ศัลยา ประชาชาติ : “สินบนโรลสรอยซ์”เขย่าโลก! การบินไทย-ปตท.อ่วม ป.ป.ช. เล็งเช็กบิลนักการเมือง

กลายเป็นข่าวเกรียวกราวและถูกจับตามากที่สุด เมื่อสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงอังกฤษ (SFO) กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ออกมาระบุว่า บริษัทโรลสรอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ กับบริษัท โรลสรอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม “ยอมรับ” ว่า ได้จ่าย “เงินสินบน” มากกว่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับ “นายหน้า” บริษัทการบินไทยในช่วงระหว่างปี 2534-2548

และอีกกว่า 11 ล้านเหรียญให้กับ “เจ้าหน้าที่” ของบริษัท ปตท. และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในระหว่างปี 2546-2555

เฉพาะประเด็นสินบนของบริษัทการบินไทย ถูกแบ่งจ่ายใหักับ “นายหน้า” ไม่น้อยกว่า 6 งวดเพื่อให้บริษัทโรลสรอยซ์ ได้มาซึ่ง “สัญญา” ซื้อเครื่องยนต์ T800 ที่จะใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 777

ขณะที่ประเด็นเงินสินบนของบริษัท ปตท.-ปตท.สผ. ถูกจ่ายให้กับการสั่งเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก๊าซกับน้ำมันใน 6 โครงการ ประกอบไปด้วย โครงการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 5, โครงการสถานีเพิ่มแรงดันก๊าซ OCS#3, โครงการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์, โครงการ PCS, โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (ESP-PTT) และโครงการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6

ครอบคลุมระยะเวลาการจ่ายเงินสินบนให้กับทั้ง บริษัทการบินไทย และบริษัท ปตท./ปตท.สผ. ถึง 21 ปี

AFP PHOTO / TOBIAS SCHWARZ

แน่นอนว่า หลังจากข่าวการจ่ายเงินสินบนถูกเปิดเผยออกมา สิ่งที่คนไทยทุกคนอยากรู้ก็คือ สินบนนั้นถูกจ่ายให้กับ “ใคร”

ในประเด็นนี้หากศึกษาในเอกสารคำบรรยายของ SFO และกระทวงยุติธรรมสหรัฐ ใช้ถ้อยคำอย่างชัดเจนว่า เป็นการ “คอร์รัปชั่น” ที่บริษัทโรลสรอยส์ ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น “ค่านายหน้า” หรือ “ค่าล็อบบี้” หรือ “ค่าคอมมิสชั่น” หรือ “ค่าใช้จ่ายทางการตลาด”

ซึ่งจ่ายให้กับ “นายหน้า” หรือ “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” หรือ “สมาชิกของรัฐบาล” ในการได้มาซึ่งสัญญาจัดซื้อ หรือบรรจุเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ในกรณีของการจัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับก๊าซและน้ำมันของบริษัท ปตท.

และยังรวมไปถึง “ค่าบริหารจัดการกระบวนการทางการเมือง” เพื่อให้ได้รับการอนุมัติด้วย

ปัญหาในขณะนี้ก็คือ บรรดารายชื่อของ “นายหน้า” และ “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยในขณะนี้นั้น ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ จึงมีเพียงการคาดเดาอย่างกว้างๆ ที่ว่า

ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมานั้น บรรดาผู้อำนวยการ-กรรมการผู้จัดการใหญ่-ประธานบอร์ด หรือรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบในการบริหารงานของทั้ง 2 หน่วยงานนั้นเป็นใครกันบ้าง

AFP PHOTO / Christophe ARCHAMBAULT

ในส่วนสินบนของบริษัทการบินไทย จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ปี 2531-2535 ประธานบอร์ด ปรากฏชื่อของ พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี (2531-2532), พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (2532-2535) และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ (2535-2536)

ส่วนผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD การบินไทย ได้แก่ พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร (2531-2535), ร.ต.ท.ฉัตรชัย บุญญะอนันต์ (2535-2536)

ช่วงปี 2535-2540 ประธานบอร์ด พล.อ.อ. ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ (2536-2543), นายมหิดล จันทรางกูร (2539-2543), นายศรีสุข จันทรางศุ (2543-2544), นายชัยอนันต์ สมุทวณิช (พฤษภาคม 2544-กันยายน 2544), นายวีรพงษ์ รามางกูร (2544-2545)

ขณะที่ DD การบินไทยช่วงนั้น ได้แก่ นายธรรมนูญ หวั่งหลี (2536-2543), นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ (2543-2544), นายกนก อภิรดี (2545-2549) และช่วงปี 2547-2548 ประธานบอร์ด นายทนง พิทยะ (2545-2548), นายวันชัย ศารทูลทัต (2548-2549)

