E-DUANG : คำถาม ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่ากับ ขีดเส้นแบ่ง การเมือง

บาดแผลอันเนื่องจากสถานการณ์แถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม ยังไม่ตกสะเก็ดดีนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ก็ต้องประสบเข้ากับสถานการณ์ในวันที่ 18 กันยายน

เป็นสถานการณ์อันถือว่าเป็น”ไฟท์บังคับ”แม้จะโยกโย้ หลบ เลี่ยงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูก็ตาม

ไฟท์บังคับจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

ไฟท์บังคับจากการปฏิบัติอย่างไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ตามรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 161

และในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมไม่สา มารถหลบเลี่ยงหรือหนีการเดินทางไปรัฐสภาได้อย่างยืดเยื้อและยาวนาน

เพราะยิ่ง”หนี”ยิ่งจะเป็น”ผลเสีย”

 

ไม่ว่าจะเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่าจะเป็น จอมพลถนอม กิตติขจร แม้จะเป็นทหารผ่านศึกเสือเหนือใต้มาอย่างโชกโชน แต่ เมื่อเข้าสู่รัฐสภาก็กลายเป็น”ละอ่อน”

ทำไม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงต้องทำรัฐประหาร”ซ้ำ”ในเดือนตุลาคม 2501

ก็เพราะต้องการกำจัด”ระบบรัฐสภา”จาก”การเลือกตั้ง”

ทำไม จอมพลถนอม กิตติขจร จึงต้องทำรัฐประหาร”ซ้ำ”ในเดือนพฤศจิกายน 2514

ก็เพราะต้องการกำจัด”ระบบรัฐสภา” จาก “การเลือกตั้ง”

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ได้สรุปบทเรียนไม่เพียงแต่จากการเสียของของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หากยังนำบทเรียนของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ตลอดจน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ มาอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ครบถ้วน

แต่สมรภูมิ”รัฐสภา”จาก”การเลือกตั้ง”ก็ยังเป็นของแสลง

 

บรรยากาศของรัฐสภาไม่เพียงแต่ทำให้ต้องร้องอุทธรณ์”ต่อให้ไอ้คนที่อยู่เมืองนอก ก็ทำไม่ได้”

หากแต่ยังเสนอคำถามตามมาด้วยว่า “จะเอาผมแบบนี้ หรือ จะเอาผมแบบก่อน”

นั่นเท่ากับเป็นการขีด”เส้นแบ่ง”ทางการเมือง

การเมืองก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 การเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562