ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ไหว้พระจันทร์ แต่เดิมเป็นพระราชพิธี เฉพาะของโอรสสวรรค์จีน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ก่อนที่เทศกาล “ไหว้พระจันทร์” จะเป็นเรื่องของผู้มีเชื้อสายจีนทั่วๆ ไป เหมือนอย่างทุกวันนี้

แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น การไหว้พระจันทร์เป็นเรื่องเฉพาะในราชสำนัก ที่กษัตริย์เป็นผู้ประกอบพิธีเท่านั้นนะครับ

ส่วนความเชื่อเก่ากึ้กที่ทำให้กษัตริย์จีนต้องไหว้พระจันทร์นั้นก็คือ ชาวจีนโบราณถือว่า กษัตริย์เป็น “โอรสสวรรค์”

ดังนั้น จึงมีฟ้าเป็นพ่อ, ดินเป็นแม่, พระอาทิตย์เป็นพี่ชาย และพระจันทร์เป็นพี่สาว

จึงต้องมีพิธีเซ่นสรวงธรรมชาติประจำฤดูทั้งสี่ ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิบูชาพระอาทิตย์ ฤดูใบไม้ร่วงบูชาพระจันทร์ ฤดูร้อนบูชาพระธรณี (ดิน) ฤดูหนาวบูชาสวรรค์ (ฟ้า)

ในคัมภีร์หลี่จี้ ซึ่งก็คือตำราอธิบายจารีต ที่ว่ากันว่าเซเลบในประวัติศาสตร์จีนระดับขงจื๊อ (เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ระหว่างก่อน พ.ศ.8 ปี-พ.ศ.64) ได้รวบรวมขึ้นนั้น มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

“โอรสสวรรค์เซ่นสรวงพระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ เซ่นสรวงพระจันทร์ฤดูใบไม้ร่วง เซ่นสรวงพระอาทิตย์ตอนกลางวัน เซ่นสรวงพระจันทร์ตอนกลางคืน”

แต่อาหารที่ถูกนำมาใช้ไหว้พระจันทร์นั้นก็คงไม่ได้มีหน้าตาเหมือน “ขนมไหว้พระจันทร์” อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันหรอกนะครับ

เพราะว่าในคัมภีร์ก่วนจื่อ ซึ่งถือเป็นตำราสำคัญในยุคจั้นกว๋อ (มีชื่อแปลเป็นไทยยากๆ ว่า ยุคสงครามรณรัฐ หรือจะที่พงศาวดารจีนในไทยเรียกว่า “ยุคเลียกก๊ก” นั่นเอง)

ปลายราชวงศ์โจวตะวันออก (พ.ศ.68-322) ซึ่งก็คือยุคถัดจากที่ขงจื๊อมีชีวิตลงมาหน่อยนั่นแหละ ได้กล่าวถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์เอาไว้ว่า

“นับจากปักษ์เซี่ยจื้อ (ครีษมายัน, วันที่พระอาทิตย์อยู่ในจุดเหนือสุด ทำให้มีกลางวันยาวที่สุดในรอบปี) ไป 92 วัน เรียกว่าปักษ์ชิวจื้อ (ชิวเฟิน-ศารทวิษุวัต, วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง) ปักษ์นี้ข้าวกล้า (หมายถึง ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า) สุก โอรสสวรรค์นำไปไหว้พระจันทร์”

แปลง่ายๆ ว่า แต่เดิมเมื่อ 2,000 ปีก่อนนั้น ของที่ถูกนำมาใช้ไหว้พระจันทร์คือ “ข้าวเจ้า” หรือไม่ก็ “ข้าวเหนียว” แต่จะเอาข้าวไปแปรรูปหรือทำอะไร ข้อความในคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.337-763) ได้เกิดมีเทศกาลใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งเทศกาลคือ เทศกาลจิ้งเหล่าเจี๋ย หรือเทศกาลคารวะผู้สูงอายุ โดยทางการจะคัดเลือกคนชราที่มีชื่อเสียง และขึ้นชื่อเรื่องคุณธรรมจำนวนหนึ่งมาแล้วมอบไม้เท้า กับ “ขนม” ที่นึ่งมาจาก “แป้งข้าวเหนียว” และข้าวของอื่นๆ ให้ และก็น่าจะเป็นเจ้าข้าวเหนียวนึ่งแบบเดียวกันนี่แหละครับ ที่โอรสสวรรค์ในยุคก่อนหน้านั้นใช้ไหว้พระจันทร์ เพราะเอกสารบางชิ้นก็ระบุเอาไว้ว่า เทศกาลคารวะผู้อาวุโสที่ว่านี่ ก็จัดขึ้นในช่วงปักษ์เดียวกันกับงานไหว้พระจันทร์นี่แหละ