แต่มีรัฐมนตรีคมนาคมถึง 10 คนดำรงตำแหน่งในทั้ง 2 ช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช, นายนุกูล ประจวบเหมาะ, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พ.อ.วินัย สมพงษ์, นายวิชัต สุรพงษ์ชัย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

Photo : MarinerThai.Com

ขณะที่บริษัท ปตท. มีกรรมการผู้จัดการใหญ่เพียง 2 คน คือ นายวิเศษ จูภิบาล (2541-2545) กับ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (2546-2553)

เช่นเดียวกับบริษัท ปตท.สผ. ก็มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 คนเช่นกันคือ นายมารุต มฤคทัต กับ นายอานนท์ ศิริแสงทักษิณ

ในช่วงเวลาดังกล่าวหากจะพิจารณาถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ปรากฏว่าหมุนเวียนเข้ามาถึง 6 คนคือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายวิเศษ จูภิบาล, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ และ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

ด้วยจำนวนคนที่มากมายเหล่านี้ ยังไม่นับรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ-จัดจ้าง ส่งผลให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องรีบตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง ขึ้นมาโดยด่วน เข้าทำนอง “ซื้อเอง-รับเอง-ตั้งเอง” ขีดเส้นให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน

แน่นอนว่า บรรดาผู้มีรายชื่อข้างต้นไม้ว่าจะเป็น อดีต DD อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ อดีตประธานบอร์ด และอดีตรัฐมนตรี จะต้องออกมาปฏิเสธ ไม่รู้ไม่เห็น และให้รอฟังผลการสอบสวนของคณะกรรมการ

โดยมีข้อน่าสังเกตการสอบสวนจะลากโยงไปถึงนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคำให้การของ “นายหน้า” ในกรณีของการบินไทยกล่าวหา “ใคร” เป็นผู้รับสินบน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่การบินไทย หรือสมาชิกของรัฐบาล ในช่วงเวลานั้นๆ ขณะที่กรณีของ ปตท. จำเป็นต้องมีรายชื่อ “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ที่รับสินบนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดูเหมือนว่า ประเด็นการซื้อเครื่องยนต์โรลสรอยซ์ ดูจะมีความชัดเจนมากกว่าการจัดซื้อเครื่องเทอร์ไบน์ของ ปตท. เนื่องจากเครื่องยนต์ที่ถูกใช้ในเครื่องบินเป็นการทำสัญญาจัดซื้อโดยตรงและจะต้องผ่านการ “อนุมัติ” ของบอร์ดหรือเกี่ยวข้องกับระดับนโยบายและระดับการเมือง

ในขณะที่เครื่องเทอร์ไบน์นั้น เป็นการทำสัญญาประมูลในลักษณะของ Turnkey ปตท. ไม่ได้ซื้อเครื่องเทอร์ไบน์โดยตรง แต่เป็นกระบวนการจัดหาของผู้รับเหมาโครงการโรงแยกก๊าซว่า จะเลือกใช้เครื่องเทอร์ไบน์ของบริษัทใด ดังนั้น ความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ ปตท. อาจจะมีเพียงแค่การกำหนดสเป๊กเครื่องให้ตรงกับความต้องการใช้

นั้นจึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมบริษัทโรลสรอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม จึงระบุว่า จ่ายเงินสินบนให้กับ ปตท. เพียงแค่ 11 ล้านเหรียญใน 6 โครงการเท่านั้น

AFP PHOTO / LEON NEAL

อย่างไรก็ตาม การสอบสวนแบบ “ซื้อเอง-รับเอง-ตั้งเอง” ย่อมปราศจากความน่าเชื่อถือ

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องออกมา Take Action ด้วยการตั้งคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัทโรลสรอยซ์ จ่ายสินบนขายเครื่องยนต์ T800 ใช้กับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 3 สัญญาวงเงิน 1,253 ล้านบาท

รวมถึงการจ่ายสินบนของบริษัทโรลสรอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.สผ. วงเงิน 385 ล้านบาท

โดยคณะทำงานชุดนี้มี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน มีหน้าที่สืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีสินบน เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคมเป็นต้นไป

ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ริเริ่มกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้ง 2 กรณีนี้ด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว Key Word ที่สำคัญในกรณีสินบนอื้อฉาวครั้งนี้ก็คือ “รายชื่อ” ผู้รับสินบนจากสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงอังกฤษ (SFO) กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ

ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยในระดับไหน ท่ามกลางการออกอาการ “หนาวๆ ร้อนๆ” ของทั้งอดีตนักการเมืองและผู้บริหารในการบินไทย และ ปตท. ในเวลานี้