby) เริ่มผลิตในช่วง พ.ศ.2478 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้จะไม่โด่งดังและเป็นที่นิยมเท่ารุ่นต่อมาคือแอร์เมส 3000 ก็มีประวัติน่าสนใจ

ฟรองซัวส์ ซากาน

เช่น เป็นรุ่นแรกของพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วและมีแป้นอักษรสี่แถว สร้างขึ้นเพื่อเจาะตลาดของพิมพ์ดีดขนาดเล็ก รวมทั้งออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยกีเซปเป้ เพรสสิโอโซ นักออกแบบชาวอิตาลี ผู้ออกแบบพิมพ์ดีดให้บริษัทนี้หลายรุ่น

ทันทีที่ออกมาก็ประสบความสำเร็จมาก เพราะนอกจากจะมีกลไกที่ดีเยี่ยม การมีความสูงเพียง 6 ซ.ม. และหนักเพียง 3.6 ก.ก. แถมยังมีกระเป๋าหรือฝาครอบโลหะที่ทนทาน ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่นักเขียน, คนดัง และนักข่าวมาก แอร์เมสเบบี้มีสมญานามต่างๆ กัน เช่น Hermes Featherweight และ Empire Aristocrat

นอกจากความเล็กและเบาแล้ว ยังออกแบบได้ดีเยี่ยม บางคนว่าเป็น “มินิคูเปอร์” ของพิมพ์ดีด บ้างก็ว่าเหมาะที่จะเรียกว่า “แล็ปท็อปโบราณ” หรือ ancient-laptop เพราะด้านล่างปิดด้วยแผ่นโลหะอย่างมิดชิด ซึ่งเหมาะกับการวางบนตักและกันไม่ให้กระทบกระเทือนในการเดินทางได้ด้วย

โฮจิมินห์

 

นักเขียนนิยาย เช่น ฟรองซัวส์ ซากาน, โจเซฟ บรอดสกี้, จอห์น สไตน์เบค, เฟรเดอริก ฟอร์ไซต์ และวิลเลียม เอส. โบโรส์ ก็เคยใช้แอร์เมสเบบี้

โบโรส์นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาเป็นผู้เขียน The Naked Lunch นิยายเกี่ยวกับนักเขียนและเป็นเรื่องเดียวที่มีพิมพ์ดีดเป็นพระเอก/ผู้ร้าย

สไตน์เบคเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ใช้แอร์เมสเบบี้และเชื่อในพลังของมันมาก ในหนังเรื่อง Viva Zapata! (นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด) ซึ่งเขาเป็นคนเขียนบท พิมพ์ดีดถูกพูดถึงว่าเป็น “the sword of the mind” ปัจจุบันพิมพ์ดีดของสไตน์เบคอยู่ในมิวเซียมของมหาวิทยาลัยซานโฮเซ ในแคลิฟอร์เนีย

และเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว โรเบิร์ต เดอมอตต์ ผู้เขียน Steinbeck’s Typewriter : Essays on his Art ก็เอารูปของเครื่องนี้เป็นหน้าปก

แอร์เมสเบบี้

 

ที่สำคัญ แอร์เมสเบบี้เป็นพิมพ์ดีดของโฮจิมินห์ และมีรูปถ่ายขณะ “ลุงโฮ” กำลังเคาะแป้นอักษรพิมพ์ดีด

เป็นที่รู้กันว่า หนวดเครา เสื้อผ้าและวิถีชีวิต ทำให้เขามีภาพลักษณ์เป็นคนธรรมดา ในรูปนี้ โฮจิมินห์นั่งบนโต๊ะทำงานที่ตั้งอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง สันนิษฐานว่าถ่ายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือยุคที่ยังต่อสู้เพื่อรวมประเทศ

สิ่งที่ทำให้รูปนี้โด่งดังคือความเป็นนักเขียน ว่ากันว่าในวัยหนุ่มขณะที่อยู่ปารีส เขาพกพิมพ์ดีดติดตัวไว้ตลอดเวลา และในช่วงสามสิบกว่าปีที่อยู่นอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน, มอสโก, มาเก๊า, ฮ่องกง, ปักกิ่ง หรือนครพนม ซึ่งแปลว่าเขาเป็นผู้เขียนบทความและแถลงการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง

นักเขียนหนุ่มผู้ใช้นามปากกาว่า เหงวียน อ๊าย โกว๊ก (แปลว่า เหงวียนผู้รักชาติ) พกพิมพ์ดีดไปทุกแห่งเพื่อผลิตบทความ บทกวี และแถลงการณ์ออกมา ทั้งในสมัยเรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศสและอเมริกา รวมทั้งคำประกาศอิสรภาพที่ฮานอย เมื่อ 2 กันยายน พ.ศ.2488 ที่กลายเป็นวันชาติของเวียดนามในปัจจุบัน และเมื่อเป็นผู้นำประเทศแล้วก็ยังมีนิสัยนี้

ผมเคยเห็นรูปนี้ในปุถุชน ฉบับที่ 5 (กรกฎาคม พ.ศ.2518) ซึ่งประกอบกับบทความเกี่ยวกับโฮจิมินห์และเขียนโดยคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ปุถุชนลงรูปนี้ในลักษณะโปสเตอร์ขนาดเล็ก (ราว 18 x 22 ซ.ม.) หน้าลุงโฮนั้นเด่นชัด แต่เครื่องพิมพ์ดีดปรากฏแต่ด้านหลัง ตอนนั้นรู้เพียงว่าเป็นเครื่องที่เล็กมาก แต่ไม่รู้ว่าเป็นแอร์เมสเบบี้

ในวงการนักสะสมพิมพ์ดีด รูปนี้เป็นที่รู้จักมาก เมื่อสองสามปีมานี้ ยังมีคนที่ไปเสาะหาแอร์เมสเบบี้ในฮานอย

เขาบอกว่าพบในพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ซึ่งนอกจากจะมีพิมพ์ดีดแล้ว

พิพิธภัณฑ์ยังทำรูปปั้นขี้ผึ้งลุงโฮนั่งกับโต๊ะและกำลังพิมพ์เอกสาร รวมทั้งบรรจงจัดนิ้วของหุ่นขณะกำลังเคาะแป้นอักษรให้เหมือนกับรูปถ่าย (https://oztypewriter.blogspot.com/2017/11/hanoi-typewriters-or-how-i-popped-in-on.html)