 

เอาเข้าจริงแล้วพิธีไหว้พระจันทร์ ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับฤดูกาลปลูกข้าวประเภทต่างๆ ในจีนอยู่มาก

ข้าวของจีนมีอยู่ 3 ตระกูลใหญ่คือ ตระกูลข้าวฟ่าง (ลูกเดือย และข้าวโพด จัดอยู่ในตระกูลนี้)

ตระกูลข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์

และสุดท้ายคือตระกูลข้าวเจ้า และข้าวเหนียว

ข้าวตระกูลแรกใช้เวลาเพาะปลูกสั้นเก็บเกี่ยวได้ก่อน ข้าวตระกูลต่อมาใช้เวลาเพาะปลูกยาวเก็บเกี่ยวทีหลัง

ในคัมภีร์ก่วนจื่อเล่มเดิมนั้นยังระบุไว้ด้วยว่า “ข้าวฟ่าง” สุกในช่วง “สารทจีน” จึงให้นำข้าวฟ่างไปเซ่นบูชาพระเทพบิดร (เทพ หรือผีบรรพชน) โดยได้กล่าวต่อไปด้วยว่า ข้าวฟ่างนั้นเป็นข้าวที่มีรสชาติดีที่สุด ส่วน “ข้าวเหนียว” และ “ข้าวเจ้า” นั้นสุกในช่วงไหว้พระจันทร์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

นอกจากที่โอรสสวรรค์จะต้องไหว้พระจันทร์ ในวัน 15 ค่ำ เดือน 8 แล้ว พระองค์ยังต้องไหว้ “เส้อ” ควบคู่ไปในวันเดียวกัน โดยกลางวันทำพิธีเซ่นสรวงเส้อ ส่วนกลางคืนไหว้พระจันทร์ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว ยุคจั้นกว๋อ นั่นแหละ

ในคัมภีร์หลี่จี้ ของขงจื๊อเล่มเดิม ได้กล่าวไว้ว่า “บ้านมีเทพประจำบ้านเป็นหลัก ประเทศชาติมี “เส้อ” เป็นหลัก” ดังนั้น “เส้อ” จึงอาจจะเปรียบได้กับ “พระเสื้อเมือง” ตามคติของไทยในสมัยโบราณ

และแม้จะจัดพิธีในวันเดียวกัน แต่งานบูชาเส้อนั้น ไม่ใช่งานพิธีเฉพาะโอรสสวรรค์ เหมือนอย่างการไหว้พระจันทร์ เพราะจะมีคนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “เส้อฮุ่ย” แปลว่า “งานชุมนุมไหว้เสื้อเมือง”

แต่ด้วยความที่คนมาร่วมชุมนุมกันอย่างมากมาย ต่อมาคำว่า เส้อฮุ่ย จึงกลายความหมายเป็นแปลว่า “ชุมชน” หรือ “สังคม” ไปแทน

ในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1911) ที่พวกมองโกลเข้ามาปกครองจีน และได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมากนั้น พวกมองโกลถึงกับห้ามจัดงานเส้อฮุ่ย เพราะกลัวว่าชาวจีนจะถือโอกาสใช้เป็นงานชุมนุมตัวกันต่อต้านราชวงศ์หยวนกันเลยทีเดียว

ห้ามได้ก็ห้ามไปครับ พวกลูกจีนกู้ชาติในยุคโน้นคงคิดอย่างนั้น เพราะถึงจะห้ามทำพิธีไหว้เส้อ แต่วันเดียวกันนั้นทางการก็ไม่ได้ห้ามไหว้พระจันทร์เสียหน่อย

 

การไหว้พระจันทร์ ไม่ได้เป็นพิธีเฉพาะของโอรสสวรรค์ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) แล้ว โดยชาวจีนเมื่อครั้งกระโน้นจะใช้เป็นโอกาสในการอยู่กับครอบครัว แล้วร่วมดื่มกินกัน ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ดังนั้น ถึงจะห้ามไม่ให้ชุมนุม แต่ก็ยังชุมนุมเล็กๆ กันได้อยู่ดี

ก็เลยมีนิทานเล่ากันในหลายท้องถิ่นว่า ในสมัยราชวงศ์หยวนนั้น พวกมองโกลได้รีดนาทาเร้นและข่มเหงชาวจีนอย่างจงหนัก โดยได้ส่งผู้คุมมาควบคุมครอบครัวชาวจีน 1 คนต่อ 10 ครอบครัว

และก็เป็นผู้คุมพวกนี้แหละนะครับ ที่ลุแก่อำนาจเสียจนชาวจีนโกรธแค้นเป็นอย่างมาก

วันหนึ่ง จางสื้อเฉิง หนึ่งในผู้นำการต่อต้านพวกมองโกล ณ ขณะจิตนั้น ก็นึกอุบายขึ้นมาได้ เขาเอากระดาษเขียว กระดาษแดง เขียนข้อความนัดแนะให้ทุกครอบครัวร่วมกันฆ่าพวกผู้คุม แอบยัดใส่ไว้ในขนมเย่ว์ปิ่ง (พูดง่ายๆ ก็คือขนมไหว้พระจันทร์นั่นแหละ) แล้วแจกจ่ายในหมู่คนจีนไปในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

ใครได้รับจดหมายน้อยแล้วก็ทำขนมเย่ว์ปิ่งยัดไส้แบบนี้แจกจ่ายกันไปทั่ว จนถึงวันเทศกาลก็รุมฆ่าพวกผู้คุมมองโกลเสียจนหมด นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีธรรมเนียมการสวาปามขนมเยว์ปิ่งในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

(ขนมเยว์ปิ่งสูตรปักกิ่ง จะมีไหมเขียว ไหมแดง สอดอยู่ในไส้ ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกระดาษน้อย ที่ชาวจีนใช้นัดแนะในการล้อมปราบพวกผู้คุมชาวมองโกล)

นิทานเรื่องนี้ฟังดูเผินๆ น่าสนใจดีนะครับ แต่ว่ามีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่ว่าท้องถิ่นไหนจะเอาชื่อใครมาใส่แทนจางสื้อเฉิง นักวิชาการส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อเรื่องนี้ เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาประกอบ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เราได้จากนิทานเรื่องนี้ก็คือ ในเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้นมีธรรมเนียมการกินขนมเย่ว์ปิ่ง

และเอาเข้าจริงแล้ว เราก็ไม่มีหลักฐานเลยว่า เจ้าขนมที่ใช้ไหว้พระจันทร์มาในยุคก่อนหน้านี้ถูกเรียกว่า ขนมไหว้พระจันทร์หรือยัง?

เพราะถึงแม้ว่า คำว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งเป็นสำเนียงจีนกลางนั้น ผูกขึ้นจากศัพท์สองคำ โดยคำว่า “เย่ว์” แปลว่า “พระจันทร์” ส่วน “ปิ่ง” นั้นหมายถึงของกินทรงแบนๆ รูปทรงกลม (หรือจะมีทรงออกเป็นวงรีก็ได้) เป็นอันเรียกว่า ปิ่ง เหมือนกันหมด และพี่จีนเขาก็ไม่ได้เรียกขนมไหว้พระจันทร์เป็นการเฉพาะว่า เย่ว์ปิ่ง นะครับ ขนมรูปทรงคล้ายดวงจันทร์อย่างนี้เรียกเย่ว์ปิ่งเหมือนกันไปหมด

ส่วนคนไทยเรามักจะเรียกเจ้าขนมปิ่งชนิดนี้ด้วยสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ขนมเปี๊ยะ” นั่นเอง